กฤต เจนพานิชการ หัวหน้าทีม"สกาย รีพอร์ต"ช่อง 3 กับอีกหลายบทบาทที่คุณไม่เคยรู้


 กฤต เจนพานิชการ  หัวหน้าทีม "สกาย รีพอร์ต" 

และผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3

 

"ในขณะนี้เกิดเหตุด่วน ในพื้นที่…."

รายงานข่าวด่วน เหตุร้ายจากบนเฮลิคอปเตอร์ ของ "กฤต เจนพาณิชการ" ชายหนุ่มไฟแรง แห่งทีมสกาย รีพอร์ต สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นภาพที่คุ้นเคยกันดีสำหรับผู้ที่รับข่าวสารทางสื่อโทรทัศน์ทั่วไป 
ไม่เพียงแต่บทบาทการทำงานที่น่าตื่นเต้นเท่านั้น ชายหนุ่มคนนี้ยังมีหลายแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจ สวมบทบาทชีวิตหลายบท ทั้งการเป็นผู้สื่อข่าว ผู้ประกาศข่าว นักธุรกิจและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยชื่อดังทำงานทุกวัน ดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข จากการใช้หลักที่เรียกว่า "รู้จักบริหารชีวิตให้มีความสุข" นั่นเอง
 
ชื่อเสียงเรียงนามของ "กฤต เจนพาณิชการ"  ชายหนุ่มทำงานในวงการสื่อโทรทัศน์ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ดำเนินรายการ "ตู้ปณ.ข่าว 3 หัวหน้าทีม "สกาย รีพอร์ต" และผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ทีวีสีช่อง 3 นับว่าเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานเก่ง มีบุคลิกมุ่งมั่น  เชื่อมั่นในตนเอง แต่ยังคงซึ่งความอ่อนโยนอยู่ในที ขณะเดียวกันคุณกฤต เป็นผู้ที่มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจน ทั้งความพยายามสร้างความสำเร็จในหน้าที่การงาน ฐานะ และการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ทีมงานเอซีนิวส์ได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวชีวิตของหนุ่มไฟแรงผู้นี้จึงคิดว่าน่าที่จะนำมาถ่ายทอด เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนรุ่นใหม่ทั่วไปอย่างแน่นอน 
 
คุณกฤตบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังว่า ตนและน้องชายถือกำเนิดเติบโตมาในครอบครัวคนไทยที่เป็นครอบครัวขยายที่ใหญ่มากและอบอุ่นมาก เพราะรวมญาติพี่น้องอยู่รวมกันถึง 13 ครอบครัวที่ตั้งอยู่ในเขตรั้วเดียวกัน 
 
"เรามีอยู่กันมากกว่า 100 ชีวิตหากได้มารวมกันยามมีงานหรือโอกาสพิเศษ เช่น ปีใหม่ หัวเราะ…เป็นผลมาจากการวางแผนของคุณย่า ซึ่งท่านมีลูกมากถึง  11 คนและต้องการให้ลูก ๆ อยู่รวมกัน โดยแบ่งสรรพื้นที่ให้อยู่ด้วยกันในเขตถนนตกแถวสะพานกรุงเทพ…"
  
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ของคุณกฤตเป็นข้ารับราชการทั้งคู่ โดยคุณพ่อเป็นข้าราชการที่กระทรวงพาณิชย์ ส่วนคุณแม่เป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช  ชีวิตของคุณกฤตค่อนข้างอยู่ในกรอบ ในวัยเด็กเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษา 1-6ที่โรงเรียนราชวินิต ก่อนไปต่อระดับชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตรและระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
 
"ตอนเด็ก เป็นคนติดเพื่อน ชอบทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่นตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบหาประสบการณ์แปลกใหม่ จนในขณะอยู่ชั้นม.1 คุณครูให้สอบชิงทุนไปประเทศนิวซีแลนด์ โดยไปนาน 1-2 เดือนก่อนกลับมาเล่าประสบการณ์ให้เพื่อน ๆ ฟัง"
 
 
ชีวิตของคุณกฤตในช่วงประถมศึกษาถึงมัธยมต้น ชีวิตวนเวียนอยู่กับการเรียน ทำกิจกรรมและเรียนพิเศษด้วย ซึ่งคุณกฤตเล่าว่า เรียนพิเศษมากเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ให้เรียนได้ไม่จำกัดได้ตามที่ต้องการ ซึ่งจะเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์ โดยเน้นเรียนด้านคณิตศาสตร์ด้วย เนื่องจากไม่ชอบวิชาคำนวณเอาเสียเลย  ถึงขั้นเกลียดก็ว่าได้ แต่ต้องเรียน เพราะเป็นหนึ่งในวิชาหลักที่ต้องใช้รวมถึงภาษาอังกฤษและอื่น ๆ  
 
ตอนเด็ก ๆ เรียนวิชาเลขเยอะมาก เรียนตั้งแต่ ป.4 เลย แต่ไม่รู้สึกดีขึ้นเลย ไม่ได้รู้สึกว่าชอบ แม้การเรียนไม่ได้อยู่ในระดับแย่มาก "  
 
