'ได้ดีเพราะคำสอน' กนิษฐ เมืองกระจ่าง รองประธาน บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด


 "โตชิบา" ชื่อนี้เป็นชื่อที่คนไทยรู้จักมักคุ้นกันมานาน ซึ่งปัจจุบัน บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด ซึ่ง  อยู่ภายใต้การดูแลของ 4 พี่น้อง ทายาทรุ่นที่ 2 ได้แก่ คุณกัลยารัตน์ สุริยสัตย์, คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, คุณกนิษฐ เมืองกระจ่าง และ คุณกนก สุริยสัตย์ ช่วยกันดูแล 


วันนี้เอซีนิวส์ได้มีโอกาสคุยกับ คุณกนิษฐ เมืองกระจ่าง” หรือ “คุณหน่อย” หนึ่งใน 4 ของผู้บริหาร ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานบริษัทฯ ผู้ที่มีบุคลิก  มาดมั่น...จริงจัง...ทว่า...แฝงไปด้วยความอ่อนโยนและเมตตา ด้วยเธอต้องดูแลพนักงานราว 3,000 คน   จึงจำเป็นต้องมีทั้ง พระเดชและพระคุณไปพร้อมๆกัน  คุณหน่อยได้กรุณาสละเวลามาเล่าเรื่องของเธอให้เราได้ฟังอย่างละเอียด  ซึ่งบางเรื่องเธอก็ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อนนับได้ว่าเราโชคดีทีเดียว  
 

คุณหน่อยเปิดฉากด้วยการพูดถึงคำขวัญประจำโรงงาน “ใจสู้ พากเพียร ประหยัด" คำขวัญที่ติดอยู่หน้าโรงงาน บริษัท ไทย-โตชิบา กรุ๊ป ออฟ คอมพานี ของ ดร.กร สุริยสัตย์ ผู้บุกเบิกและก่อตั้งบริษัทซึ่งมีอายุเก่าแก่เกือบกึ่งศตวรรษเสมือนเครื่องเตือนใจเหล่าสมาชิกทุกคนในครอบครัวและองค์กร  ให้ขยันหมั่นเพียร ต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆที่ต้องเผชิญ พร้อมทั้งการรู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้หล่อหลอมมาเป็นตัวตนของ “คุณหน่อย”  หัวเรือใหญ่ของ “โตชิบา” 
 

คุณหน่อย บอกเล่าความเป็นมาก่อนที่จะมี "โตชิบา" ในวันนี้ว่า “ เรามีพี่น้อง 4 คน คือ คุณกัลยารัตน์ สุริยสัตย์, คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร, ตัวหน่อยเอง และ คุณกนก สุริยสัตย์ ครอบครัวเราเริ่มต้นด้วยความยากลำบากพอสมควร เมื่อคุณพ่อ คือ ดร.กร สุริยสัตย์ อดีตวิศวกรของการไฟฟ้านครหลวง  ท่านมีความสนใจในการทำเครื่องใช้ ไฟฟ้า ซึ่งในยุคนั้นคนไทยต้องนำเข้าแทบทั้งสิ้น ท่านหวังแสดงให้เห็นว่าคนไทยก็ทำได้ 

โดยท่านเริ่มจากศึกษาเอาพัดลมมานั่งดูแล้วแกะส่วนประกอบทีละชิ้น ซึ่งปรากฏว่าท่านทำได้จึงทำมาตั้งแต่ตอนนั้นราวปี 2504 โดยใช้หลังบ้านบริเวณแยกประดิพัทธ์ทำเป็นโรงงาน ต่อมาจึงมีลูกมือมาช่วยทำงงานเพิ่มขึ้น 
 
 

พัดลมตัวแรกของ "โตชิบา"


