ผู้หญิงแถวหน้า ไทยประกันชีวิต ' ดวงเดือน คงคาสวัสดิ์ '


ผู้หญิงแถวหน้า ไทยประกันชีวิต 
 " ดวงเดือน คงคาสวัสดิ์ " หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังหนังโฆษณาเรียก "น้ำตา" และ "สร้างชื่อไปทั่วโลก" 
 
 
หนูอยากได้พ่อที่ดีกว่านี้…..
พ่อที่ไม่เป็นใบ้….
พ่อที่เหมือนคนอื่น
พ่อที่ได้ยินในสิ่งที่หนูอยากบอก…

พ่อที่พูดได้ และก็เข้าใจหนูได้…..หนูอยากได้………

 
เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่ง ถูกกดดันทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง ด้วยข้อหาที่ว่า "พ่อเป็นใบ้" ซึ่งทำให้เธอรู้สึกไม่ชอบใจ ที่เกิดมามีพ่อเป็นคนพิการ จนบางครั้งเธอก็แสดงกิริยาความไม่พอใจ หรือแสดงกิริยาก้าวร้าวกับพ่อไปอย่างจงใจ แต่แล้วในวันเกิดของเธอ เธอถูกแฟนหนุ่มบอกเลิก เธอเศร้าเสียใจจนคิดฆ่าตัวตาย และในขณะที่เธอกำลังนั่งคร่ำครวญถึงคนอื่น-อยู่นั้น พ่อ...กลับกำลังตั้งอกตั้งใจ ซ้อมอวยพรวันเกิดให้เธออย่างแข็งขัน
และเมื่อพ่อรับรู้ว่าลูกกำลังจะตาย เขากลับทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะยื้อชีวิตลูกไว้ …ทำให้เธอได้รู้ว่า 
 
บางทีอาจจะไม่มีพ่อที่ดีที่สุด …แต่มีพ่อที่รักเธอมากที่สุด
 
       
 
 
ภาพยนตร์โฆษณา เรื่อง Silence of Love ที่ถูกเผยแพร่ทางโทรทัศน์และในโลกออนไลน์ในช่วงประมาณ  3 ปีที่ผ่านมา เชื่อว่า หลาย ๆ คนคงจะผ่านตามาบ้าง เพราะเป็นภาพยนตร์ที่สามารถเรียกน้ำตาจากผู้ชมและได้รับความสนใจเข้าชมหลายล้านคนในโลกออนไลน์และถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมาย 
 
ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างภาพยนตร์โฆษณาคุณภาพของบริษัทไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)  ที่สามารถกวาดรางวัลจากสถาบันต่าง ๆ มาได้ไม่ต่างจากโฆษณาชุดอื่น ๆ เช่น Adman Awards and Symposium 2012  ซึ่งได้รางวัล Silver สาขาสื่อภาพยนตร์โฆษณา ประเภทธนาคารการลงทุนการประกันและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และรางวัล Media Popular Vote  , รางวัล Best ประเภทการเขียนคำโฆษณายอดเยี่ยม จาก B.A.D Awards 2011 และ I.F.C.A Awards 2012 เป็นรางวัล Best of Showประเภท Combine Ad.

ที่ผ่านมาบริษัทไทยประกันชีวิตได้นำผลงานโฆษณาสร้างสรรค์ออกสู่สาธารณะมาอย่างต่อเนื่อง หรือมากกว่า  30 ปี จนเป็นที่รับรู้โดยทั่วไปว่า หากได้เห็นภาพยนตร์โฆษณาซึ้งกินใจออกมาสู่สายตา ต้องเป็นของไทยประกันชีวิตอย่างแน่นอน  กระทั่งปัจจุบันมีความพยายามสร้างภาพยนตร์โฆษณาแนวนี้ออกมามากขึ้น จนทำให้มีผู้เข้าใจผิดคิดว่า เป็นของไทยประกันชีวิตก็มี

บุคคลสำคัญท่านหนึ่งที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์องค์กรที่ดีแก่ไทยประกันชีวิต ได้แก่  คุณดวงเดือน คงคาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลุ่มสื่อสารองค์กร หญิงเก่งและแกร่ง ที่ถือเป็นลูกหม้อสำคัญคนหนึ่งของไทยประกันชีวิตเลยทีเดียว เพราะทำงานอยู่ที่นี่ที่เดียวมานานกว่า  30 ปี ซึ่งคุณดวงเดือนเป็นบุคคลที่ต้องคอยติดตามดูแล การสร้างสรรค์งานภาพยนตร์โฆษณาอย่างใกล้ชิด แทบทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการแรกไปจนถึงนำออกเผยแพร่สู่สายตาประชาชน
 
ดวงเดือน คงคาสวัสดิ์ ลูกหม้อไทยประกันชีวิต
 
เมื่อเร็ว ๆนี้ ทีมงานของสำนักข่าวเอซีนิวส์ ได้มีโอกาสบุกถึงถิ่นไทยประกันชีวิต เพื่อพาคุณผู้อ่านได้สัมผัสกับชีวิตการทำงาน ของ คุณดวงเดือน ที่ถือเป็นผู้หญิงทำงานอีกคนและช่วยบอกเล่าตำนานการสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์โฆษณาคุณภาพของไทยประกันชีวิตที่มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง   
 
คุณดวงเดือนเล่าว่า  ไทยประกันชีวิตเป็นที่ทำงานที่แรก ที่เดียวและอยู่มากระทั่งปัจจุบัน โดยยังไม่มีความคิดที่จะไปอยู่ที่อื่น  เธอเริ่มเล่าถึงเรื่องราวชีวิตที่น่าสนใจของเธอให้เราได้ฟัง
 
ย้อนไปเมื่อปี  2522  เธอศึกษาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง คณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกประชาสัมพันธ์  ในขณะนั้นเธอยังไม่เข้าใจถึงความหมายของประชาสัมพันธ์ดี แต่เลือกเรียนเพราะมีความรู้สึกว่า อยากแต่งตัวสวย ๆ และคิดว่า หน้าตาของตนเองพอใช้ได้ และอาจจะไม่เหมาะกับงานโฆษณาที่ต้องมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า จนเมื่อเรียนแล้วทำให้ได้เข้าใจว่า การประชาสัมพันธ์เป็นเรื่องของการสื่อสารที่จะต้องชัดเจน ถูกต้อง มีประเด็น  ซึ่งตรงนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้เป็นอย่างดี 
 
คุณดวงเดือนเริ่มทำงานกับบริษัทไทยประกันชีวิตมาตั้งแต่ปี  2526 กระทั่งปัจจุบันอยู่มานานถึง  30 ปีแล้ว โดยเริ่มการทำงานในส่วนประชาสัมพันธ์ก่อน หลังจากนั้นมีการปรับโครงสร้างเป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งทำงานด้านประชาสัมพันธ์และงานกิจกรรมเพื่อสังคม ต่อมาชีวิตการทำงานได้เติบโตขึ้นจนมาดูแลงานด้านโฆษณา  และในเวลานี้คุณดวงเดือนมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านสื่อสารองค์กรทั้งหมดและงานในส่วนของลูกค้าสัมพันธ์ เป็นหัวหอกคุมทีมงานมากถึง 70 ชีวิตในกลุ่มสื่อสารองค์กร และแน่นอนว่า คุณดวงเดือนได้มีโอกาสร่วมดูแลและประสานงานในการสร้างภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตด้วย
 
 
หนังโฆษณาไทยประกันชีวิตสร้างชื่อทั่วโลก
 
คุณดวงเดือนเล่าว่า ไทยประกันชีวิตทำภาพยนตร์โฆษณามานานแล้ว ตั้งแต่ปี 2523 หรือก่อนที่คุณดวงเดือนจะเข้าทำงานเสียอีก โดยจากอดีตถึงปัจจุบันทำไปแล้วประมาณ  30 เรื่อง และมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง สามารถแยกได้เป็นภาพยนตร์มุ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร และต่อมายังมีการปรับเปลี่ยนทั้งเพื่อมุ่งสร้างภาพลักษณ์องค์กรและมุ่งให้สามารถขายสินค้าของไทยประกันชีวิตได้ด้วย
 