เมื่อมาเรียนระดับชั้นม.4 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา คุณกฤตบอกว่า  เริ่มเป็นที่คาดหวังของคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ในกรณีคุณแม่จะมองการณ์ไกล อยากให้เรียนสายคณิต-วิทย์ เพราะอยากให้เรียนแพทย์ ด้วยมองว่า เป็นอาชีพที่ดี ยั่งยืน สวัสดิการดี แต่คุณพ่อไม่บังคับ  คุณกฤตจึงเลือกทางสายกลางเรียนสายศิลป์-คำนวณและตั้งใจเรียนมากเพื่อหวังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ติดตั้งแต่ระดับชั้น ม.5   
 
ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยม.5 คุณกฤตได้เลือกคณะที่เอาใจคุณพ่อคุณแม่หมดเลย ทั้งเศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ แต่สอบไม่ติด แม้มีเพื่อนในรุ่นเดียวกันสอบติดกันรวมเป็นห้อง แต่ก็ไม่ได้คิดมาก ยังคงสนุกสนานกับการเรียนและกิจกรรมต่อไป
 
อย่างไรก็ตามคุณกฤตเล่าว่า ในระหว่างนั้นก็เริ่มถามตัวเองแล้วว่า จะเรียนอะไร ชอบอะไรแต่ไม่ได้ปรึกษาพ่อแม่มากนักและได้ศึกษาข้อมูลด้วยตนเอง จนมีตัวเลือกในใจแล้วว่า อยากเข้าคณะนิเทศศาสตร์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ แต่จะเลือกคณะที่เอาใจคุณพ่อคุณแม่อยู่ในอันดับต้น ๆ 
 
เมื่อถึงเวลาสอบเอนทรานซ์เมื่อจบชั้น ม.6จริง ๆ
อันดับ 1 เลือกคณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อันดับ  2คณะนิติศาสตร์ธรรมศาสตร์
อันดับ 3 เลือกนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ
อันดับ 4 เลือกคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
 
"ในตอนนั้นคิดไว้ว่า ถ้าสอบเอนทรานซ์ติด คุณพ่อคุณแม่จะดีใจ แต่ถ้าไม่ติด เราก็จะได้เรียนที่ ม.กรุงเทพ ผลปรากฏว่า สอบไม่ติดจริง ๆ ก็แสดงให้ท่านเห็นว่าเสียใจบ้าง ซึ่งคุณแม่ก็ปลอบใจอยากให้เรียนที่มหาวิทยาลัยมหิดล  แผนกอินเตอร์ แต่ผมขอเลือกสมัครที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เพราะตั้งใจไว้แล้วที่จะเข้าเรียนด้านวิทยุ-โทรทัศน์  
 
ซึ่งถือว่า เป็นการขัดใจคุณแม่อีกรอบ เพราะคุณแม่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อมหาวิทยาลัยเอกชนและยังยึดติดค่านิยมแบบเก่า  นอกจากนี้ยังมีเหตุผลเรื่องค่าเทอมแพงและไม่สามารถนำมาเบิกค่าเล่าเรียนบุตรในระบบราชการได้" 
 
 
ได้เรียนด้านวิทยุ-โทรทัศน์สมปรารถนา
 
ในที่สุดคุณกฤตก็ได้เข้าเรียนที่คณะนิเทศศาสตร์ของม.กรุงเทพสมใจปรารถนา พร้อมมุ่งมั่นจะเข้าวิชาเอกสาขาวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งต้องผ่านการเรียนชั้นปี 1-2 ไปก่อนและไปสอบเลือกวิชาเอกในชั้นปีที่  3
 
จากเหตุดังกล่าว คุณกฤตจึงขยันเข้าร่วมกิจกรรมมากมายกับรุ่นพี่เพื่อหาประสบการณ์ รวมถึงเข้าชมรมกระจายเสียง ทำรายการวิทยุ เป็นดีเจ เล่นละครให้รุ่นพี่ในชั้นวิชา ซึ่งยิ่งทำให้โปรดปรานงานด้านวิทยุและทีวีมากขึ้น ทำกิจกรรมมากจนต้องกลับดึกดื่นให้คุณแม่ต้องดุบ่อยครั้ง 
 
คุณกฤตกล่าวว่า ช่วงเวลาขณะนั้นถือเป็นการค้นหาตัวเองในช่วงเรียนมหาวิทยาลัยเพราะตั้งเป้าไว้แล้วว่า จะเข้าเรียนต่อในภาควิชาวิทยุ-โทรทัศน์ให้ได้ ซึ่งรับเพียง 80 คนเท่านั้น โดยต้องสอบทั้งข้อเขียนและปากเปล่าเมื่อถึงเวลานั้นผลปรากฎว่า คุณกฤตสอบได้ ได้เรียนสมใจ   
 
"อารมณ์เหมือนเด็กเอนต์ฯ ผมมารู้สึกตอนปี 3 ตอนที่สอบติดภาควิชาวิทยุ-โทรทัศน์นี่เอง ได้เรียนในสิ่งที่ตั้งใจ สมใจหวัง หลังจากนั้นตั้งใจเรียน ทำกิจกรรมทุกอย่างและได้ทำงานที่เป็นชิ้นงานของตัวเองบ้าง ได้ออกไปทำงานนอกมหาวิทยาลัยบ้างโดยมีรุ่นพี่เรียกไปผลิตรายงานหลายอย่าง ทำหมด ทำทุกอย่างและยังกลับบ้านดึกเหมือนเดิม"
 