 
นอกจากนี้ท่านยังเคยนำผลงานไปโชว์ที่การแสดงสินค้าครั้งแรกของไทยที่หัวหมาก โดยในขณะนั้นใช้ชื่อบริษัทว่า “อุตสาหกรรมไฟฟ้าไทย(TEI)” และนอกจากนั้นคุณพ่อก็รับจ้างผลิตให้กับทาง บริษัทซันโย ด้วย  ต่อมาคุณพ่อได้ลาออกมาทำเต็มตัวตามคำแนะนำของเจ้านาย”
 

คุณหน่อยเล่าต่อว่า “ ธุรกิจระยะแรกประสบปัญหาด้านการเงิน ของขายได้แต่เงินไม่เข้าบริษัท ไปเข้าบัญชีคนอื่นแทน” (หัวเราะ) เป็นเหตุให้คุณแม่  คือ  ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ ต้องออกจากงานมาช่วยทางบ้าน  ซึ่งขณะนั้นท่าน ทำงานอยู่ที่ บริษัท เชลล์ประเทศไทย จำกัด ในตำแหน่งนักเคมีเอก โดยเป็นผู้ก่อตั้งห้องทดลอง (Lab) ให้แก่บริษัท ระยะเวลา 8 ปี ที่ทำงานกับเชลล์ ได้รับตำแหน่งสำคัญๆ  อาทิ  ผู้จัดการแผนกสถิติ และผู้จัดการแผนกบุคคล และเป็นพนักงานหญิงไทยคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้ไปฝึกอบรมและดูงานที่เชลล์ สำนักงานใหญ่ ประเทศเนเธอร์แลนด์

เมื่อคุณพ่อประสบปัญหาคุณแม่จึงลาออกเพื่อนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เป็นเงินก้อนมาช่วยและได้ร่วมกันดูแลกิจการนับแต่นั้นมา โดยคุณแม่เป็นฝ่ายดูแลด้านการเงิน ด้านบัญชี  เนื่องจากคุณแม่เป็นคนละเอียด เก่งคำนวณแม้จะเรียนมาทางด้านเคมี  ส่วนคุณพ่อก็ดูแลฝ่ายผลิตไป”
 

คุณหน่อย เล่าต่อว่า  “ ในปี 2507 คุณพ่อเดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นมีงานใหญ่ทั้งโอลิมปิกและมีงานแสดงสินค้าใหญ่ที่โอซาก้า มีบริษัทญี่ปุ่นทั้งซันโยและโตชิบาให้ความสนใจอยากเป็นหุ้นส่วนกับคุณพ่อ เพราะทราบว่าคุณพ่อมีความสามารถในด้านการทำชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า เขาจึงชวนไปดูโรงงานซึ่งท่านก็สนใจในเทคโนโลยีที่คุณภาพของ โตชิบา โดยเฉพาะมอเตอร์เพราะในการทำเครื่องใช้ไฟฟ้า มอเตอร์มีความสำคัญเป็นตัวให้กำเนิดไฟฟ้า 

ต่อมาในปี 2512 คุณพ่อจึงตกลงเลือกโตชิบาเป็นหุ้นส่วน ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายบริษัทไทยสามารถร่วมทุนกับต่างประเทศได้ โดยฝ่ายไทยถือหุ้น 50.5 % ญี่ปุ่น 45.5% และในยุคเดียวกันนี้ยังเกิดบริษัทร่วมทุนกับญี่ปุ่นหลายแห่ง เช่น ฮิตาชิ  พานาโซนิค  ซันโย  เป็นต้น 

การผลิตของเราในเบื้องต้นคุณพ่อได้ทำพัดลมก่อนเพราะอากาศบ้านเราอากาศร้อน หลังจากนั้นได้ขยายเป็นตู้เย็น โทรทัศน์  หม้อหุงข้าว ซึ่งโตชิบาผู้ผลิตเป็นเจ้าแรก  ต่อมาจึงมีรายการอื่น ๆเพิ่มขึ้น”  คุณหน่อยเล่าตำนานของโตชิบาด้วยความภูมิใจ 
 