"ผลงานภาพยนตร์โฆษณาชุดแรก มีภาพผู้ชายคนหนึ่งกำลังขึ้นบันไดและสื่อตรง ๆ เลยว่า เราควรจะทำประกันชีวิต ถ้าเสียชีวิตจะได้เงินเท่าไหร่ ถ้าอยู่จนครบกำหนดสัญญา จะได้รับเงินเท่าไหร่ ซึ่งถือเป็นภาพยนตร์โฆษณาเรื่องแรกของไทยประกันชีวิต" 
 
ในช่วงปี 2526 ซึ่งเป็นช่วงที่คุณดวงเดือนเข้ามาร่วมงานกับไทยประกันชีวิตพอดี ยังคงมีการทำภาพยนตร์โฆษณาอย่างต่อเนื่องเพื่อเผยแพร่เรื่องราวงานประชาสัมพันธ์  
 
แต่ภาพยนตร์โฆษณาเรื่องที่โด่งดังจริง ๆ เป็นชุดที่ชื่อว่า  "ห่วง" (ปี 2530) ที่คุณดวงเดือนชี้ว่า เป็นภาพยนตร์โฆษณาที่สามารถตอบโจทย์ธุรกิจประกันชีวิตได้ดี เพราะธุรกิจประกันชีวิตเปรียบเสมือนความห่วงใย การดูแลความรัก ความห่วงใยสำหรับคนในครอบครัว โดยประกันชีวิตเป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาคุ้มครอง ในเรื่องคุ้มครองชีวิตของผู้คน
 
ภาพยนตร์โฆษณาชุด "ห่วง"  ได้ทำเป็นทีเซอร์ (Teaser) เรื่องแรก ซึ่งมีการปล่อยผลงานออกมาสั้น ๆ ประมาณ 15 วินาทีก่อน จากนั้นทิ้งช่วงเพื่อให้ผู้คนสนใจว่าเป็นภาพยนตร์เรื่องอะไร ซึ่งทิ้งไว้ราว  2-3 สัปดาห์จึงปล่อยเนื้อหาที่เป็นเนื้อเรื่องเต็มออกมาเป็นภาพยนตร์ชุด "ด้วยรักและห่วงใย จากไทยประกันชีวิต"    
 
"ในสมัยนั้นนับว่าเป็นภาพยนตร์โฆษณาที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก  โดยในเนื้อเรื่องปรากฎผู้ชายคนหนึ่งเดินอยู่บนท่อและทำท่าจะตก หลังจากนั้นมีห่วงมาช่วยไว้ ไทยประกันชีวิตถือเป็นต้นฉบับของการทำภาพยนตร์ทีเซอร์ในช่วงแรก ๆ และยังเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์โฆษณายอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย  (TACT Awards ประจำปี 2530-2531)   (มอบรางวัลโดยคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และคณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)" 

แนวคิดหลัก"คุณค่าของชีวิต"-คุณค่าของความรัก
 
คุณดวงเดือนกล่าวว่า การสร้างภาพยนตร์โฆษณาในยุคแรก ๆ เป็นผลงานของเอเยนซีของคนไทยชื่อ บริษัท ซีวีที  แอนด์  เบอร์เซีย  จำกัด  ซึ่งต่อมายังมีภาพยนตร์โฆษณาออกมาอีกหลายเรื่อง เช่น เรื่องของพ่อลูก เรื่องของความรักความผูกพันในครอบครัว
 
จนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไทยประกันชีวิตได้เปลี่ยนเอเยนซีใหม่  เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตมีการแข่งขันมากขึ้น ไทยประกันชีวิตจึงมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้บริษัทต่างประเทศระดับนานาชาติแทน ซึ่งส่งผลดีต่อบริษัทในแง่ที่ช่วยทำให้ได้รับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดจนแนวความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่บริษัทโฆษณาในต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาให้ได้  โดยบริษัทใหม่ที่ไทยประกันชีวิตเลือกใช้บริการคือ บริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ แอดเวอร์ไทซิ่ง จำกัด ซึ่งก็ไม่ทำให้ผิดหวัง  

โดยในช่วงแรกเริ่มของการใช้บริการจากโอกิลวี่  ผลงานภาพยนตร์โฆษณาที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในขณะนั้นคือ ภาพยนตร์เรื่อง "Piece of mind"  ซึ่งคุณดวงเดือนเล่าว่า "เป็นภาพยนตร์โฆษณาอีกเรื่องที่เมื่อได้ชมครั้งใดเป็นต้องร้องไห้ทุกครั้งไป ถ้าคน ๆ นั้นเป็นพ่อของลูก หรือคนที่มีลูก เนื่องจากในภาพยนตร์ชี้ให้เห็นประเด็นที่ว่า ชีวิตหนึ่งกำลังเกิดขึ้น ในขณะที่อีกชีวิตหนึ่งกำลังจะเสียไป ตรงนี้เป็นจุดพลิกผันที่ทำให้รู้สึกว่า ชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นนั้น เขาเกิดมาเพื่อใครและจะอยู่ไปเพื่อใคร
 
นอกจากนี้ "Piece of mind"  ถือเป็นภาพยนตร์ที่สามารถสร้างและสะท้อนความรู้สึกในเรื่องของ "คุณค่าของชีวิต" หรือ Value of  life  ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับการปรับแบรนด์ดิ้งของไทยประกันชีวิตพอดี ที่มุ่งทำในเรื่องของ  "Value of life" หรือ"คุณค่าของชีวิต" ขึ้น"
 
คุณดวงเดือนเล่าว่า หลังจากนั้นภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตมีการพัฒนาในด้าน Value of life มาอย่างต่อเนื่อง  จากนั้นในประมาณ 2-3 ปีต่อมา จึงได้มีการนำเรื่องของ "Value of love"  หรือ "คุณค่าของความรัก" ตามมา ซึ่งเป็นการนำแนวคิดคุณค่าของชีวิตที่มีอยู่และนำคุณค่าของความรักมาเป็นตัวเสริม เพื่อปรับแบรนด์ดิ้งให้สอดคล้องทันสมัยเข้ากับวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน
 
เมื่อนำแนวคิด Value of love มาใช้ในภาพยนตร์โฆษณาที่ให้คุณค่าของความรัก ภาพยนตร์ที่เป็นที่ชื่นชอบของอีกหลายคน ดูแล้วอิ่มเอิบใจเรื่องหนึ่ง คือ "Everlasting love"  หรือ "ปู่ชิว"
 
" ปู่ชิว เป็นเรื่องของความรักอันเป็นนิรันดร์ ที่สามารถชมได้ตั้งแต่วัยรุ่น  แม้คนแสดงจะเป็นผู้สูงอายุก็ตาม  โดยปู่ชิวมีความรัก ความภักดีและดูแลภรรยาตั้งแต่สาวจนแก่ กระทั่งภรรยาเสียชีวิตไปแล้ว ความสม่ำเสมอในเรื่องของการดูแลภรรยาก็ไม่ได้หายไปไหน เขายังคงดูแลเหมือนที่ยังมีชีวิตอยู่ ภาพยนตร์เรื่องนี้เมื่อดูแล้วไม่ได้ทำให้เศร้าหมอง แต่เป็นความรู้สึกที่อิ่มเอิบใจ ดูแล้วทำให้รู้สึกว่า ในชีวิตนี้ฉันจะมีผู้ชายที่รักฉันไปตลอดชีวิตอย่างนี้หรือไม่ ซึ่งหาได้ยากมากในชีวิตจริง ทำให้คนดูแล้วเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจ"
 