การทำกิจกรรมเปิดตัวเอง ทำงานชมรมและออกไปทำงานข้างนอก ทำให้คุณกฤตได้มีโอกาสพบปะผู้คนเพิ่มขึ้น ที่ไม่ใช่เป็นเพื่อนในกลุ่มของมหาวิทยาลัย รวมถึงการมีโอกาสได้พบปะกับผู้ที่ทำงานสายโทรทัศน์โดยตรงอย่างคุณหนิง-สายสวรรค์ ขยันยิ่ง  ที่ขณะนั้นทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ปัจจุบันอยู่ไทยทีวีสีช่อง 3)มาอบรมการสอบใบผู้ประกาศให้นักศึกษาในชั้นปีที่  1 ซึ่งเป็นกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและได้พบกันอีกครั้งในช่วงปีที่ 3 เมื่อคุณหนิงมาเป็นแขกในรายการโทรทัศน์ที่คุณกฤตผลิตเอง  
 
จากนั้นในขณะที่คุณกฤตอยู่ชั้นปีที่ 4 คุณหนิงยังเป็นผู้ชวนให้ไปลองไปเป็นผู้ประกาศในรายการไอทีวีช่วงข่าวเที่ยงวัยทีน ซึ่งเป็นเวทีที่สนับสนุนให้นักศึกษาไปอ่านข่าว คุณกฤตจึงได้ไปฝึกปรือฝีมือ ทำงานเป็นผู้ประกาศมือสมัครเล่นของไอทีวี โดยอ่านข่าวในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์
 
 
หาประสบการณ์หลังเรียนในสหรัฐ 
 
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้ว คุณกฤตยังไม่ได้เร่งรีบหางานทำทันที เนื่องจากยังไม่มีเป้าหมายว่าจะเรียนต่อหรือจะทำงานดี แม้จะชอบงานทีวี และโอกาสยังไม่มาจึงไปทำงานพิเศษหาประสบการณ์ก่อน เนื่องจากไปสมัครเป็นเจ้าหน้าที่อาสาดูแลเด็ก ๆ ที่เข้าแคมป์ภาคฤดูร้อนในสหรัฐอเมริกา ของสถาบัน YMCAไว้ตามการแนะนำของเพื่อน โดยไปทำงาน เป็นพี่เลี้ยงเด็กวัย 7-14 ปีจำนวนหลายพันคน 
 
"การไปทำตรงนั้นเนื่องจากมองว่าเป็นโอกาสที่จะได้ไปเที่ยวและมีญาติอยู่ที่เมืองเซนต์หลุยส์ด้วย เผื่อจะได้ไปดูที่เรียน  นอกจากนี้ยังได้ประสบการณ์และจะได้ฝึกภาษาพูดด้วย เพราะเป็นคนไทยเพียง 2 คนเท่านั้นที่ไปอยู่กับเด็ก ๆ เป็นเวลา 24 ชั่วโมงตลอดเวลา  4 เดือน  แคมป์อยู่ที่เมืองอลาพาโฮ รัฐนอร์ธแคโรไลนา " 
 
คุณกฤตวางแผนการเดินทางเป็นอย่างดี โดยออกเดินทางไปก่อนแคมป์เปิด 1 เดือนโดยไปอยู่กับญาติ เพื่อทำงานเสิร์ฟอาหารเก็บรวบรวมเงินเอาไว้เที่ยวให้หนำใจหลังจากเสร็จงานที่แคมป์แล้ว 

"ตอนไปทำงานในแคมป์ แรก ๆ ยากหน่อยเพราะไม่มีใครพูดภาษาไทยเลย แต่พอจบจากแคมป์เหมือนภาษาเราได้เลย เพราะเด็ก ๆ ยังถามว่า อยู่มานานกี่ปีแล้ว หลังจากตอนแรก ๆ แซว เรื่องสำเนียง ที่ยังไม่ได้ ซึ่งกดดันมาก"
  
หลังจบแคมป์แล้ว คุณกฤตก็ได้เดินหน้าตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ เที่ยวและหาที่เรียนต่อปริญญาโทไปด้วยในตัว  โดยเที่ยวกับเพื่อนคนไทยและเพื่อนต่างชาติที่ทำงานเป็นอาสาสมัครในแคมป์ด้วยกัน โดยตระเวณเที่ยวไปใน 5 รัฐ  ตามบ้านเพื่อน ๆ และทำอาหารไทยให้เขาชิมเป็นการแลกเปลี่ยน เพราะพอจะมีฝืมือในการทำอาหารอยู่บ้างเหมือนคุณพ่อที่ทำอาหารเก่งเมนูที่คุณกฤตทำให้ครอบครัวเพื่อนต่างชาติชิม ใช้ได้ทีเดียว เช่น ทำข้าวต้มหมู ผักกระเพรา ผัดไทยเพราะหอบหิ้วน้ำซอสผัดไทยสำเร็จรูปและพวกเครื่องแกงจากบ้านญาติไปด้วย 
 
คุณกฤตยังเล่าถึงความประทับใจเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับการทำอาหารว่า
 
"ปัญหามีอยู่บ้างตอนทำ "แกงจืดฟัก" เพราะผมไม่รู้ว่า "ฟัก" ภาษาอังกฤษ คืออะไร ซึ่ง"ฟัก" ของฝรั่งเป็นคำหยาบ หัวเราะ.... ผมเลยบอกว่า ไม่รู้ว่าเรียกอะไร แต่คนไทยเรียกว่า ฟัก  เขาก็ฮา ขำกลิ้ง และถามว่า จะทำเมนูอะไร ก็เลยบอกว่า ฟัก ซุป วิธ ชิกเก้น หรือ ต้มฟักกับไก่ และเขาเอาไปเป็นมุขต่อว่า ได้กินฟักซุป เป็นที่สนุกสนานกันไป …หัวเราะ"
 
