วิไลพร ชัยแสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบลสซิ่ง จำกัด (ColorWash Thailand)


วิไลพร ชัยแสงจันทร์

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบลสซิ่ง จำกัด (ColorWash Thailand)

กับธุรกิจ ชุบชีวิต....กระเป๋า....รองเท้า สุดหวงของคุณ


วันนี้ “เอซีนิวส์” ได้มีโอกาสนัดสัมภาษณ์ผู้นำเข้าธุรกิจที่สามารถชุบชีวิต....กระเป๋า....รองเท้า.... แบรนด์เนม สุดเลิฟ ของคุณให้ฟื้นคืนสภาพได้อย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเยินแค่ไหน เธอคนนี้ทำได้ค่ะ......

คุณเมี่ยง” หรือ “คุณวิไลพร ชัยแสงจันทร์”  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เบลสซิ่ง จำกัด (ColorWash Thailand) ผู้นำเข้าบริการทำความสะอาดกระเป๋า-รองเท้า จากสิงค์โปร์ Color Wash หรืออาจจะให้คำจำกัดความแบบศัพท์ทางเทคนิคว่า “Professional Cleaning For Bag & Shoes” ที่เธอบอกว่ามีกรรมวิธีล้ำลึกกว่าการทำสปา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทำรายได้ให้เธออย่างน่าพอใจ ธุรกิจนี้น่าสนใจทีเดียว แต่ก่อนที่เราจะไปพูดคุยกับเธอถึงเรื่องธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ เรามารู้จักกับตัวตนของผู้หญิงคนนี้ รวมทั้งแนวคิดในการดำเนินชีวิตกันก่อนดีกว่า เพราะกว่าที่เธอจะมีวันนี้...ชีวิตไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด

คุณเมี่ยงเริ่มเล่าให้เราฟังว่า “คุณพ่อ-คุณแม่ ของพี่ หลังแต่งงานท่านทั้งสองก็ไปเริ่มต้นสร้างครอบครัวที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มธุรกิจของครอบครัวด้วยการตั้งโรงงานทอฟฟี่ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นท่านทั้งสองได้พาลูกๆ เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ

โดยพี่มีพี่น้อง 6 คน ในตระกูล “เฉลิมธนาชัยกุล” พี่สาว ชื่อ “สมชนก” และ “สุวรรณา”  คู่นี้เป็นฝาแฝดกันค่ะ ตามมาด้วยพี่ชาย ชื่อ “นิธินันท์” และตัวคุณเมี่ยง “วิไลพร” เป็นคนที่สี่ และน้องสาว ชื่อ "ศรันย์ภัส"  คนสุดท้องน้องชาย ชื่อ “ชูชัย” ค่ะ

อย่างที่บอกว่าที่บ้านทำโรงงานทอฟฟี่ที่เชียงใหม่แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เท่ากับธุรกิจเป็นศูนย์ คุณพ่อต้องเริ่มต้นใหม่ คุณพ่อเป็นคนมีดวงแบบขึ้นสุด-ลงสุด เชื่อใจคนง่าย ทำธุรกิจก็โดนเพื่อนโกงค่ะ แต่โชคยังเข้าข้าง เนื่องจากในตอนนั้น บริษัท สยามกลการ จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ทราบว่าคุณพ่อมีความชำนาญทางด้านอะไหล่รถยนต์ จึงเชิญให้ไปทำงานด้วยและให้รับผิดชอบในการสั่งอะไหล่ทั้งหมดให้กับบริษัท”

พูดถึงคุณพ่อแล้ว ท่านเป็นคนดุ ขั้นเผด็จการ เนื่องจากถูกคุณย่าตามใจตั้งแต่เด็ก ส่วนคุณแม่ก็เหมือนแม่บ้านทั่วไป ต้องเลี้ยงลูกไปด้วยจึงมีบทบาทกับลูกๆ มากค่ะ แต่เสน่ห์ของท่าน คือ มีฝีมือในการทำอาหาร ประมาณว่าถ้าลงมือทำครั้งใดเพื่อนๆ ต้องรอขอเป็นลาภปากกลับไปบ้านทุกทีค่ะ