หลังจากนั้นภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิต มีการพัฒนาปรับปรุงเข้าสู่เรื่องของสังคม การสะท้อนแง่มุมในสังคม โดยมีสถาบันไทยพัฒน์มาทำแผนแม่บทและความรับผิดชอบต่อสังคม(CSR) ให้ภาพยนตร์แนวนี้เมื่อดูแล้วจะสามารถกระตุกผู้คนในสังคมให้เกิดความรู้สึกว่า จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเกิดแรงบันดาล เกิดความรู้สึกว่า เราจะต้องให้อภัยกัน ภาพยนตร์โฆษณาแต่ละเรื่องจะเป็นเรื่องราวของลูกสาวหรือลูกชาย ซึ่งทุกเรื่องมีพื้นฐานมาจากชีวิตจริงในสังคมไทย ไม่ว่าลูกชายมีปัญหากับพ่อ หรือลูกสาวที่ตั้งครรภ์โดยยังไม่พร้อม
 
"แม้แต่สถาบันไทยพัฒน์เองยังให้การยอมรับว่า ภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิต ถือเป็นภาพยนตร์ที่เป็น CSR ตัวแม่ เพราะเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนสังคมไทยให้รู้ผิดชอบ ชั่วดี  ให้รู้ว่า สังคมมีหลายด้าน  และเป็นภาพยนตร์ที่ช่วยกระตุกและให้แง่คิดต่อสังคม สร้างแรงบันดาลใจที่ทำให้คนลุกขึ้นมาทำอะไรก็ได้เพื่อคุณค่าชีวิตของคนอื่น"
                                                                                                                                   
คุณดวงเดือนยังได้ยกตัวอย่างภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่ง ที่สร้างขึ้นมาเพื่อมุ่งสื่อในเรื่องของการสร้างชีวิตที่มีคุณค่าให้กับตัวเองและสร้างชีวิตที่มีคุณค่าให้กับคนอื่นซึ่งได้แก่ เรื่อง "แม่ต้อย"  เรื่องนี้ได้ถูกปล่อยอยู่ในโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องแรก ๆและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
 
"ภาพยนตร์ "แม่ต้อย"  มีพื้นฐานมาจากชีวิตจริงของ "แม่ติ๋ว" จากบ้านโฮมฮัก (มูลนิธิสุธาสินี น้อยอินทร์ เพื่อเด็กและเยาวชน จังหวัดยโสธร)โดยแม่ติ๋วป่วยเป็นมะเร็ง แต่ในขณะที่ป่วย แม่ติ๋วไม่ได้นึกถึงตัวเอง แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ชีวิตที่ยังเหลืออยู่จะสามารถดูแลคนอื่นๆได้  จึงไปตั้งบ้านโฮมฮักขึ้นมาเพื่อดูแลเด็ก ๆ ที่มีปัญหาและสังคมไม่ยอมรับ รวมถึงเด็กๆ ที่ได้รับเชื้อเอดส์แต่กำเนิดและไม่ได้รับการยอมรับของสังคมหลังจากพ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว  โดยแม่ติ๋วมองว่า เด็กๆ เหล่านี้ ทำไมสังคมไม่ให้ความรัก การดูแลเอาใจใส่พวกเขา  ให้โอกาสพวกเขา ซึ่งสักวันหนึ่งพวกเขาจะเติบโตเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีและกลับมาพัฒนาช่วยเหลือสังคมต่อไป"
 
คุณดวงเดือนเล่าต่ออีกว่า ภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตมีวิวัฒนาการในแนวนี้มาตลอด จึงทำให้เป็นที่ยอมรับว่า ในสมัยแรก ๆ  เป็นเสมือนภาพยนตร์ที่สร้างภาพลักษณ์ เป็นเรื่องของการรับผิดชอบต่อสังคมและทำให้ภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตได้รับรางวัลเกี่ยวกับ  CSR และภาพยนตร์โฆษณาที่มีคุณภาพยอดเยี่ยมมาตลอด ทุกเรื่องได้รางวัลมาหมด
 
แต่เรื่องที่ทำให้ภาพยนตร์โฆษณามาตอบโจทย์ของธุรกิจประกันชีวิตอีกอย่างหนึ่งคือ พัฒนาการของภาพยนตร์ที่นอกจากการสร้างภาพลักษณ์ของบริษัทแล้ว ยังต้องขายของได้ด้วย ซึ่งทำให้เป็นโจทย์ที่ยากขึ้นสำหรับทีมงานผู้สร้างสรรค์ของโอกิลวี่และผู้กำกับ ซึ่งต้องสร้างภาพยนตร์โฆษณาให้ดีขึ้นกว่าเดิมในแต่ละปี  
 
"เค เซรา เซรา" (Que Sera Sera) ผลิตออกมาในปี 2552 เป็นภาพยนตร์โฆษณาที่โด่งดังอีกชุด จนเพลง "เค เซรา เซรา" ที่เด็ก ๆ ร้องในภาพยนตร์กลายเป็นเพลงฮิตร้องกันได้ทั่วบ้านทั่วเมืองในเวลาต่อมา  โดยเพลงนี้เป็นคำภาษาสเปน หมายถึง "อะไรจะเกิด ก็ต้องเกิด"  ซึ่งมีการนำมาผนวกกับสินค้าตัวใหม่ของไทยประกันชีวิตคือ  "กรมธรรม์ก้าวแรก" ที่ถือเป็นนวัตกรรมของประกันชีวิต คุ้มครองเด็ก ๆ โดย "คลอดออกมาปุ๊บ คุ้มครองทันที"
 
"เดิมเราคิดไว้ว่า ต้องการจะให้ความคุ้มครองเด็กตั้งแต่อยู่ในท้อง แต่ในทางกฎหมายไม่อนุญาต อนุญาตให้คุ้มครองตั้งแต่ทารกแรกคลอดเป็นต้นไป จึงใช้ชื่อว่า "กรมธรรม์ก้าวแรก"  คือ คลอดออกมาปุ๊บ คุ้มครองทันที ถือเป็นนวัตกรรมด้านสินค้าและมีที่ไทยประกันชีวิตเพียงเจ้าเดียว โดยเอามารวมกับภาพยนตร์เค เซรา เซรา  เนื่องจากในการที่พ่อแม่มีลูก จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าลูกที่เกิดมาจะสมบูรณ์หรือพิการ เมื่อเกิดมาแล้วก็ต้องเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุด แต่สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้พ่อแม่คลายกังวลได้คือ การทำกรมธรรม์ประกันชีวิตให้ลูกตั้งแต่แรกเกิด โครงการนี้เป็นเรื่องของการขายสินค้าผสมผสานกับการสร้างภาพลักษณ์องค์กร"
 
หลังจากนั้นไทยประกันชีวิตได้กลับมาสร้างภาพยนตร์แนวสร้างภาพลักษณ์องค์กรอีกครั้ง ไม่เน้นขายสินค้ามาก ได้แก่ เรื่อง "Silence of Love" หรือ "พ่อใบ้" ที่มีเนื้อเรื่องซึ้งกินใจ ดูแล้วต้องร้องไห้กัน ซึ่งได้รับความสนใจเข้าชมในออนไลน์หลายล้านคนและถูกแปลไปในหลายประเทศ
 
 
คุณดวงเดือนยังกล่าวว่า นอกจากนี้ไทยประกันชีวิตยังสร้างภาพยนตร์โฆษณาที่เป็นประเภทขายของโดยตรงด้วย ที่เรียกว่า "ไดเรค ทีวี" (DRTV) ซึ่งเป็นการนำผลิตภัณฑ์ประเภทที่มีจุดเด่นทั้งหลายของบริษัทมาใช้ทำโฆษณา ได้แก่ สินค้า ตระกูล "มีคืน" ทั้งหลาย เช่น  "ไม่มีโรคมีคืน" และ "ไม่มีมะเร็งมีคืน" เป็นต้น เพื่อกระตุ้นความสนใจจากผู้ชม ดูแล้ว สนใจสามารถโทรศัพท์ติดต่อเข้ามาที่บริษัทได้โดยตรง
 