 
กลับมารุ่งในค่ายไอทีวีก่อนวูบไม่รู้ตัว 
 
ได้สนุกสนานในต่างแดนแรมเดือน สุดท้ายงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา…คุณกฤตก็ยังไม่ได้ที่เรียนปริญญาโท 
เมื่อกลับมาเมืองไทยจึงไปสมัครงานกับรุ่นพี่ที่รู้จักกันก่อน โดยรับตำแหน่งโปรเจคเมเนเจอร์ของบริษัทอีเว้นท์เล็ก ๆ แห่งหนึ่ง  ซึ่งรับจัดงานหลายอย่างทั้งคอนเสิร์ต ละครเวที 
 
"เราทำได้ เพราะเราเป็นเป็ด ทำได้ทุกอย่าง …หัวเราะ… ต่อมาพี่หนิง-สายสวรรค์โทรมาถามว่า ทำงานหรือยัง ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงปี 2547 โดยบอกว่า ที่ไอทีวี กำลังต้องการผู้ประกาศข่าว อ่านข่าวโทรทัศน์ภาคดึก ก็เลยลองไปสมัครดู  ตอนสัมภาษณ์ถูกถามว่า ผมชอบงานข่าวไหม ผมตอบไปว่า  ผมไม่ได้ชอบงานข่าว  แต่ผมชอบงานทีวี ชอบความสด ข่าวไหนที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ ข่าวที่อยู่หน้า 1 ที่สังคมเขารู้ ผมรู้ ถามว่า ส่งไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ไหม ผมตอบง่าย ๆ แบบไม่ต้องคิดอะไรว่า ผมไปอเมริกามาเป็นเดือนๆ ครึ่งปี พ่อแม่ไม่เคยห้าม แต่ถ้าจำเป็นต้องไปใต้เพราะมันคือ งาน พ่อแม่คงไม่ห้าม เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว ไปได้  พอตอนเย็นจึงได้คำตอบเลยว่า ได้ "
 
หลังจากนั้นจึงได้ลาออกจากที่ทำงานเก่าไปเป็นผู้ประกาศข่าวภาคดึก ตี 1 ของไอทีวี และทำงานตามนโยบายของไอทีวี ซึ่ง ต้องทำงานตั้งแต่รากฐาน ผู้ประกาศต้องทำข่าวเป็นเหมือนนักข่าวด้วย จึงต้องไปเรียนรู้การทำข่าววนเวียนหลายประเภท  หลายโต๊ะ
 
"ต้องเรียนรู้การทำข่าวทุกอย่างยกเว้นบันเทิง ทั้งสังคม การเมือง สาธารณสุข  จนต่อมาได้ไปอยู่ในทีมของสกายนิวส์ ที่รายงานข่าวบนเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งในขณะนั้นมีเฉพาะไอทีวีเท่านั้นที่รายงานบนเฮลิคอปเตอร์  โดยรายงานข่าวเหตุการณ์ทันด่วนและข่าวด้านสิ่งแวดล้อม"
 
หลังจากนั้นหน้าที่การงานของคุณกฤตเริ่มก้าวหน้าขึ้น โดยบทบาทขยับขึ้นจากการอ่านข่าวภาคดึกมาเป็นข่าวต้นชั่วโมง ข่าวเที่ยง จนก่อนไอทีวีปิดตัว ได้เป็นผู้ประกาศข่าวเที่ยงและข่าวเช้าสุดสัปดาห์ ซึ่งเป็นรูปแบบของรายการ โดยมีบทบาทเป็นผู้ประกาศข่าว ไปพร้อมกับเป็นผู้ดำเนินรายการ
 
นับว่า ในช่วงที่ทำงานอยู่ไอทีวี คุณกฤตทำหน้าที่หลากหลาย ทั้งทำข่าว อ่านข่าว จัดรายการข่าววิทยุ รายงานบนเฮลิคอปเตอร์ นอกจากนี้ยังไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนหนังสือที่คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุ-โทรทัศน์ ซึ่งเป็นคณะที่เรียนจบมาด้วย ขณะเดียวกันก็ได้เริ่มเรียนปริญญาโทไปด้วย โดยได้รับทุนจากม.กรุงเทพ เรียนสาขาบริหารธุรกิจบันเทิง ซึ่งเป็นหลักสูตรที่นำด้านนิเทศศาสตร์และบริหารธุรกิจมาผสมผสานกัน  เป็นหลักสูตรที่คุณกฤตบอกว่า เคยเห็นในสหรัฐและม.กรุงเทพเปิดสอนจึงสนใจเรียน
 

อย่างไรก็ตามต่อมาได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อไอทีวีต้องปิดตัวลง
 
คุณกฤตเล่าย้อนถึงความรู้สึกในขณะนั้นว่า  "ชีวิตเหมือนเขว รู้สึกเหมือนมีอะไรมาทำลายชีวิตเรา  เพราะในขณะนั้นเหมือนชีวิตกำลังลงตัว ภาระเริ่มมี งานเริ่มโต  เงินเริ่มมี คนเริ่มรู้จัก รถก็เพิ่งซื้อ กำลังเรียนปริญญาโท" 
 