แต่คุณแม่ก็ไม่ใช่แม่บ้านประเภทช้างเท้าหลังนะคะ ท่านเป็นผู้หญิงค่อนข้างลุย ไม่ชอบคุยโม้ประมาณปิดทองฐานพระเลยทีเดียวค่ะ (พอพูดถึงคุณแม่คุณเมี่ยงเล่าปนหัวเราะ)

คุณเมี่ยงบอกว่า เวลาที่เราถูกเอาเปรียบ เราจะรู้สึกแย่ แต่คุณแม่จะเป็นคนคิดบวกมากๆ เลยค่ะ (Positive Thinking) คุณแม่จะมองอีกมุม และบอกลูกๆ เสมอว่า “คนเราต้องรู้จักให้ก่อน

คุณเมี่ยง เล่าแบบขำๆ ถึงชีวิตในวัยมัธยมต้นของเธอว่า เธอเรียนโรงเรียนพระแม่มารี อยู่ตรอกจันทน์ สะพานสาม อยู่ในยุคเรียน 4 คน แถม 1 คน ทุกเช้า คุณพ่อ-คุณแม่ จะพาเดินจากบ้านซึ่งอยู่หัวลำโพง ขึ้นรถเมล์สาย 35 พอตอนหลังเริ่มสบายขึ้น คุณพ่อเอา รถเชฟโลเล็ต มาปรับปรุงให้นั่ง

พอเราเริ่มขึ้นมัธยมปลาย เราเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเองแล้ว ที่บ้านจะให้เรียนพาณิชย์ แต่เราอยากเข้า YWCA มาก อยากเรียนภาษา เพราะคิดว่าถ้าได้ภาษาจะได้ทำงานดีๆ เงินเดือนเยอะๆ ตอนที่ไปสอบพาณิชย์จึงวางแผนใช้วิธีกามั่ว จนสอบไม่ติด คุณแม่ท่านก็ยอมบอกว่าอยากเรียนก็จะส่งให้เรียน เราก็รู้สึกสงสารท่านเหมือนกัน เพราะค่าเล่าเรียนแพงมาก”

ความสัมพันธ์ระหว่าง คุณแม่ กับ ตัวคุณเมี่ยง และพี่ น้อง จะสนิทกับคุณแม่มาก คุณแม่จะเอาใจใส่กับลูกๆ ในทุกๆ เรื่อง เช่น หลังเลิกเรียนกลับมาพอถึงบ้านปุ๊บ คุณแม่ก็จะเตรียมขนมไว้ให้ คุณพ่อ และลูกๆ เสมอ พอค่ำก็จะเตรียมอาหารค่ำ เรียกว่าเป็นสุดยอดคุณแม่เลยทีเดียว คือ คุณแม่เป็นคนทำอะไรก็ต้องให้สุดๆ เพื่อนบ้านยังออกปากชมว่า ทุกวันนี้ลูกๆ ได้ดี เพราะคุณแม่ค่ะ ท่านจะเลี้ยงเราแบบไม่ตีกรอบมากนัก มีการยืดหยุ่นตามสมควร จึงทำให้ลูกๆ สนิทกับคุณแม่มากกว่าคุณพ่อ พอลูกๆ ทุกคนทำงานมีเงินเดือนก็จะพร้อมใจให้คุณแม่หมด

ตอนเด็ก ครอบครัวเราจะไม่ได้เลี้ยงลูกแบบคุณหนู แบบว่าโอ๋อะไรประมาณนั้นค่ะ ทุกคนจะต้องเรียนรู้ในการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ อย่างช่วงปิดเทอม คุณแม่ก็จะไปรับ กล่อง และ ถุง จาก โรงงานที่ทำให้กับลีเวอร์บราเธอร์  คือสมัยก่อนเขายังใช้แรงงานคน พวกเราพี่น้องก็จะพับถุง พับกล่องกัน เพื่อส่งไปให้เขาพิมพ์ เป็นกิจกรรมที่สร้างความสามัคคีในหมู่พี่น้องได้เป็นอย่างดีทีเดียวค่ะ เรารู้สึกสนุก ไม่ได้รู้สึกว่าโดนบังคับอะไรเลย ช่วงนั้นคุณเมี่ยงอายุประมาณ 10 ขวบ “พี่เป็นมือพับค่ะ” เธอเล่าแล้วก็หัวเราะ ส่วนพี่ชายคุณพ่อก็จะให้ไปช่วยงานด้วย