โดยภาพรวมแล้ว จะเห็นได้ว่า ไทยประกันชีวิตมีวิวัฒนาการในการรังสรรค์ภาพยนตร์โฆษณามาหลากหลายรูปแบบเลยทีเดียว นับจากภาพยนตร์ที่เน้นสร้างภาพลักษณ์องค์กรหรือสร้างแบรนด์   การตอบโจทย์ในแง่ของการเป็นพันธะสัญญา ความมุ่งมั่นในเรื่องของชีวิตและการต้องตอบโจทย์ในด้านการขายด้วย
 

ภาพยนตร์โฆษณาไทยประกันชีวิต แทรกสาระ-กระตุ้นสังคมใส่ใจดูแลกัน
 
คุณดวงเดือนเล่าต่อว่า ภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตเป็นโจทย์ยากขึ้นทุกปีสำหรับครีเอทีฟและผู้กำกับ เขาต้องทำการบ้านหนักมาก เพราะคนคาดหวัง แต่เมื่อออกมาแล้วก็เป็นที่ชื่นชอบของผู้คน
 
"บางครั้งภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันเปรียบเหมือนเหรียญ 2 ด้าน เพราะผู้ที่เคยมีประสบการณ์เหมือนในภาพยนตร์จะไม่อยากดู เช่น ภาพยนตร์เรื่อง "ลูกสาว" ที่ลูกสาวตั้งท้องโดยยังไม่พร้อม เคยมีผู้เขียนจดหมายมาถึงบริษัทบอกว่า เขาไม่อยากดูภาพยนตร์ชุดนี้เลย เขาเคยลืมเรื่องนี้ไปแล้ว ลูกเขาเคยอยู่ในภาวะแบบนี้ ลูกเขาเสียใจ เขาก็เสียใจ
 
 เราจึงต้องค่อย ๆ อธิบายว่า นี่คือสิ่งสำคัญที่เราต้องการให้ผู้ดูภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตแล้ว รับรู้ว่า นี่เป็นเรื่องจริงของสังคมไทย เราทำมาเพื่อให้สังคมกลับมามองกัน ต้องการสะท้อนให้เห็นว่า วันนี้พ่อแม่ ถ้าลูกทำผิด คุณต้องเป็นคนที่ใกล้ชิด ให้กำลังใจเขาและให้อภัยเขาในสิ่งที่เขาทำผิด อย่าทุบตี ด่าว่า นี่คือ จุดสำคัญ ที่เรากำลังสะท้อนให้ผู้ดูภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตเกิดความรู้สึกว่า เมื่อเกิดอะไรขึ้นในครอบครัว พ่อแม่คือ คนที่สำคัญที่สุดที่ลูกจะบอกความรู้สึกนี้และพ่อแม่จะต้องเป็นคนที่ให้อภัยลูก ไม่ใช่ซ้ำเติมลูก อันนี้คือ จุดที่เป็นแง่คิดจากภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิต
 
 ภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตจะสอดแทรกสาระเข้าไปด้วย  ไม่ใช่ดูแล้วผ่านไป แต่ต้องการสะท้อนให้สังคมหันกลับมามองกัน ดูแล้วมีกำลังใจ ดูแล้วพร้อมที่จะลุกมาต่อสู้ ไม่ว่าในเรื่องใดก็ตาม เป็นเรื่องของการให้โอกาสและการดูแลกันก่อนจากกันไป และทำให้ต้องมาเสียใจภายหลังว่า ยังไม่ได้มีเวลามาดูแลกันเลย"
 
สร้างสรรค์ตามโจทย์-ไม่หนีแก่นสำคัญ คุณค่าของชีวิต-ความรัก
 
คุณดวงเดือนยอมรับว่า "ความพยายามสร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์โฆษณาคุณภาพ ออกสู่สายตาสังคมให้ได้อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มากมาย  ซึ่งจุดเริ่มต้นจะมาจากทางไทยประกันชีวิต โดยคุณไชย  ไชยวรรณ  กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทฯเป็นผู้ตั้งโจทย์ให้ก่อน  สำหรับให้ทางเอเยนซีนำไปคิดต่อ และแต่ละเรื่องจะไม่หนีจากแก่นสำคัญของบริษัท นั่นคือ เน้นในเรื่อง คุณค่าของชีวิตและคุณค่าของความรัก  ขณะเดียวกันยังต้องนำไปผนวกกับสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยว่า สถานการณ์ในปัจจุบัน มีประเด็นอะไร ที่น่าสนใจ
 
หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของครีเอทีฟและผู้กำกับเพื่อนำไปคิดต่อว่า "จะทำอย่างไรให้สร้างออกมาแล้วเกิดอารมณ์" เพราะเวลานี้เราเล่นกับความรู้สึกของคนทำให้คนดูแล้ว รู้สึกซาบซึ้ง อยากซื้อประกันชีวิตแล้ว ดูแล้วให้นึกถึงเรา ไทยประกันชีวิต"
 
ซึ่งหลังจากถ่ายทำออกมาเป็นภาพยนตร์แล้ว แผนกสื่อสารองค์กรและโฆษณาของคุณดวงเดือน ยังต้องติดตามตรวจสอบความถูกต้องในรายละเอียดว่าถูกต้องตามวัตถุประสงค์ด้านแบรนดิ้งหรือไม่  ต่อจากนั้นจึงดำเนินการวางแผนร่วมกันกับทางเอเยนซีว่า จะเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์อย่างไร ช่วงใด อีกทั้งดูแลในด้านงบประมาณ
 
คุณดวงเดือนกล่าวด้วยว่า "การทำภาพยนตร์โฆษณายังถือเป็นการช่วยธุรกิจทั้งระบบด้วย ซึ่งเหล่าตัวแทนประกันอยากให้ทำภาพยนตร์โฆษณาแนวส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรออกมาเพิ่มขึ้น เพราะทำแล้วตัวแทนขายได้  ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มจำนวนผู้ทำประกัน ซึ่งเป็นการช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของพวกเขาเหล่านั้นได้
 
ที่ผ่านมาทางไทยประกันชีวิตได้ใช้บริการของบริษัทโอกิลวี่มานานถึง 15 ปีและใช้ครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์คนเดียวมาตลอด คือ  คุณ กรณ์ เทพินทราภิรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่าย สร้างสรรค์ ของโอกิลวี่ อีกทั้งยังมีผู้กำกับฝีมือดีที่สุดและแพงที่สุดของไทย คุณต่อ ธนญชัย ศรศรีวิชัย ผู้กำกับมือหนึ่งของ Phenomena ซึ่งได้รับรางวัลระดับโลก Cannes Lion จากประเทศฝรั่งเศส รางวัลที่นักโฆษณา ถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดของโลก มาสร้างสรรค์ผลงานออกมาเยี่ยมด้วย  โดยการผลิตภาพยนตร์โฆษณาแต่ละเรื่องใช้งบประมาณราว 8-10 ล้านบาท"
 
 คุณดวงเดือนเล่าให้ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า  " มาตรฐานของภาพยนตร์โฆษณาที่ส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรของไทยประกันชีวิตได้รางวัลทุกเรื่อง  ความจริงแล้วเหมือนเป็นพันธะผูกพันของบริษัทโฆษณาด้วยว่า นอกจากการต้องสร้างให้เป็นเรื่อง Talk of the Town แล้ว ยังต้องได้รางวัลด้วย  แต่จะได้มากหรือน้อย อีกเรื่องหนึ่ง บางเรื่องได้หลายรางวัลก็มี   
 