แต่คุณกฤตยังครองสติอยู่ได้และใช้วิธีแก้ปัญหาด้วยการหยุดทุกอย่างและไปเที่ยว เพื่อใช้เวลาคิดใคร่ครวญว่า จะทำอะไรต่อไป 
 
"ในตอนนั้นคิดหลายอย่างว่า เราจะไปเริ่มต้นทำข่าวใหม่ดีไหม ชีวิตเหมือนเป็นศูนย์ ไปอยู่ช่องอื่นก็ไม่รู้ว่า เขาจะเอาเราหรือปล่าว หรือว่า เราอาจจะฉีกไปทำงานด้านการตลาดไปเลย เป็นการนำความรู้ด้านปริญญาโทมาใช้ ไม่ได้อยากทำ แต่คิดว่า ทำได้"
 
 
ก้าวสู่ NBT  หลังวิกฤต ก่อนย้ายค่ายไปช่อง 3
 
อย่างไรก็ดี ชีวิตไม่ได้โชคร้ายเสียทีเดียว เพราะต่อมาพี่ๆที่เคยอยู่ไอทีวีเก่าและกระจัดกระจายไปอยู่ที่สถานีโทรทัศน์NBT (สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์)หรือช่อง 11 เดิม มาชวนคุณกฤตให้ไปทำงานด้วย คุณกฤตจึงเริ่มมองเห็นทางออกแล้วว่า จะทำอะไรต่อไป  เริ่มมองเห็นคนที่จะไปเริ่มงานด้วย ซึ่งเป็นคนที่คุ้นเคยกัน
เมื่อเทียบกับอีกด้านหนึ่งที่เป็นงานด้านการตลาด ที่ต้องไปเริ่มใหม่จากศูนย์ ในที่สุดคุณกฤตจึงเลือกไปทาง  NBT และชีวิตเริ่มกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
 
คุณกฤตเล่าว่า ต่อมา NBT เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับโลโก้ใหม่และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นก็ได้รับการติดต่อจากผู้ผลิตรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ของทางช่อง 3 ซึ่งต้องการพิธีกรนอกสถานเพื่อรายงานข่าวทุกเช้าและเป็นช่วงเวลาที่ช่อง3 เริ่มทำสกายรีพอร์ต ที่มีแนวทางคล้ายกับสกายนิวส์ของไอทีวีเดิมและเป็นสิ่งที่คุณกฤตคุ้นเคยอยู่แล้ว จึงทำให้ตัดสินใจได้ไม่ยากที่จะย้ายค่ายมาอยู่กับช่อง 3 อย่างรวดเร็ว โดยหน้าที่

รับผิดชอบเบื้องต้นคือ ทำหน้าที่เป็นพิธีกรนอกสถานที่และเป็นหัวหน้าทีมสกายรีพอร์ตควบคู่กันไป
"เรียกว่า เป็นหน้าที่หลักและหน้าที่รอง ซึ่งเป็นคาแร็คเตอร์ของตัวเราอยู่แล้ว โดยก่อนตัดสินใจได้คิดเปรียบเทียบกันระหว่างการอ่านข่าวกับงานภาคสนามว่าอะไรส่งผลกระทบและได้รับความสนใจมากกว่า
 
หลังจากคุยกับพี่ ๆ ว่า เราต้องทำอะไรบ้างก็ตัดสินใจเลย เลี้ยวรถกลับไปลาออกจาก NBT ทันที เพราะคิดว่าเป็นมารยาทที่ควรจะออกก่อนที่เขาจะมีการเปลี่ยนแปลง ดีกว่า ออกหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว"
 
จากวันนั้นมาถึงวันนี้ คุณกฤตได้ย้ายค่ายมาอยู่ที่ช่อง 3 เต็มตัวจนย่างเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว นับว่า คุณกฤตเป็นชายหนุ่มที่ทุ่มเทและสนุกกับการทำงานเป็นอย่างมากสังเกตได้จากการบอกเล่าเรื่องราวการทำงานให้ทางทีมงานเอซีนิวส์ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น มุ่งมั่นตลอดเวลา 
 
คุณกฤตเล่าว่า ในการทำสกายรีพอร์ต ต้องทำทุกเช้าตื่นตั้งแต่ประมาณตี 1(01.00น.)เพื่อเตรียมตัวและออกจากที่พักช่วง ตี 2 ถึงที่ทำงานช่วงตี3 
 
"แม้เหนื่อยแต่เป็นงานที่สนุกทำให้ได้รู้จักคนมากขึ้น ได้เรียนรู้การบริหารเวลาบริหารงานจนทีมแข็งแรงขึ้นในช่วงปีที่ 2"
 
ต่อมาได้หยุดจากรายงานข่าวของเรื่องเล่าเช้านี้เพื่อไปดำเนินรายการ "ตู้ปณ.ข่าว 3" ในช่วงเที่ยงวันทันเหตุการณ์ ซึ่งเป็นรายการประจำวันจันทร์-ศุกร์ เป็นเวลา 30 นาทีโดยทำมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว  ในระหว่างนี้คุณกฤตยังคงทำหน้าที่เป็นอาจารย์พิเศษของศิษย์ผู้น้องที่ ม.กรุงเทพอยู่เหมือนเดิม สอนเรื่อยมาจนเรียนจบปริญญาโทแล้ว ก็ยังสอนอยู่
 