พวกเราจะเห็นภาพที่ คุณพ่อ คุณแม่ ทำงานมาตลอด ท่านทั้งสองทั้งอบรมสั่งสอนลูกๆ และก็ต้องทำงานหาค่าเทอมส่งลูกไปด้วย ไม่รู้ท่านทำได้ยังไง คุณเมี่ยงเล่ามาถึงช่วงนี้ แววตาเธอฉายแววแห่งความภูมิใจอย่างเห็นได้ชัด 

เราถามถึงธุรกิจของพี่ๆ น้องๆ ของคุณเมี่ยง เธอบอกว่า “ตอนนี้พี่ชายทำโรงงานกระเป๋าส่งออกระดับพรีเมี่ยม อยู่ที่อุบลฯ เวลาว่างก็จะให้คนงานปลูกข้าว ส่วนคุณเมี่ยงกับน้องชายก็ได้ร่วมลงทุนกัน สำหรับพี่สาวคู่แฝด คนน้องแต่งงาน แฝดพี่กับน้องสาวดูแลคุณแม่ ซึ่งตอนนี้ท่านอายุ 82 แล้วค่ะ

 

ชีวิตวัยเรียนของคุณเมี่ยง เธอเรียนโรงเรียนหญิงล้วนอยู่ในระดับดาวโรงเรียนทีเดียว เธอมักจะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนทำกิจกรรมต่างๆ อย่างตอนกีฬาสีในช่วงมัธยมต้น เธอก็จะได้ถือป้าย หรือกิจกรรมอื่นๆ เช่น รำไทย  เต้น เรียกว่าเป็นเด็กกิจกรรมจนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือ ม.ศ.3 ในยุคนั้น

สมัยก่อนคุณเมี่ยงจะมีห้างสุดฮิตที่ชอบนั่งสามล้อไปเป็นประจำกับเพื่อนๆ หลังเลิกเรียน คือ ห้าง ไทยไดมารู เชื่อว่าใครเป็นวัยรุ่นกรุงเทพฯในยุคนั้น คงไม่มีใครไม่รู้จักห้างนี้อย่างแน่นอน  เธอชอบไปดูร้านขาย Sanrio แบรนด์ดังจากญี่ปุ่น ชอบมากแค่ได้ดูก็ปลื้มแล้ว

 


เป็นคนชอบเรียนมาก

คุณเมี่ยงบอว่า “เป็นคนชอบเรียนมาก พี่คิดว่าการเรียนมาก ได้ความรู้มาก เรียนอย่างจริงจังก็ยิ่งมีประโยชน์ พี่ไปลงเรียนภาคพิเศษปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงในช่วงเย็นอยู่ 2 ปี เรียนจันทร์-ศุกร์ วันละ 4 ชั่วโมง คอร์สที่ลงเรียนได้เจอพี่ๆ ผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงหลายคน นักการเมืองก็มีค่ะ ตอนที่เรียนตรีเรียนด้วยกันกับสามี แต่เรียนโทแยกกันเรียนค่ะ

หลังจากนั้น พี่ก็ยังลงเรียนโทต่อที่จุฬาฯ คณะเศรษฐศาสตร์การเมืองค่ะ IS วิทยานิพนธ์ ต้องมีสอบข้อเขียนว่าจะผ่านหรือไม่ ทำวิจัยเรื่องแรงงานต่างด้าว พอมีข้อมูลเชิงลึกเราจึงเข้าใจแล้วว่า คำว่า “อำนาจ” เมื่ออยู่ที่ใครคนนั้นก็จะสามารถต่อรองทุกอย่างได้ เปรียบเสมือนหัวแหวน ใครมีหัวแหวนคนนั้นก็มีอำนาจ พอเราเข้าใจเรื่องนี้ลึกซึ้งทำให้เราโลภน้อยลง (หัวเราะ)