ส่วนผลงานภาพยนตร์โฆษณาที่เพิ่งได้รับรางวัลล่าสุดได้แก่ เรื่อง  "Forget me not" (ปี2555) นำเสนอเรื่องราวของ "บุญส่ง" ชายชราวัย 70 ปี ที่รักและเอาใจใส่ พร้อมดูแลภรรยาคู่ชีวิต "วันดี" อย่างดีเสมอมา แม้ว่าปัจจุบัน "วันดี" จะมองบุญส่งเป็นเพียงชายแปลกหน้า สาเหตุเพราะความทรงจำทั้งหมดของวันดี ถูกทำลายโดยโรค "อัลไซเมอร์"
 
โดยวันดีลืมทุกอย่างเกี่ยวกับสามีของเธอ แต่ "บุญส่ง" ยังจดจำรายละเอียดเล็กน้อยทุกอย่าง เกี่ยวกับภรรยาของเขาได้อย่างแม่นยำ  และสิ่งสำคัญที่เขายังคงไม่อาจลืมได้และทำให้เขายังคงดูแลวันดีอย่างไม่มีที่ติเสมอมา คือ คำมั่นสัญญาในวันแต่งงานที่เขามอบให้กับเธอที่ว่า "ผมจะดูแลคุณไปตลอดชีวิต"  นั่นเอง
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รางวัลสื่อสร้างสรรค์สุขภาพจิตประจำปี 2555 จากกระทรวงสาธารณสุขและรางวัลชนะเลิศภาพยนตร์โฆษณาดีเด่นทางโทรทัศน์เพื่อผู้บริโภคประเภทบริการ (สคบ. แอด อวอร์ด) ประจำปี 2556 เป็นต้น


 
อนาคตต่อยอดคุณค่าชีวิตสร้างแบรนด์แกร่ง
 
ในอนาคต ไทยประกันชีวิตยังคงต้องเดินหน้าสร้างสรรค์ผลงานโฆษณา ควบคู่ไปกับงานเพื่อสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งต่อไป

ซึ่งในเรื่องดังกล่าว คุณดวงเดือนเปิดเผยว่า  "การพัฒนาในอนาคตจะต้องตอบโจทย์เรื่องของแบรนดิ้ง  โดยมีเป้าหมายจะต่อยอดจากเรื่องของคุณค่าของชีวิตและคุณค่าของความรัก ที่เป็น DNA ของไทยประกันชีวิต ด้วยการมุ่งเป็นแบรนด์ของผู้สร้าง ว่าจะไปบุกเบิกชีวิตบุคคลให้มีศักยภาพ มีการใช้ชีวิตที่ดี ที่มั่นคง ที่มั่งคั่งได้อย่างไร สิ่งนี้เป็นเรื่องของแบรนด์ เป็นเป้าหมายที่เราจะต้องไปให้ถึง"
 
หลังจากนั้นจะดำเนินการ ปรับวิสัยทัศน์ภายในองค์กร เพื่อที่จะไปตอบโจทย์เรื่องของแบรนด์หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยการสื่อสารให้ทุกองคาพยพในองค์กรทุกฝ่ายรับรู้ว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำงานอย่างไร เพื่อให้ทุกคนนำไปยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายก้าวไปในแนวทางเดียวกัน ช่วยกันทำให้ความหมายของการเป็นผู้บุกเบิก พัฒนาศักยภาพชีวิตบุคคลกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้
 
"นั่นคือ ทุกคน ทุกฝ่ายจะต้องไปคิดในเรื่องของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  การบริการ งานโฆษณา ประชาสัมพันธ์ที่เป็นไปในทางเดียวกัน ไม่สะเปะสะปะไปคนละทิศละทาง"
 
" อย่า…หย่า" เรื่องประทับใจส่วนตัว สร้างพลังใจผู้ปกครอง
 
หลังพูดคุยกันถึงชีวิตการทำงาน ผลงานภาพยนตร์โฆษณาของไทยประกันชีวิตไปมากแล้ว คราวนี้มาถึงชีวิตส่วนตัวของผู้บริหารคนเก่งท่านนี้กันบ้าง ซึ่งมีหลายแง่มุมชีวิตที่น่าสนใจและน่าจะเป็นแบบอย่าง เป็นพลังใจสำหรับคุณผู้หญิงที่ต้องต่อสู้ชีวิตอยู่ตามลำพัง ให้มีกำลังใจลุกก้าวเดินต่อไปได้
 
คุณดวงเดือนได้เล่าว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์โฆษณาพบว่า บางเรื่องได้สะท้อนกลับมาที่ชีวิตส่วนตัวด้วย ดังเรื่อง "อย่า..หย่า" ถือเป็นภาพยนตร์โฆษณาที่ประทับใจส่วนตัว ดูแล้วให้รู้สึกกระตุกหัวใจ ดูแล้วต้องร้องไห้ทุกครั้ง
 
"อย่า..หย่า เป็นภาพยนตร์ที่สอดคล้องกับชีวิตในสังคมจริง ๆ เป็นภาพยนตร์โฆษณาชุดที่กรมสุขภาพจิตขอความอนุเคราะห์ให้ทางไทยประกันชีวิตทำขึ้นมา เพื่อสะท้อนสังคมของคนไทยในยุคนี้ว่า ครอบครัวมีการหย่าร้างสูง เด็กที่พ่อแม่หย่าร้างเขามีปัญหาอะไรบ้าง  ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งกระตุ้นเตือนให้การหย่าร้างลดลง ซึ่งในการถ่ายทำ ได้มีการคัดเลือกเด็ก ๆ ที่มาจากครอบครัวหย่าร้างจริง ๆและให้ถ่ายทอดความรู้สึกออกมาว่า  ถ้าพ่อและแม่ไม่ได้อยู่ด้วยกัน พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร เขาจะอยู่ตรงไหนของสังคม
 
ดูแล้วต้องร้องไห้ทุกครั้ง ระหว่างถ่ายทำ ดูไปก็ร้องไห้ตลอด เพราะตรงกับชีวิตจริงของตัวเอง เพราะปัญหาด้านเศรษฐกิจและปัญหาอื่น ๆ สามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างคน 2 คน แต่เด็กหรือลูกทำไมต้องมารับรู้หรือมารับกรรมในบางเรื่องที่พ่อแม่ก่อเอาไว้"   
 
คุณดวงเดือนเล่าต่อว่า "ดูภาพยนตร์เรื่อง "อย่า…หย่า" ทำให้ต้องกลับหันมามองตัวเองเหมือนกันว่า ในฐานะที่เป็นแม่มีลูกแล้วหย่าร้างกัน จะทำอย่างไรให้ลูกของเรายืนอยู่ในสังคมนี้ได้ ได้รับการยอมรับในสังคม เป็นเด็กที่มีคุณภาพ มุ่งมั่นในการศึกษา มุ่งมั่นจะเรียนให้จบเหมือนที่เราตั้งใจและเป็นคนดีของสังคม"
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเหมือนช่วยสร้างพลังใจให้ผู้กับคุณแม่ท่านนี้ให้มีกำลังใจ เข้มแข็งและต่อสู้ต่อไป (และน่าจะรวมถึงคุณแม่ท่านอื่น ๆ ด้วย)  ซึ่งคุณดวงเดือนได้เลี้ยงดูลูกมาด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อให้เขาได้เติบโตอย่างสมบูรณ์เหมือนเด็กที่มีพ่อและแม่อยู่ในตัวแม่คนเดียว
 
 
ภูมิใจอยู่ในองค์กรที่ดี-รับผิดชอบต่อสังคม ส่งอานิสงส์สู่ลูก-ครอบครัว
 
คุณดวงเดือนยังเล่าต่อว่า ไทยประกันชีวิตได้ทำกิจกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มต้นด้วยการทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับชีวิต ด้วยการร่วมมือกับสภากาชาดไทยมาตั้งแต่ช่วงปี 2520 ต้น ๆ ทำให้มีการบริจาคโลหิตกันในทุก 3 เดือนและยังดำเนินมากระทั่งปัจจุบัน  
 