"กลายเป็นอาจารย์พิเศษ แบบประจำไป...เพราะอยู่ประจำ…หัวเราะ" 
 
 
เป็น "อาจารย์พี่"  เพราะหวังช่วยสอนน้อง
 
คุณกฤตเป็นอาจารย์พิเศษสอนมาเป็นปีที่ 6 แล้ว
"การตัดสินใจไปเป็นอาจารย์พิเศษช่วยสอนที่มหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งเกิดจากเคยมีรุ่นน้องมาฝึกงาน แล้วโดนคอมเพลนจึงอยากจะช่วยสอนให้รุ่นน้อง ๆ เป็นคนเก่ง  อารมณ์แบบ พี่สอนน้อง ช่วยสอนการเขียนข่าว อ่านข่าว การผลิตข่าว เป็นการนำหลักวิชาการ ร่วมกับประสบการณ์จริงไปสอนน้อง ๆ นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมช่วยอาจารย์ร่างหลักสูตรหรือทำข้อสอบด้วย"

การไปทำหน้าที่ตรงนั้น คุณกฤตบอกว่า มีข้อดีหลายอย่าง เช่น  ไปช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ ให้พวกเขาค้นหาตัวเองให้เจอ ขณะเดียวกันในฝ่ายของคุณกฤตเองก็ได้ประโยชน์ เหมือนได้เติมพลัง เพิ่มความสดใหม่ในการทำงานให้กับตัวเอง  ช่วยตีกรอบการทำงานของตัวเองด้วย ให้ต้องทำดีเกินมาตรฐานไปเรื่อย ๆ 
 
"ที่ผ่านมาดีใจที่ลูกศิษย์หลายคนจบไปแล้วได้ไปทำงาน  มีชื่อเสียงหลายคน ทั้งที่ตรงกับสายงานที่เรียน หรือคนที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ ที่ฝัน มีหลายคนที่ประสบความสำเร็จ ทำตามความฝันของตัวเองได้
 
 
ได้ไอเดียจากป.โททำธุรกิจเครื่องสำอาง อาชีพสำรอง
 
บทบาทการทำงานของคุณกฤตยังไม่ได้หยุดอยู่แค่การเอาจริงเอาจังกับงานด้านรายการโทรทัศน์และเป็นอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทความรู้แก่นักศึกษารุ่นน้องเท่านั้น คุณกฤตยังได้เจียดเวลาที่มีอยู่น้อยนิดของตัวเองเพื่อเริ่มรุกสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจเครื่องสำอาง

คุณกฤตเล่าว่า "หลังเรียนจบปริญญาโท นอกจากได้ความรู้ด้านสื่อแล้ว ยังได้ไอเดียในการทำธุรกิจมาด้วย จึงคิดทำธุรกิจอีกทาง เหตุผลส่วนหนึ่งเพื่อเอาไว้รองรับชีวิตหลังเกษียณราชการของคุณพ่อคุณแม่ด้วย จะได้ไม่เหงา โดยมีเพื่อนที่เป็นแพทย์ผิวหนังชวนให้ทำ ซึ่งอาศัยใช้ตัวตนความน่าเชื่อถือ ความเป็นนักข่าวของตัวเองเป็นตัวสนับสนุนธุรกิจไปเลย
โดยใช้ทุนรอนที่เก็บหอมรอบริบจากการทำงาน 1.5 ล้านบาท ร่วมหุ้นกับเพื่อนอีก  2 คน ตั้งบริษัททำผลิตภัณฑ์เซรั่มฟื้นฟูสภาพผิวใบหน้าขึ้น"

สำหรับอีกเหตุผลที่ตัดสินใจทำ เพราะเป็นธุรกิจที่สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน  แต่เป็นการขายทางอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์เครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊ค เป็นต้น  นับว่า อินเทรนด์ทีเดียว เพราะปัจจุบันเป็นยุคที่กล่าวได้ว่า การค้าในโลกออนไลน์กำลังเฟื่องฟู

คุณกฤตเล่าให้ฟังว่า เขาเป็นผู้เลือกตัวผลิตภัณฑ์เอง คัดเลือกสูตรเอง ซึ่งจะไม่เน้นเรื่องความขาว เพราะตนไม่ใช่คนขาว แต่จะเน้นฟื้นฟูดูแล บำรุงผิวหน้า สำหรับคนวัยทำงาน เป็นสูตรอ่อนโยนมีส่วนผสมของสารสกัดจากดอกโรสแมรี สารจากสาหร่ายทะเลน้ำตื้นและน้ำลึกและส่วนผสมที่มีประโยชน์อื่น ๆ โดยเน้นให้มีความพึงพอใจตั้งแต่สัมผัสแรกเป็นหลักคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เน้นหลัก  3 Re คือ Restart Restoring และ Rejuvenating ซึ่งเป็นการฟื้นฟู คงความอ่อนเยาว์ของผิวพรรณ เซรั่มมีลักษณะเป็นเนื้อครีมและยังมีคุณสมบัติซึมเร็ว นอกจากนี้การดำเนินงานยังมีการขออนุญาตต่อหน่วยงานที่ดูแลอย่างเคร่งครัดด้วย ซึ่งได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นั่นเอง  
 