ทุกวันนี้จะสอนลูกว่า ให้รู้จักความสุขจากการให้ เพราะการที่เรามีความสุขจากการให้ เราจะมีสารอะดรีนาลีนหลั่งออกมา จะได้รับผลตอบแทนหรือไม่ ไม่เป็นไร แต่ก็ควรให้แบบมีลิมิต เช่น ให้เพื่อนยืมเลคเชอร์ตอนใกล้สอบ หากเราให้เพื่อนยืมแล้วเราจะเอาที่ไหนอ่านจริงไหมคะ หรืออย่างกรณีเราเหลือเงินบาทสุดท้ายหากเราให้เพื่อนยืมก็ไม่รู้จะได้คืนเมื่อไร แบบนี้จะทำให้เราเดือดร้อนจากการช่วยนะคะ

เคยอ่านบทความของ ศาสตราจารย์ภิชาน “แล ดิลกวิทยรัตน์”  ท่านเป็นกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งคนใน กฟผ.จะรักท่านมาก ชอบตรงที่ท่านเขียนไว้ว่า “เราต้องเป็นเจ้านายเงิน อย่าให้เงินเป็นเจ้านายเรา ไม่เช่นนั้นจะเกิดความโลภ” 

คุณเมี่ยงเล่าต่อว่า “หลังเรียนก็ทำงานอยู่ 10 ปี  งานแรกที่ทำ คือ Garment  ทำได้ 3 ปี น้าสาวบอกว่ามีโรงฟอกของที่บ้าน (อยู่แถวบางปู) ทำไมจึงไม่มาช่วย  เราก็ได้ไปช่วยบ้าง อยู่โรงงานจันทร์ ถึงศุกร์ เรารู้สึกเบื่อ

เมื่อถามถึงธุรกิจของคุณเมี่ยง เธอเล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้ธุรกิจหลักที่บริหารงานเองทั้งหมด คือ “Color Wash” เป็นธุรกิจให้บริการเกี่ยวกับการดูแลรักษา กระเป๋า รองเท้า เข็มขัด สายนาฬิกา ซึ่งได้ License มาจากสิงคโปร์ แต่เจ้าของเป็นคนเกาหลี  โดยธุรกิจนี้ไม่ได้เกี่ยวกับฝั่งสามี คือ “คุณสมพงษ์ ชัยแสงจันทร์” กรรมการ บริษัท นีโอ เซลส์แอนด์เซอร์วิส จำกัด ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ฟอร์ด และ กรรมการบริหาร ST Mansion

ตอนแรกก็เกรงใจฝั่งสามีเหมือนกันค่ะ เพราะที่บ้านเขาคงอยากให้ช่วย แต่เราก็อยากทำธุรกิจที่เราชอบเหมือนกัน โชคดีที่สามีไม่ขัดค่ะ


ขอ License อยู่ 2 ปี  

“พอตัดสินใจจะเริ่มธุรกิจนี้ ไม่ใช่ง่ายๆนะคะ เราขอ License อยู่ 2 ปีกว่าจะได้ เขาละเอียดมากค่ะส่งคนมาดูสถานที่ตั้งเองเลยค่ะ เพราะแบรนดนี้มีคนไทยเข้าไปขอ License เขาเยอะ แต่ไม่ผ่าน แล้วทำไมเราถึงผ่านใช่ไหมคะ (คุณเมี่ยงเหมือนเดาใจเราถูก)

คือตอนที่ไปคุยกับเขาเหมือนเขาลองใจเรา เขาบอกว่าจะต้องส่งคนมาฝึกงานเพื่อเรียนรู้เทคนิคต่างๆ ตามมาตรฐานของเขา เราบอกว่าโอเค เราจะมาฝึกเอง เขาพอใจมาก เพราะรายอื่นๆ จะส่งระดับผู้จัดการมา เขาเห็นความตั้งใจของเราในจุดนี้ เลยวางใจ เพราะเจ้าของลงมาเต็มตัวขนาดนี้ เขาจึงมั่นใจว่าจะไม่เสียมาตรฐานอย่างแน่นอน”