เธอเริ่มเล่าต่อ “ในช่วง 2532 ถึง 2533  เป็นยุคที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ชักชวนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนกันมากขึ้น คุณพ่อจึงเล็งเห็นว่า ประเทศไทยหากต้องการจะเป็นหนึ่ง จะต้องผลิตชิ้นส่วนเองทั้งหมดเพื่อลดการนำเข้า เช่น ในการผลิตตู้เย็น ต้องมีการนำเข้าคอมเพรสเซอร์ราคาแพง พอดีในขณะนั้นคุณพ่อเป็นประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้ชวนพาร์ตเนอร์คนไทยของแต่ละยี่ห้อมาหารือเพื่อตกลงทำและเรียนรู้สิ่งที่เป็นชิ้นส่วนหลัก ๆ ของเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นของเราเอง โดยเริ่มที่คอมเพรสเซอร์ก่อน ซึ่งสมัยนั้นเทคโนโลยีคอมเพรสเซอร์ที่ดีที่สุดคือ ของสหรัฐ  โดยมีกลุ่มสิมะกุลธรอาสาเป็นผู้ดำเนินการ การทำในที่นี้หมายถึง ซื้อเทคโนโลยีเขามาและสร้างโรงงานผลิตเอง จนปัจจุบัน กุลธรเคอร์บี ได้กลายเป็นผู้ผลิตคอมเพรสเซอร์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และได้สร้างจุดแข็งให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องเย็นไทย
ต่อจากนั้นได้มีการขยายไปทำตัวอื่น ๆ ต่อ เช่น เทอร์โมสแตท  อิเล็กกูเลเตอร์ และชิ้นส่วนอื่นที่สำคัญๆ โดยมีบริษัทอื่น ๆ รับทำไป เช่น ทางด้านโทรทัศน์เทคโนโลยีหลอดภาพมีความสำคัญาก ในครั้งนั้นจึงได้บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด เป็นแกนนำในการผลิตหลอดภาพโดยมีผู้ประกอบการโทรทัศน์สีในประเทศร่วมลงทุนส่วนหนึ่ง และ บริษัท มิตซูบิชิ ได้รับคัดเลือกเป็นฝ่ายผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ แต่ต่อมามิตซูบิชิหยุดขายทีวีด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีในญี่ปุ่นซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะไม่เช่นนั้นมิตซูบิชิอาจก้าวไปเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทีวีจอแบนแล้ว เมื่อ มิตซูบิชิ หยุดพัฒนาเทคโนโลยีหลอดภาพจึงหายไปด้วย ต่อมากระแสความนิยมของโทรทัศน์ระบบแอลซีดีและพลาสมา ได้เข้ามาแทนที่โทรทัศน์ระบบหลอดภาพและจอภาพสี ทำให้โรงงานผลิตหลอดภาพต้องปิดตัวลง ซึ่งไทยมีอยู่ 2 โรงงานและทำให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกันแย่ตามไปด้วย
 
ที่ผ่านมากล่าวได้ว่า เป็นความโชคดีของโตชิบาไทย ที่มีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มองเทคโนโลยีที่จะทำทั้งในด้านศักยภาพและอนาคต ว่ามีโอกาสพัฒนาไปได้ต่อมากน้อยอย่างไร 
  
เพราะหากในวันนั้นเลือกที่จะเดินร่วมกับซันโย ก็คงจะไม่มีโตชิบาในวันนี้ ซึ่งเตรียมที่จะฉลองครบ 45 ปี ในปีหน้า(2557) และมุ่งหวังที่จะเติบโตต่อไปในอีก 50 ปี ข้างหน้า เพราะซันโยก็ปิดตัวไปแล้ว
"แต่ตุณพ่อจะประสบความสำเร็จไปไม่ได้หากขาดผู้หญิงเก่งอย่างคุณแม่" 
คุณหน่อยกล่าวถึงคุณแม่ด้วยน้ำเสียงชื่นชม ด้วยท่านเป็นทั้ง คุณแม่...เพื่อน....และ ครู  ท่านปลุกปั้นให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ   ส่วนสิ่งที่ได้จากคุณพ่อนั้น จะได้มุมมองในการทำธุรกิจ วิเคราะห์สถานการณ์ในอนาคต 