สำหรับราคาผลิตภัณฑ์ตั้งไว้ระดับกลาง ๆ ไม่แพงหรือต่ำเกินไปที่  1,350บาท ต่อขวด 30 มิลลิกรัม ทำเพียงขนาดเดียว 1ขวด ใช้ได้ 1เดือน  โดยมีอายุผลิตภัณฑ์ 2 ปี ผลิตออกมาล็อตแรก  10,000 ขวด เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการระบายสินค้า

ในการดำเนินธุรกิจเพื่อนของกฤตดูแลด้านช่องทางจัดจำหน่าย เพราะทำธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว  ส่วนคุณกฤตช่วยในด้านการทำตลาด ซึ่งเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์วันที่  31 มกราคม 2556 โดยใช้มาตรการด้านการตลาด


หลายอย่างเพื่อให้คนได้เห็นก่อน ยังไมได้ขายประมาณ 2-3 เดือน เช่น ให้บรรดาเซเล็บหรือดาราถือในการแสดง การมีอีเว้นท์และออกรายการเพื่อให้คนได้เห็นก่อน ต่อมายังได้ทำขวดทดลองขนาด 5 มล.ให้ทดลองใช้ด้วย  เพื่อดูผลตอบรับ ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี

หลังจากนั้นจึงกระจายสินค้าซึ่งเป็นฐานลูกค้าเก่าของเพื่อน  และยังทำตลาดต่อเนื่อง โดยไปร่วมแสดงในงานต่าง ๆ เช่น มหกรรมชี้ช่องรวยการออกโปรโมชั่นจูงใจ ดังในเร็ว ๆ นี้ยังเตรียมทำออกโปรโมชั่นใหม่สำหรับนักศึกษาด้วย โดยให้ราคาพิเศษ หรือถ้าไปทำงานต่างจังหวัดก็จะมองหาช่องทางว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อช่วยตัวแทนระบายสินค้า เช่น ทำอีเว้นท์หรือเช็คก่อนไปว่าจังหวัดที่ไปมีวิทยุรายการใดฮิต ก็จะนำไปเผยแพร่ เรียกว่าไม่ยอมเสียโอกาสกันเลยทีเดียว 
 
 
จุดเด่นที่ภาพลักษณ์-คุณภาพ
 
โดยภาพรวมแล้วคุณกฤตมองว่า ผลิตภัณฑ์เซรัมของตนมีจุดเด่นหลายอย่าง ดังที่บอกว่าเน้นเรื่องเฟิสต์อิมเพรสชั่น  เราจึงเน้นภาพลักษณ์ที่ดูดี  แพ็คเกจจิ้ง และ ทำให้ผู้บริโภคเห็นว่าเป็นการดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้ฉาบฉวย ออกสื่อต่าง ๆน่าเชื่อถือในตัวตน เครื่องมือ ภาพ โฆษณาน่าเชื่อถือ ในขณะที่เรื่องของคุณภาพเราก็เน้นด้วย  เรื่องราคานั้นก็ไม่ได้สูงมาก นักศึกษา หรือ คนเริ่มทำงานก็ซื้อได้  และก็สามารถนำไปต่อยอดเป็นตัวแทนขายได้

ขณะนี้ยังอยู่ในช่วงกระจายสินค้า ส่วนต้นทุนในการผลิตขณะนี้ยังถือว่า สูงอยู่เนื่องจากเพิ่งผลิตเป็นล็อตแรก   สำหรับการดำเนินงานในช่วง  8 เดือนที่ผ่านมายังไม่ถึงจุดพอใจที่สุด  แต่ถือเป็นการเริ่มต้น โดยมียอดขายเกินครึ่งแล้ว มีตัวแทนจำหน่ายอยู่ในหลายจังหวัด อาทิ กรุงเทพฯ นนทบุรี นครปฐม พิษณุโลก นครราชสีมา ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุทรปราการ ที่เป็นรายใหญ่และยังมีรายย่อยที่นครสวรรค์

ในอนาคตภายใน  1ปี คุณกฤตยังตั้งเป้าไว้ว่า อาจจะมีผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ออกมาในส่วนของเครื่องสำอาง ซึ่งอาจเป็นผลิตภัณฑ์กันแดด มาร์คหน้า แต่คงดูเทรนด์ความนิยมในการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง  แต่ตัวนี้จะเป็น
ตัวหลัก    นอกจากนี้ยังมองหาลู่ทางส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย โดยเวลานี้กำลังมอง ไต้หวันและจีนอยู่ กำลังหาช่องทางที่จะไปอยู่ในเว็บไซต์ของจีน
 
 
ยังโสดสนิท เคยมีแค่คนถูกใจ
 
เป็นหนุ่มทำงานเก่งอย่างนี้ เชื่อว่า คงต้องเป็นที่หมายตาของสาว ๆ อยู่บ้าง จึงต้องแอบถามสถานะของหัวใจคุณกฤตเสียหน่อยว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งในวัย 32 ปีขณะนี้น่าจะมีหวานใจบ้างแล้ว
 
คุณกฤตบอกว่า ตนเองเป็นคนให้เวลากับงานเป็นหลักซึ่งลักษณะงานของเราจะต้องสแตนบายตลอดเวลา  เคยมีแฟนแล้วอยู่ในโรงหนัง  ออฟฟิสเรียกตัวก็ต้องไปทันที ตรงนี้คิดว่าน้อยคนที่มาเป็นแฟนเราแล้วจะเข้าใจ  ช่วงหลังก็เลยไปไหนก็ไป กับเพื่อน ๆ เวลามักไม่ตรงกัน จึงเที่ยวคนเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะไปในประเทศหรือต่างประเทศ ไปแบบแบ็คแพค
 