 

ทำไม? จึงเลือก Color Wash 

เริ่มจากประสบการณ์ตรงค่ะ คือพี่เป็นคนที่ชอบสะสมกระเป๋าวินเทจมาก และมีใบโปรดอยู่หลายใบ ถึงเก่า หรือเยินแค่ไหนก็ไม่ให้ใคร พยายามจะรักษาเอาไว้ให้ได้นานที่สุด คิดว่า Clean เองจะง่ายกว่า แต่เนื่องจากเราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการ Clean ซื้อน้ำยามาลองเอง ลองผิดลองถูกเสียไปหลายใบ แต่ก็ยังไม่ยอมลดละ เข้าไปเสิร์ซหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต พี่ชายก็ช่วยด้วยค่ะ จนกระทั่งไปเจอข้อมูลของผู้ให้บริการทำความสะอาด กระเป๋า-รองเท้าในประเทศสิงคโปร์ Color Wash เป็นของ  Madame Gil mi Suk ซึ่งเป็นคนเกาหลีค่ะ เธอเคยทำงานสถานฑูตเกาหลีประจำประเทศไทย เธองงว่าคนไทยถือกระเป๋าแบรนเนม กันเยอะ 10 คน ถือ 8 คน ขนาดนักศึกษายังถือเลยเขาตกใจมาก (คุณเมี่ยงพูดเสียงสูงแล้วหัวเราะ) 

Color Wash ไม่ใช่การสปานะคะ คุณเมี่ยงบอก หากจะให้คำจำกัดความ คงต้องใช้ว่า “Professional Cleaning” ค่ะ ถ้าเปรียบเทียบก็คือ เหมือนเราเป็นหมอรักษาคนไข้ เป็นคลินิก แต่เราไม่ใช่เภสัชกร เราจะแก้ไขปัญหาตามอาการของผลิตภัณฑ์ค่ะ  บริการของเราเป็นแบบ One Stop Service ค่ะ คือมีช่างหลายแผนกแบ่งหน้าที่กันค่ะ เรามีแผนก Clean

แล้วส่งต่อ หากใครต้องการเปลี่ยนสีเราก็สามารถให้บริการได้ค่ะ แผนกสีนี้น้องชายเป็นคนดูแลค่ะ การทำสีเราจะประณีตมากค่ะทำถึง 10 ขั้นตอนด้วยกัน หากหนังหายไปเราก็ต้องเติม คล้ายๆ การฉีดฟิลเล่อร์เพื่อให้ผิวเรียบ

หากถามว่าการบริการของเราต่างจาก Shop แต่ละแบรนด์อย่างไร  ที่แน่ๆ คือ เรื่องของเวลาค่ะ เพราะเราทราบดีว่า ของรักของหวงของลูกค้า เจ้าของคงไม่อยากทิ้งไว้นาน และลำดับต่อมา คือ เรื่องของราคา ค่าบริการของเราจะต่ำกว่า แล้วเราก็สามารถประมาณราคาให้ลูกได้เลย จริงๆ แล้วฝีมือช่างไทยจะมีความประณีตเป็นที่ยอมรับในเอเชีย ด้านผลิตภัณฑ์ที่เรานำใช้ในกรรมวิธีทำความสะอาดเครื่องหนัง เราใช้ซิลิโคน ซึ่งเป็นสูตรที่เจ้าของ License เป็นผู้คิดค้นขึ้นมาเอง สามารถกันคราบน้ำมันและคราบอาหารได้ 

ข้อได้เปรียบของเราอีกอย่างคือ พี่ชายอยู่ในวงการเครื่องหนังด้วย จึงมีความเข้าใจในธรรมชาติของเครื่องหนังเป็นอย่างดี ตอนนี้มีคนมาขอเป็นแฟรนไชส์กับเรา แต่ยังตัดสินใจอยู่ค่ะ อยากให้ระบบนิ่งก่อน เพราะหากตกลงกับเขาแล้ว เราคงต้องไปสอนเอง ระยะเวลาในการสอนก็ประมาณ 1 เดือนค่ะ