หลังจากนั้นไทยประกันชีวิตยังค่อย ๆ ขยายมาเป็นเรื่องของการบริจาคอวัยวะด้วย ผ่านโครงการที่เรียกว่า  "หนึ่งคนให้ หลายคนรับ"  ซึ่งเป็นโครงการบริจาคอวัยวะร่างกายจาก  1 คน เช่น ตับ ไต หัวใจ ปอด  ที่สามารถเป็นประโยชน์ให้คนอื่นนำไปใช้ได้อีก 4-5 คน
 
"เป็นโครงการที่ทำมาโดยตลอดและเหมือนซึมซับ ทำกันเหมือนหน้าที่ว่า ในทุก ๆ  3 เดือน เราต้องบริจาคเลือดและบริจาคอวัยวะ กระทั่งปัจจุบันดิฉันได้บริจาคไปหมดแล้ว (หัวเราะ…)"

นอกจากคุณดวงเดือนจะได้พลังใจและแรงบันดาลใจที่ดี จากงานที่ต้องดูแลแล้ว คุณดวงเดือนยังรู้สึกได้อีกว่า เป็นความโชคดี ในการได้มาอยู่ในสังคมการทำงานขององค์กรที่ดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม  เพราะนอกจากจะทำให้ชีวิตการทำงานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลไปถึงลูกหรือครอบครัวด้วย

ทั้งนี้เนื่องจากเธอเป็นคุณแม่ที่ต้องทำงานและต้องดูแลลูกเอง คุณดวงเดือนจึงต้องพาลูกชายมาที่ทำงาน ด้วยตั้งแต่เล็ก ๆ ทำให้เขาได้ใกล้ชิดสังคมการทำงานและได้รับรู้การทำกิจกรรมเพื่อสังคมจากที่ทำงานของผู้เป็นแม่สะสมมานานหลายปี สิ่งเหล่านี้ได้ช่วยหล่อหลอมให้เขาเติบโตขึ้นกลายเป็นเด็กที่ดีและรู้จักเป็น "ผู้ให้"  แก่ผู้อื่น ๆ ซึ่งเป็นที่สร้างความภูมิใจให้แก่เธอผู้เป็นแม่อย่างมาก
 
"การนำลูกมาเลี้ยงที่ทำงานด้วยตั้งแต่ในวัยเพียง 2 ปี สถานที่ทำงานช่วยหล่อหลอมตัวเขาให้มีความคิดเหมือนคนทำงานว่า ทำไมต้องทำอย่างนี้  ซึ่งดิฉันจะสอนวิธีคิด วิเคราะห์ให้เขาว่า ต้องคิดอย่างไร วิเคราะห์อย่างไร ข้อดี ข้อเสีย หลากหลายมิติและนำมาเปรียบเทียบกัน อันไหนดี อันไหนไม่ดี ก่อนตัดสินใจในเรื่องใด ๆ  ซึ่งหลังตัดสินใจไปแล้ว จะต้องยอมรับผลจากการตัดสินใจ พลาดก็ต้องยอมรับและอย่าให้พลาดอีก การเลี้ยงลูกเหมือนมีกรอบให้เขา แต่จะให้คิดและตัดสินเอง"

คุณดวงเดือนกล่าวว่า "ในสิ่งที่ทำ นอกเหนือจากได้ความอิ่มเอิบใจแล้ว อยู่มาวันหนึ่งยังมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ เมื่อวันหนึ่งลูกมาบอกว่า  "แม่ผมจะขอบริจาคอวัยวะได้ไหม" ซึ่งเป็นช่วงที่เขายังเป็นวัยรุ่นและก็ได้ถือบัตรผู้บริจาคอวัยวะมาตั้งแต่วันนั้น  
 
จนกระทั่งถึงวันที่เขาครบอายุ 18 ปี เขาได้บอกว่า เขาพร้อมที่จะบริจาคโลหิตแล้ว แม่ก็ไปเป็นกำลังใจให้เขา เพราะถึงเขาจะเป็นผู้ชาย เขาก็กลัวเหมือนกัน (หัวเราะ…ด้วยความภูมิใจ)

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า การที่เขามาอยู่ที่ทำงานกับแม่ ได้หลอมรวมเขา ในการที่จะเป็น "ผู้ให้" ตั้งแต่วัยกว่า 10 ปี ซึ่งยังเป็นวัยรุ่น"   
 
เลี้ยงลูกให้ก้าวเดินอย่างมีเป้าหมาย–มีสติ
      
ขณะเดียวกันคุณดวงเดือนยังเลี้ยงดู เอาใจใส่ดูแลลูกและให้ความอบอุ่นแก่ลูกอย่างเต็มที่ พร้อมสนับสนุน ชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีเป้าหมายและอย่างมีสติ อีกทั้งแนะให้รู้จักขวนขวายหาความรู้ด้วยการพึ่งพาตนเอง จนทำให้ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนคนเดียวสามารถประสบความสำเร็จในการศึกษา นำปริญญาโทมาฝากคุณแม่ให้ได้ภูมิใจเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้เวลานี้หากจะกล่าวว่า คุณดวงเดือนเป็นคุณแม่ที่ประสบความสำเร็จและเป็นคุณแม่ที่มีความสุขที่สุดท่านหนึ่ง ก็คงจะไม่ผิด
  
เธอบอกกับเราว่าไม่ง่ายเลยในการใช้ชีวิตที่ผ่านมาว่า ในฐานะพ่อและแม่ จึงพยายามแบ่งเวลาที่ชัดเจน ทั้งในเรื่องงานและเวลาสำหรับทุ่มเทให้ลูกและครอบครัว โดยเฉพาะกิจกรรมที่เป็นของลูกจะไม่เคยขาด จำเป็นต้องไป ขณะเดียวกันก็ไม่ละเลยชี้แนะให้ลูกเห็นความสำคัญของการศึกษา
 
"จะบอกกับลูกอยู่เสมอว่า  ลูกจะเป็นอะไรก็ได้ แต่สิ่งที่แม่ขอคือ
1.เรียนหนังสือให้จบ  เพราะการจบ หมายถึง ชีวิตและอนาคตของลูก จะทำให้สามารถเดินต่อไปได้ ทำมาหากินได้ บนลำแข้งของตัวเอง
2. การเป็นคนดีของสังคม ไม่เป็นภาระให้ใคร  ซึ่งการเป็นคนดีของสังคม ทำได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ต้องลงทุนด้วยเงิน ลงทุนด้วยตัวเองจะทำอะไรก็แล้วแต่สามารถทำได้ด้วยตัวเราเอง
 
ซึ่งเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง"
เธอพูดถึงลูกชายด้วยน้ำเสียงภูมิใจว่า ลูกชายเป็นคนตั้งใจเรียนหนังสือและเดิมไม่คิดว่า เขาจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ เป็นไปได้ว่า เขาอาจซึมซับความคิดของเราที่มักบอกกับคนอื่นเสมอว่า ทำอะไรต้องมีเป้าหมาย ถ้าไม่มีเป้าหมายมันจะลอยมาก เขาจึงเก็บความคิดตรงนี้ไปใช้ ทำให้เขามีความมุ่งมั่นมีเป้าหมายในการที่จะทำสิ่งต่าง ๆในชีวิต  
 