แต่ก็ยอมรับว่า เคยมีคนที่ถูกใจและคบหาดูใจกันมาบ้าง แต่ไม่อาจสานต่อความสัมพันธ์ฉันท์ "คนรัก" ได้ยั่งยืนและต้องลดระดับความสัมพันธ์เหลือเพียง "เพื่อน" กันเท่านั้น 
  
"เวลานี้ยังไม่มีเป้าหมายเรื่องครอบครัว หรือพูดได้ว่า ยังไม่พร้อมที่จะแบ่งปันชีวิตส่วนตัวของเรา อยากให้คนรอบข้างได้สบายก่อนและต้องการให้ถึงจุดที่คุณพ่อคุณแม่มองเห็นว่า การมีครอบครัวเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของเรา ไม่ใช่มองว่าเป็นภาระ"
 
พอใจกับความสำเร็จในวัย30 ปี พร้อมก้าวสู่วัยผู้ใหญ่ที่ 40 ปี
 
 ที่วัย 30 ปีต้น ๆขณะนี้ คุณกฤตมองว่า พอใจกับชีวิตในช่วงที่ผ่านมาและ ชีวิตในวันนี้มีความสุขในระดับหนึ่ง ภูมิใจที่ได้แสดงความสามารถของตัวเอง จนถือได้ว่า ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วในระดับหนึ่ง แต่ความสำเร็จที่วัย 30 ปีนี้ยังเป็นเพียงการเริ่มต้นเพื่อก้าวสู่วัยผู้ใหญ่เท่านั้น ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่วัย 40 ปี
 
" เมื่อถึงจุดเวลานั้น  คนรอบตัวของผมต้องอยู่อย่างสุขสบาย พ่อ แม่ น้อง
 
ส่วนความก้าวหน้าในหน้าที่การงานยังบอกไม่ได้ เพราะขึ้นอยู่กับโอกาส ความสามารถของเราในวันนั้นกับวันนี้ว่าเป็นอย่างไร แต่ต้องดีกว่าในปัจจุบัน"
 
  
ส่วนอีกสิ่งหนึ่งที่คุณกฤตมองว่า เป็นความสำเร็จอีกด้านของเขาคือ การที่เขาสามารถเปลี่ยนทัศนคติของคุณแม่ ที่ยึดติดค่านิยมการเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ ให้หันมายอมรับมหาวิทยาลัยเอกชนได้ นั่นเอง   
 
"เดี๋ยวนี้คุณแม่ยอมรับมหาวิทยาลัยเอกชน เชียร์ให้คนอื่น ๆ ไปเรียนด้วยและยอมรับผลงานของผม ผมจึงคิดว่า ผมโชคดีที่เอนต์ทรานซ์ไม่ติด ได้ไปเรียนที่ม.กรุงเทพอย่างที่ตั้งใจและทุกจังหวะชีวิตได้โอกาสที่ดี"
 
ชีวิตยามนี้ของคุณกฤตนับว่า ยังมีความสุข สนุกกับการทำงานสมกับเป็นวัยทำงาน ไม่เคร่งเครียด แม้จะทำงานตลอด ครบ  7 วันต่อสัปดาห์  เรียกว่ามีห้องนอนเสมือนไว้เป็นที่ซุกหัวนอนเท่านั้น

เหตุผลส่วนหนึ่งมาจาก การยึดหลักของ "การบริหารความสุขให้กับชีวิต" ทั้งในเรื่องงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว รู้จักบริหารจัดการอย่างเหมาะสม รู้ว่า เมื่อใดควรหยุดพัก
 
"เมื่อใดที่รู้สึกว่า สมองล้า งานเริ่มอืด ประเด็นเริ่มตาย ก็จะใช้วิธีหยุด พัก เที่ยว และถ้ามีเวลาจะไปเที่ยวกับครอบครัว ออกกำลังกายบ้าง เช่น ตีแบดมินตัน เข้าโรงยิม ขี่จักรยานบริเวณคอนโด หรือไปท่องเที่ยวผ่อนคลายคนเดียว ถ้าว่างก็จะไปทันที เพื่อนว่างจะไปด้วยก็ไป ถ้าไม่ว่างก็ไปคนเดียว"
 
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้เขายังมีพลัง มีไฟในการทำงานได้ตลอดเวลา และไม่เคยหยุดคิดต่อยอดสายงานที่ทำไปเรื่อย ในทุกด้าน 
ในอนาคตเราอาจได้เห็นเขาเป็นเจ้าของรายการดี มีสาระที่โด่งดังอีกรายการหนึ่งของเมืองไทยก็เป็นได้ 

หรือบทบาทเป็นนักธุรกิจใหญ่ที่สาวน้อยสาวใหญ่ หรือคุณผู้ชายที่ห่วงใยผิวพรรณโดยทั่วไป

คงต้องติดตามและเป็นกำลังใจให้ชายหนุ่มผู้นี้กันต่อไป  ซึ่งถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่น่าจะเป็นแบบอย่าง หรือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ที่ปรารถนาจะประสบความสำเร็จในชีวิตบ้าง ไม่มากก็น้อย…

 


LastUpdate 18/11/2556 15:27:08 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:53 am