คุณแม่ยังเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำงาน เข้าทำงานเช้าเหมือนพนักงาน ดูแลเอาใจใส่พนักงาน ไม่นั่งอยู่แต่ในห้อง ท่านจะมานั่งด้านนอกเพื่อให้พนักงานปรึกษาได้ยามต้องการ และเดินตรวจงาน พบปะพนักงานทุกวันเพื่อรับรู้ปัญหา 

ความสัมพันธ์กับคุณแม่ในวัยเด็ก 
คุณหน่อยเล่าถึงความสัมพันธ์กับคุณแม่ในตอนเด็กๆว่า “ คุณแม่เลี้ยงลูกเหมือนเพื่อน ไม่ตี ใช้วิธีพูดคุย สอน  และใช้เหตุผล แม้จะเกิดในครอบครัวชาวจีน ซึ่งตามปกติจะสนับสนุนให้ลูกชายเรียนมากกว่า แต่มีคุณตาที่สนับสนุนการศึกษา โดยศึกษาที่  โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ไปต่อที่ฮ่องกงและสหรัฐ เลี้ยงให้ช่วยตัวเองตั้งแต่เด็กเรื่องงานก็ไม่บังคับ  เราจำคำสอนของท่านได้ขึ้นใจ คือ
• ให้ทำเพื่อคนอื่น ให้คิดถึงคนอื่นก่อน อย่าเบียดเบียน
• ซื่อสัตย์ ทำบัญชีเดียว ไม่ใช้วิธีหลบหลีกแม้จะถูกกล่าวหาว่าโง่ก็ตาม !   
• ประหยัด
บริษัทจึงมีนโยบายทำเพื่อสังคม ทำเพื่อส่วนรวม จึงสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และ สิ่งที่ท่านเน้นอีกเรื่องคือ  ความความประหยัดด้วย  เราคิดเสมอว่าเราไม่ได้รวยนะ” 

 
ชีวิตวัยเรียน
คุณหน่อยเริ่มต้นศึกษาที่ โรงเรียนเดียวกับคุณแม่ คุณครูก็เคยสอนคุณแม่มา  เราเป็นเด็กซนๆ  ชอบทำกิจกรรม  มีผลการเรียนปานกลาง เรียนประจำ กลับบ้านช่วงเสาร์-อาทิตย์  ซึ่งเราคิดว่าการเป็นเด็กประจำมีข้อดีตรงที่ ทำให้รับผิดชอบตัวเอง อยู่ในกฏเกณฑ์  

หลังเรียนจบชั้นมศ.4  คุณหน่อยไปศึกษาต่อที่สถาบัน Wellesley College ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐ ทางด้านศิลปะ ปี 2531 และฮึดเรียนอย่างเต็มที่เพราะพลาดหวังการเข้าศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในขณะที่เพื่อน ๆ สอบได้หมด “ ที่นั่นเราเลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ก่อน แต่ต่อมาเลือกเรียนด้านศิลปะ เพราะเราเป็นคนชอบกิจกรรม  ชอบงานศิลปะอยู่แล้ว ความจริงทำตั้งแต่สมัยเรียนอยู่มัธยมและเมื่อเรียนที่เมืองนอก ฮึดอ่านหนังสือมาก จำฝังใจเรื่องที่ตัวเองสอบไม่ได้ จนสามารถเรียนจบได้สำเร็จใน 4 ปี ซึ่งผลความพยายามดังกล่าว ทำให้รู้ว่า อย่าคิดว่า เราทำไม่ได้ ต้องพยายามให้มากที่สุดก่อน” 