คุณดวงเดือนเล่าว่า ลูกชายเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ซึ่งก่อนขึ้นมัธยมปลาย ได้ถามเขาว่า เขาตั้งใจจะเรียนสายวิชาอาชีพหรือเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเขาบอกว่า อยากเข้ามหาวิทยาลัย จึงบอกว่าต้องต่อม.4 – ม.6 และต้องทำเกรด ม.3 ขึ้นม.4 ไม่ต่ำกว่า 2.8 แล้วจะได้เรียนต่อ ม.4 ที่เดิม แต่ถ้าอยากจะไปหาประสบการณ์ อยากไปลองสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อยากรู้ว่าความพ่ายแพ้เป็นอย่างไร ก็ลองไปสอบดู  ถ้าสอบได้ก็โชคดีจะได้ไปอยู่โรงเรียนพระเกี้ยว ถ้าไม่ได้ก็จะได้รู้สภาวะของตัวเองว่า ทนต่อความล้มเหลวได้ไหม ซึ่งปรากฏว่า ไม่ได้ จึงเรียนต่อที่บดินทรเดชาไป 

ในระหว่างเรียนชั้นมัธยมปลายคุณดวงเดือนยังช่วยแนะแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการบ้านให้สามารถลุล่วงไปได้ แม้จะเป็นวิธีที่แตกต่างจากผู้ปกครองท่านอื่น ๆ อยู่บ้าง
 
โดยคุณดวงเดือนเล่าว่า "ในช่วงเรียนชั้นม.ปลาย ลูกชายบ่นให้ฟังว่า ทำไมการบ้านเยอะมาก อาจารย์แต่ละคนให้การบ้านทุกคน มี 5 วิชา ก็มีการบ้านทุกวิชา จะทำทันได้อย่างไร เลยแนะนำว่า ให้ใช้ความร่วมมือกันในหมู่เพื่อน ใช้วิธีลอกกัน แต่เป็นการลอกกันโดยที่แต่ละคนเก่งอะไร ก็ช่วยสอนเพื่อนคนอื่นด้วย เช่น คนนี้เก่งอังกฤษ เก่งภาษาไทยก็สอนเพื่อน คนไหนเก่งคณิตศาสตร์ก็สอนเพื่อน ทุกคนจะได้ทบทวนตัวเองไปด้วย วิธีนี้ทำให้ทุกคนมีการบ้านส่งหมดและผลปรากฏว่า ทุกคนสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หมด ลูกชายยังบอกว่า วิธีนี้เวิร์ค แม่!!
 
เมื่อถึงเวลาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ลูกชายไฝ่ฝันอยากเรียนภาษารัสเซีย อยากไปรัสเซียมาก น่าไป และมีความมุ่งมั่นมาก ผลจากการที่เราสอนเขาให้ทำอะไรต้องมีเป้าหมาย  ปรากฏว่า เขาได้เข้าเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ เอกภาษารัสเซีย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  แต่ในเวลาต่อมาปรากฏว่า ผลแอดมิดชั่นประกาศติดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย คือ คณะรัฐศาสตร์ เอกสังคมวิทยา ตอนนั้นจ่ายค่าเทอมที่ธรรมศาสตร์ รังสิตไปแล้ว ไม่อยากเสียเพิ่มอีก แต่ต่อมาลูกชายขอเรียนที่จุฬาฯ ก็เลยคิดทบทวนใหม่ทั้งในเรื่องตัวสถาบันเอง ค่าใช้จ่ายและเวลาที่สามารถประหยัดไปได้ จึงตามใจลูก ให้เรียนที่จุฬาฯ"
 
เมื่อถึงเวลาปฐมนิเทศน์ ยอดคุณแม่อย่างคุณดวงเดือนยังให้ความใส่ใจไปนั่งฟัง ซึ่งได้ให้เหตุผลว่า " เพื่อที่ว่าจะได้นำสิ่งต่าง ๆ กลับมาให้คำแนะนำแก่ลูกได้ โดยในการปฐมนิเทศ อาจารย์ได้แนะนำว่า ในช่วงเวลา 4 ปีที่เรียน อยากจะมุ่งไปตรงไหน วิชาเลือกให้มุ่งไปที่นั่นโดยตรง  ซึ่ง ลูกชายเรียนวิชาเอกด้านสังคมศาสตร์ตามปรกติและเลือกเรียนภาษาสเปนตามความชอบและความไฝ่ฝันที่อยากจะไปสเปน โดยเขาได้เลือกเรียนวิชาโทเป็นภาษาสเปนทั้งหมด ทั้งด้านฟัง พูด อ่านและเขียน และจะต้องทำให้ได้เกรด A ให้ได้ทั้งหมด ซึ่งเขาสามารถทำได้สำเร็จ ได้เกรด A ทั้งหมดจริง ๆ"
 
คุณดวงเดือนยังบอกเล่าเรื่องราวของลูกชายต่อไปอีกว่า หลังจากลูกชายเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เขาอยากไปเรียนต่อปริญญาโทที่สเปน จึงบอกกับลูกว่า ด้วยมนุษย์เงินเดือน แม่ไม่มีปัญญาส่งลูกไปเรียนต่อในต่างประเทศได้ แต่แนะนำให้ลูกไปสอบชิงทุน โดยชี้แนะให้ช่วยตัวเองว่า จะต้องไปติดต่อที่ไหนบ้าง ซึ่งต่อมาเขาทำด้วยตัวเองโดยใช้วิธีสมัครไปมหาวิทยาลัยสเปนทางอินเทอร์เน็ตก่อน จากนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยตอบรับแล้ว จึงไปติดต่อขอทุนจากกระทรวงต่างประเทศสเปน ซึ่งทางกระทรวงฯให้ตอบคำถามหลายอย่าง เช่น จะไปเพื่ออะไร แม่ก็แนะนำให้แนวทางไปว่า ควรจะตอบอย่างไร ทำเป็นภาษาสเปน จนในที่สุดเขาก็ได้ไปสมดังใจหวัง

"ถือเป็นความภาคภูมิใจอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการเป็นคนดี บริจาคเลือด บริจาคอวัยวะให้กับคนอื่นแล้ว เขายังตั้งใจเรียน จนเวลานี้จบการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว หลังจากไปเรียนที่สเปนเป็นเวลา 1 ปีและอยู่หาประสบการณ์ต่ออีกเป็นเวลา  1 ปี เพิ่งกลับมาช่วงปลายปี 2556 ที่ผ่านมา"
 
คุณดวงเดือนเล่าต่อว่า เวลานี้ลูกชายกลับมาแล้ว แต่ยังมีเป้าหมายใหม่ต่อไปอีก นั่นคือ อยากจะไปเยอรมนี เพราะเวลานี้สเปนเศรษฐกิจไม่ดี ในขณะนี้ลูกชายได้ไปลงเรียนภาษาเยอรมันแล้วในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนยังไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารสเปน เพื่อไม่ให้ลืมภาษาสเปน เพื่อเก็บเงินเป็นทุนรอนสำหรับไปร่ำเรียนเผชิญโชคที่เยอรมนีต่อไปด้วยตัวเอง เพราะแม่ให้หาทุนเรียนเอง  แม่ส่งให้ถึงปริญญาโทแล้ว ต่อไปจะทำอะไรให้ช่วยเหลือตัวเอง
 
"นับว่า วิธีการสอนและแนะนำของเรา สามารถช่วยผลักดันให้ลูกชายก้าวไปใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดนตามลำพังได้เป็นอย่างดี เริ่มตั้งแต่การเป็นเด็กที่ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ แต่ต้องเดินทางไปคนเดียว  ต้องต่อเครื่องเองคนเดียว หาที่พักเอง ไปแรก ๆ เขามีปัญหาเรื่องการเรียนอยู่บ้าง แต่แนะนำให้เขาใช้หลักการ "มีสติ" ซึ่งก็สามารถช่วยให้ปัญหาผ่านไปได้"  
 
 
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ-อย่าคาดหวังกับสิ่งใด จะไม่ผิดหวัง
 