ลูกค้าที่มีชื่อเสียงมาใช้บริการ Color Wash มากมายค่ะ อาทิ คุณกฤษณ์ รัตนรักษ์ ให้คนขับรถหิ้วกระเป๋าเอกสารมา แล้วเอาหนังสือที่พี่เคยให้สัมภาษณ์มาด้วยค่ะ บอกว่าเจ้านายหาบริการแบบนี้มาหลายที่แล้วแต่ไม่ถูกใจสักที่ เห็นบทสัมภาษณ์นี้ก็เลยลองมาใช้บริการดู หลังจากนั้นก็เป็นลูกค้าประจำเลยค่ะ นอกจากนั้นก็มี คุณพิมพ์สุรางค์ เอี่ยมแจ้งพันธ์ / คุณเมย์ บัณฑิตา ฐานวิเศษ / คุณจอย ศิริลักษณ์ ผ่องโชค และอีกหลายท่านค่ะ

เราถามว่าแบรนด์ไหนที่คนมาใช้บริการมากที่สุด คุณเมี่ยงบอกว่า Chanel ค่ะ อันดับ 1 เลย  รองลงมาก็เป็น Todd ของผู้ชายค่ะ      

ถามถึงเรื่องครอบครัวบ้าง คุณเมี่ยงบอว่า “ พี่มีลูกสาวสามคนค่ะ คนโตชื่อ “คริมา” จบเกียรตินิยมอันดับ1 จุฬาฯค่ะ คนนี้เรียนเก่งค่ะทำอะไรทำจริง เขาช่วยอาจารย์แปลและเขียนหนังสือเป็นภาษาไทยเรื่อง “การปรองดองของประเทศไทย” ซึ่งผู้เขียนเป็นชาวต่างประเทศ ปัจจุบัน คริมา ทำงานอยู่ที่ PWC (PricewaterhouseCoopers) 

คนที่สองชื่อ “พิชชา” ตอนนี้เรียนแฟชั่นดีไซน์อยู่ที่ มศว.ค่ะ  ส่วนคนสุดท้องชื่อ “แพรวา” เรียนอยู่ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีค่ะ คนนี้จะเป็นตัวของตัวเอง ขี้เกรงใจ ขี้สงสาร รักพี่น้องแต่จะไม่ค่อยพูด เป็นคนที่ทำอะไรด้วยตัวเองมากๆค่ะ

พี่มีแนวคิดเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกว่า สิ่งสำคัญที่สุดของคนเป็นแม่ก็คือ “ลูกเป็นคนดี รู้จักคิด เป็นคนดีของสังคมด้วยค่ะ" เรียกว่า "มีลูกที่ดีเหมือนเราถูกล็อตเตอรี่” 

 

เทคนิคพิเศษ ใช้นิยายสอนลูก  

เราใช้วิธีธรรมชาติค่ะ คือเราจะให้เขาทำความเข้าในด้วยตัวเอง โดยเราจะเลือกนิยายเรื่องทีมีเหตุการณ์เหมือนหรือใกล้เคียงกับประเด็นที่เราต้องการจะสอนเขาให้เขาเอาไปอ่านเอง แล้วถามความคิดเห็นเขาว่าคิดอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครในเรื่อง แล้วถ้าเกิดขึ้นกับตัวเขาล่ะเขาจะคิดอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร วิธีนี้จะทำให้เขาเข้าใจด้วยตัวเองและยอมรับด้วยเหตุและผลค่ะ นอกจากนั้นยังต้องซื้อหนังสือจิตวิทยามาอ่านด้วย ช่วงที่น่าปวดหัวคือช่วงที่ลูกติดเพื่อนติดเกมส์ค่ะ เราก็จะหานิยายที่แม่ลูกทะเลาะกัน แล้วจะมีทางออกอย่างไร ลูกๆ เอาไปอ่านก็จะช่วยในการสร้างความเข้าใจในความคิดเห็นที่ต่างมุมของแม่กับลูก