เมื่อสำเร็จการศึกษาคุณหน่อยได้เลือกที่จะกลับมาทำงานให้ครอบครัวโดยเลือกทำที่โรงงานเนื่องจากความคุ้นเคย คลุกคลีตั้งแต่วัยเด็ก  คุณแม่จะสอนงานอย่างเข้มงวด โดยหน้าที่ในช่วงแรกเริ่ม จะเป็นเลขาคุณแม่ก่อน คอยจดบันทึกรายละเอียดต่าง ๆ  รวมถึงรายงานการประชุม   จึงทำให้เข้าใจงานเลขา  เราคิดว่าคุณแม่ฉลาด เพราะการฝึกงานตรงนั้นทำให้เรียนรู้ถึงสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มีความสำคัญ ต่อมาก็ได้มาดูแลงานด้านบุคคลและจัดซื้อ  ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของโรงงานทีเดียว จึงมักนำประสบการณ์มาสอนพนักงานว่า “อย่าคิดว่าคุณ ทำไม่ได้ ให้คิดว่าคุณทำเต็มที่แล้วหรือยัง” คุณหน่อยพูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
 

มีโอกาสไปเรียนรู้งานที่ญี่ปุ่น 
คุณแม่เป็นตัวแทนกลุ่มไทยให้ทางญี่ปุ่นจัดทุนสำหรับให้พนักงานไทยไปศึกษาดูงานและเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานของบริษัทที่ญี่ปุ่น ซึ่งเราเป็น 1 ใน 21 คน ที่ได้ไปรุ่นแรก โดยฝึกงานนาน 1 ปี เพื่อเรียนรู้ระบบการ บริหารบุคคล ด้านเงินเดือน และที่สายการผลิตโดยตรง ทำให้ญี่ปุ่นทึ่งที่ลูกเจ้าของบริษัทมาลุยเอง
 
ความจริงแล้วที่ส่งเราไปครั้งนี้เป็นแผนของคุณแม่ที่จะให้เราไปดูลาดเลาก่อนว่า  หากส่งลูกน้องไปจะอยู่ได้ไหม ทั้งไกลบ้าน ระยะเวลาตั้ง 1 ปี แถมเป็นรุ่นบุกเบิกอีกด้วย  พอดีเราชินกับชีวิตในต่างประเทศตอนเรียนแล้วจึงไม่รู้สึกว่าหนักหนาเท่าไร  และได้ไปปูทางไว้ก่อนเมื่อต้องส่งลูกน้องไปก็จะได้รู้ระบบ  เมื่อกลับมาได้ส่งลูกน้องไปเรียนต่อและคุมงานฝ่ายบุคคลแทน  ทำให้พบปัญหามากตั้งแต่เรื่องใหญ่ไปจนถึงเรื่องในครอบครัวและได้เรียนรู้ว่า ต้องทำให้พนักงานไว้ใจ โดยได้สร้างระบบผู้แทนเพื่อพูดคุยยามมีปัญหาต่างๆ พร้อมนำกิจกรรมมาช่วยสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ ความสมัครสมานสามัคคีในทุก 5 ปี

เราพยายามเรียนรู้พฤติกรรมและใส่ใจลูกน้องให้มากเท่าที่จะทำได้  เพราะเราต้องอยู่กับเขาทุกวัน  บริหารโรงงานก็อย่างที่ทราบว่าต้องบริหารทั้งคน และ ทั้งผลิตภัณฑ์ ลูกน้องทั้งหญิง ทั้งชาย มาจากคนละ ทิศละทางร้อยพ่อพันแม่  แต่ทำอย่างไรจะให้เขาเป็นหนึ่งเดียว  รักองค์กร อย่างปีใหม่เราจะอยู่ฉลองกับลูกน้อง  ที่โรงงาน  สังสรรค์ด้วยกัน  ให้เขาคิดกิจกรรมมาแสดง  สนุกด้วยกัน  ทำบรรยากาศให้เหมือนเป็นครอบครัว  เพราะบางคนไม่ได้กลับบ้านในช่วงนั้น  เขาจะได้ไม่รู้สึกท้อและว้าเหว่”
 

พนักงานเขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรเมื่อยามเราประสบปัญหา 
คือเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 โตชิบาของขายไม่ออกเพราะเราผลิตขายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ พวกพนักงานเขาช่วยกันคิดและหาทางออกช่วยเรา เขาส่งตัวแทนมานำเสนอให้ลดค่าสวัสดิการของพวกเขาลง แต่ขอลดเวลาในการทำงาน เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดได้ ไม่ต้องให้พนักงานออก 

แม้แต่วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2555 น้ำท่วมโรงงานของเราถึง 10 แห่งจาก 11แห่ง พนักงานบริษัทยังไม่หนี สร้างความ ประทับใจให้แก่ทางญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก เพราะถ้าพนักงานกลับบ้านไปแล้วโอกาสจะกลับมาทำงาน อีกนั้นยาก กว่าเราจะหาคนที่ชำนาญงานแล้วคงอีกนาน  เรารู้สึกประทับใจพวกเขาจริงๆ  พนักงานนับเป็นตัวพิสูจน์ความสำเร็จในการบริหารงานที่น่าภูมิใจ ” คุณหน่อยเล่าด้วยรอยยิ้ม 
 
 

ปัจจุบันยังวางระบบวางแผนการผลิตเพื่อลดการสูญเสีย  
เนื่องจาก โตชิบา มีผลิตภัณฑ์หลายอย่างประมาณ 15-16 รายการ  ส่วนประกอบจึงมีมากมาย เช่น ตู้เย็น มีส่วนประกอบที่ทำจากพลาสติกเกือบ 20 ชิ้น หากผลิตผิดพลาดเพียงน้อยนิดย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียมหาศาลได้ เพราะผลิตออกมาแล้วใช้ไม่ได้นำไปประกอบไม่ได้ จึงมีการพัฒนาระบบที่มีความเที่ยงตรงที่สุด ไว้เมื่อเกิดความผิดพลาดสามารถไล่ตามไปถึงแต่ละจุดได้และฝึกให้ พนักงานทำให้ได้ด้วย
 
ระบบที่ว่านี้เรียกว่า ERP ซึ่งย่อมาจาก Enterprise Resource Planning เป็นการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุดของทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร  เพราะฉะนั้นระบบ ERP จึงหมายถึงระบบสารสนเทศขององค์กรที่นำแนวคิดและวิธีการบริหารของ ERP มาทำให้เกิดเป็นระบบเชิง ปฏิบัติในองค์กรนั่นเอง  สามารถบูรณาการ (integrate) รวมงานหลัก (core business process) ต่างๆในบริษัท ทั้งหมด ได้แก่ การจัดจ้าง การผลิต การขาย การบัญชี และการบริหารบุคคล เข้าด้วยกันให้เป็นระบบที่สัมพันธ์กัน และเชื่อมโยงกันอย่าง real time