กล่าวได้ว่า คุณดวงเดือนเป็นผู้หญิงทำงาน หญิงแกร่งที่ต้องคิดทำ ต้องก้าวเดินด้วยตนเองมาอย่างแท้จริงและสามารถทำได้ดีเสียด้วย ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินชีวิตโดยยึดถือหลักคิด คติหรือหลักในการดำเนินชีวิตที่ดีหลายอย่าง ทั้งในเรื่องชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานที่ต้องอยู่ในฐานะลูกน้องและเป็นผู้บริหาร
 
คุณดวงเดือนเปิดเผยว่า  " การดำเนินชีวิตได้ยึดทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา พยายามไม่สุดโต่งในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง พยายามปรับตัวให้ได้กับทุกสถานการณ์ ทุกข์บ้างสุขบ้างเป็นของธรรมดา ท้อแท้ได้ แต่อย่าท้อถอย ต้องก้าวเดินต่อไป เนื่องจากยังมีลูกที่ต้องเลี้ยงดูอยู่  โดยมุ่งมั่นต้องส่งลูกให้ถึงฝั่ง ให้เขาไปเผชิญกับโลกภายนอกได้อย่างเข้มแข็ง อยู่ในสังคมได้ สามารถไปใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข เลี้ยงดูตัวเองได้
 
ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะวางแผนอนาคตของตัวเองด้วยเพื่อให้อนาคตไม่เป็นภาระกับใคร นั่นคือ การวางแผนอนาคตหลังเกษียณ ที่ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 6 ปีจะเกษียณอายุ โดยวางแผนทางการเงิน เพื่อให้สามารถเกษียณได้โดยมีเงินไว้ดูแลตัวเอง
 
นอกจากนี้ยังต้องดูแลสุขภาพกายและใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ในเรื่องสุขภาพกาย มีการดูแลตัวเองโดยรับประทานอาหารตามปกติ ใช้วิตามินเสริมบ้าง มีการดูแลผิวพรรณบ้างตามปกติของผู้หญิง ส่วนเรื่องสุขภาพใจนั้น ใช้หลักพุทธศาสนา การมีสติและมีสมาธิอยู่ตลอด ไม่ต้องถึงกับไปนั่งสมาธิ
 
อีกทั้งยังใช้เรื่องความรักเป็นการจรรโลงชีวิตจิตใจของตัวเอง โดยวิธี "การรักทุกคน"  ไม่ให้ร้ายคนอื่น  เมื่อมีปัญหา พยายามเรียกสติกลับมาให้เร็วที่สุด ปัญหาทุกอย่างมีทางแก้ไข ซึ่งได้นำมาใช้ในการเลี้ยงลูกด้วย"
 

หัวหน้าต้องเป็นมันสมอง-แก้ปัญหาให้ลูกน้องได้
 
สำหรับในด้านชีวิตการทำงานนั้น คุณดวงเดือนเป็นบุคคลมีความตั้งใจในการทำงานมาตลอด และชีวิตก้าวหน้า  โดยไต่เต้าตั้งแต่ยังเป็นพนักงานฝ่ายประชาสัมพันธ์ผู้น้อยที่ต้องคอยส่งข่าวให้กับผู้สื่อข่าวจนก้าวขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงได้ในปัจจุบัน
 
คุณดวงเดือนเล่าว่า " เป็นคนที่ไม่คิด ไม่คาดหวังในสิ่งใดทั้งสิ้น ซึ่งจะทำให้ไม่ผิดหวัง แต่ถ้าเราโชคดี ได้รับการโปรโมท ก็จะเป็นสิ่งจรรโลงใจให้เรามีชีวิตอยู่ได้
 
จนเมื่อก้าวขึ้นมาเป็นระดับหัวหน้าแล้ว คติที่ใช้ในการบริหารคือ  จะต้องดูแลลูกน้องเหมือนดูแลลูก บางครั้งต้องปรับตัวให้เข้ากับลูกน้องและปรับให้เข้ากับเจ้านายด้วย เพราะเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเจ้านายได้ การปรับที่ตัวเราจึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้การทำงานทุกวันเป็นไปอย่างมีความสุข"
 
นอกจากนี้คุณดวงเดือนยังนำข้อแนะนำในการบริหารที่เจ้านายเคยให้ไว้มาปรับใช้ด้วย  โดยเจ้านายเคยสอนไว้ว่า  
1. เราต้องเป็นสมอง เมื่อเราเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าคน เราต้องมีสมองเพื่อคิด วิเคราะห์ มีข้อแนะนำแก่ลูกน้อง

2.เป็นกุญแจ เพื่อไว้ไขปัญหา  เราต้องมีความสามารถช่วยแก้ปัญหาให้ลูกน้องได้ หัวหน้ามีไว้เพื่อให้แก้ปัญหา การมีสติจะค่อยมาแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปได้
 
3. เป็นกาวใจ ในการทำงานที่ต้องร่วมงานกันมากมายอาจมีปัญหาขัดแย้งกันได้ หัวหน้าต้องมีความยุติธรรม สามารถให้เขาสมัครสมานสามัคคีในกลุ่มลูกน้อยได้และทำให้ผลงานสำเร็จไปได้
 
"ทั้ง 3 ข้อนี้ได้นำมาใช้ในการทำงานและบริหารครอบครัวด้วยและสามารถใช้ได้จริง ๆ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตมีความสุขกับการทำงานอยู่ตรงนี้ ไม่ได้มีความรู้สึกเบื่อในการทำงาน
 
บางคนอาจคิดว่า ทำงานพีอาร์จะต้องทำไปถึงเมื่อไหร่ แต่ความจริงแล้ว งานที่เป็นเรื่องของประชาสัมพันธ์ การสื่อสาร สามารถทำได้ตลอดชีวิต"
 
 
บั้นปลายชีวิต ถ่ายทอดประสบการณ์สู่นักประชาสัมพันธ์รุ่นใหม่
 
การที่เชื่อว่า งานประชาสัมพันธ์สามารถทำได้ตลอดชีวิตนี่เอง ทำให้คุณดวงเดือน มีเป้าหมายในอนาคตที่จะเป็นผู้ให้อีกครั้งในบั้นปลายชีวิต นั่นคือ การจะนำประสบการณ์ชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ไปเผยแพร่ ให้เป็นประโยชน์ต่อนักประชาสัมพันธ์รุ่นใหม่ ๆ นั่นเอง
 
"ในอนาคตมองว่า หากเป็นไปได้อยากจะใช้ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานมาประมาณ 30 ปี สอนน้อง ๆ ที่เรียนคณะนิเทศศาสตร์หรือสายงานที่เกี่ยวกับโฆษณาและประชาสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัยในต่างจังหวัดมากกว่าในกรุงเทพฯ

 เพราะน้อง ๆ ที่เรียนในกรุงเทพคงจะหาข้อมูลได้ไม่ยากนัก แต่ในต่างจังหวัดอาจจะขาด  จึงอยากจะไปเติมเต็มให้น้อง ๆ เสริมความรู้ให้แก่น้อง ๆ  ที่เรียนสายนี้ เพราะประสบการณ์ที่จะถ่ายทอดให้นี้หาไม่ได้ในตำรา ไม่มีในตำรา"
 
ในอนาคตอีกไม่ใกล้ไม่ไกล เราคงจะได้เห็นคุณดวงเดือนในอีกบทบาทหนึ่ง คือ การเป็น"คุณครู" ที่ประสิทธิ์ประสาทความรู้ด้านงานประชาสัมพันธ์ให้กับน้อง ๆ นักศึกษารุ่นใหม่
 
แต่จะเป็นที่ใดนั้น คงต้องเป็นเรื่องของอนาคตที่ต้องติดตามกันต่อไป……
หวังว่า เรื่องราวการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องส่วนตัวและการทำงาน จะเป็นประโยชน์สำหรับคุณผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อย ….

 


LastUpdate 12/02/2557 22:10:42 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 2:08 pm