 
ใช่ว่าคุณหน่อยจะประสบความสำเร็จในการบริหารงานเท่านั้น การบริหารหัวใจ"ก็ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน
ปัจจุบันคุณหน่อยมีครอบครัวแล้ว มีบุตร 2 คน  เป็นชาย 1 คนหญิง 1 คน คุณหน่อยเล่าแบบอมยิ้มว่า “ สามีคือ คุณธนัญ เมืองกระจ่าง เขาเป็นตระกูลนันทขว้าง เราพบกันครั้งแรก  เราแอบปิ้งเพื่อนของพี่สาวก่อน แต่ตอนนั้นเหมือนว่าเขาจะไม่ค่อยสนใจเราเลย เพราะบุคลิกของเรา ที่ดูเหมือนเพื่อนมากกว่า เขาอาจจะดูไม่ออก (หัวเราะ) มาเริ่มพูดคุยตอนเรียนที่สหรัฐไปมาหาสู่กันตลอดโดยมีพี่สาวเป็นตัวเชื่อมโดยบังเอิญ ตอนนั้นพี่สาวต้องช่วยถือกระเป๋าให้เรา เนื่องจากเป็นโรคปวดหลัง คุณธนัญเห็นมีแต่ผู้หญิงจึงอาสามาทำหน้าที่แทนพี่สาว กว่าจะรู้สึกว่ารักกันก็ใช้เวลาเกือบ 10 ปี” เมื่อเล่าถึงความรักของเธอแล้วเรารู้สึกได้ว่าเธอดูสดใสขึ้นทันที

คุณหน่อยพูดถึงความประทับใจในสามีต่อว่า  “เขาเป็นคนที่เราคิดว่าอยู่ด้วยแล้วสบายใจ เราสามารถเป็นตัว ของตัวเองได้ ชอบทัศนคติของเขา และในครอบครัวของเขาผู้หญิงทำงานเหมือนกัน  เวลาไม่แน่นอน เขาสามารถรับตรงนี้ได้ ซึ่งเราก็พอใจ " คุณหน่อยกล่าวทิ้งท้าย

หลังจากที่ได้พูดคุยกันราวสองชั่วโมง รู้สึกได้ว่าเราได้เห็นภาพของผู้หญิงทำงานคนหนึ่งที่เข้มแข็งอดทน  มีน้ำใจ  จริงใจ  ให้โอกาสคน  และทำงานเคียงข้างพนักงานได้ไม่แพ้บุรุษเพศ แต่ก็ยังมีมุมของความเป็นผู้หญิงน่ารักอยู่ด้วย เธอจะยึดหลักแนวคิดที่ว่า คุณค่าของคน ต้องวัดที่ผลของการกระทำ “ผู้หญิงก็สามารถทำงานได้ไม่แพ้ผู้ชาย มีความอดทนสูง เข้มแข็ง รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้มาก นอกจากนี้ผู้หญิงยังสามารถมีบทบาทส่งเสริมการ ทำงานของสามีได้ ถึงจะมีสำนวนที่ว่า  “ผู้หญิงเปรียบเสมือนเป็นช้างเท้าหลัง แต่ถ้าเท้าหลังไม่มั่นคง ก็เดินได้ไม่ตรงทางเช่นกัน”
 

และนี่คือชีวิตที่ครบรสของ
กนิษฐ  เมืองกระจ่าง  รองประธาน บริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม จำกัด   
 

ข้อมูลเพิ่มเติม
ดร. กร สุริยสัตย์ เกิดเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2471 ได้สมรสกับ ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ.2545) เป็นบุตรของพลตรี พระสุริยสัตย์ อดีตเจ้ากรมการเงินกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการสำนักงาน ทรัพย์สิน
ส่วนพระมหากษัตริย์ สมรสกับคุณหญิงชุติมา สุริยสัตย์ มีพี่น้องรวม 4 คน ท่านที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ พล.อ.ต. ภานพ สุริยสัตย์ 

ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ (ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อ พ.ศ.2545) : นักธุรกิจหญิงที่มีผลงานทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่ยอมรับอย่างมาก ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ท่านได้รับรางวัล นักธุรกิจสตรีตัวอย่างประจำปี พ.ศ. 2529 ของสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 50 นักธุรกิจสตรีดีเด่นของโลก พ.ศ. 2539 จากนิตยสารเวิลด์บิสิเนส สหรัฐอเมริกา และ 1 ใน 50 นักธุรกิจสตรีชั้นนำระดับโลก พ.ศ. 2542 โดยนิตยสารฟอร์จูน 

 
 

 


LastUpdate 10/03/2557 16:18:22 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
17-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 17, 2024, 3:56 am