เวลามีสัปดาห์หนังสือเสียเงินไปเป็นหมื่นๆ เลยค่ะ แต่ประโยชน์ที่ได้จากการอ่านนิยายคือทำให้เราเขียนหนังสือดีโดยไม่รู้ตัวคือภาษาจะสวย ส่วนใหญ่งานเขียนที่ซื้อให้ลูกอ่านจะเป็นงานของ ว.วินิจฉัยกุล และนักเขียนอีกคนที่ชอบมากคือ  โสภาค สุวรรณ ค่ะ ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556  

 นวนิยายดังๆ เช่น ฟ้าจรดทราย  ญาติกา  ดวงยิหวา ดาวหลงฟ้า เรื่องพวกนี้ ถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ทั้งนั้นเลย ท่านมีลูกสาวสามคนเหมือนกัน  จริงๆแล้วที่ชอบเพราะสไตล์การเขียนสอดแทรกการสอนมีเหตุมีผล อ่านแล้วเราซึมซับ ลูกสาวคนโตเริ่มอ่านงานเขียนของ โสภาค แล้วเหมือนกัน ลูกบอกว่าเอามาใช้เวลาสอบได้ดีมากตรงที่ได้สำนวนดี  

บางครั้งเราก็สอนลูกด้วยซีรี่นะคะ เช่น เรื่องประเภทสืบสวนสอบสวน อย่าง ซีเอสไอ / ฮาวาย ไฟว์ โอ  เรื่องพวกนี้จะสอนเรื่องภัยที่อยู่รอบตัวค่ะ   

ขนาดเราสนิทกับลูกๆ สามารถปรึกษากันได้ทุกเรื่อง ยังเคยแอบได้ยินลูกๆ พูดถึงเราว่า “แม่เหมือนแม่มด พ่อเหมือนเทวดา” คุณเมี่ยงเล่าแล้วก็หัวเราะ

ลูกสาวคนโตจะเป็นคนนิ่งๆ นิสัยเป็นผู้ใหญ่เร็ว แต่ตัวเขาเล็กมากค่ะ เขามีส่วนเหมือนพี่ค่ะ ทั้งบุคลิกและความคิดคือ อึด ลุย ยิ่งโตยิ่งเหมือนค่ะ ส่วนคนที่สองจะเป็นตัวของตัวเอง ส่วนคนเล็กนี่จะเป็นเด็กร่าเริง ค่อนข้างเชื่อมั่น แต่อ่อนไหว น้อยใจ เฉื่อยบ้างแบบสบายๆ  สนิทกับพี่สาวทั้งสองแม้วัยจะห่างกันมาก พยายามเรื่องเรียนมากคือเอาพี่สาวเป็นแบบอย่าง ช่วยเหลือตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่เป็นภาระของพ่อแม่

เวลาพี่ทำอาหาร คนเล็กจะชอบชิมให้ค่ะ พี่จะถนัดทำอาหารประเภท “ฟิวชั่นฟู๊ด” (อาหารที่ผสมผสานกันระหว่าง วัตถุดิบและสไตล์อาหารตั้งแต่ 2 สัญชาติขึ้นไป)

เวลาไปซื้อรองเท้าด้วยกันสามารถเลือกแบบวัยรุ่นได้เลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะใส่ด้วยกันได้ พี่จะสอนให้ลูกแต่งตัว ให้รู้จักใช้สี จับคู่เป็น

บางครั้งก็มีงอนกันตามประสาแม่ลูกเหมือนกันนะคะ เขาหาว่าพี่จู้จี้ อาจจะเป็นเพราะวัยเขากำลังเปลี่ยนแปลงวัย 14-15 ก็เป็นธรรมดาค่ะ ไม่เคยเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกเลยนะคะ รู้สึกมีความสุขมากกว่าค่ะ

 

คุณเมี่ยงเป็นนักสะสมตัวยง ชอบของแนววินเทจ

เมื่อถามถึงของสะสม คุณเมี่ยงเป็นนักสะสมตัวยงทีเดียว เธอชอบของแนววินเทจ ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า เครื่องประดับ  ประเภทเครื่องประดับโบราณยิ่งชอบมาก เริ่มสะสมมาตั้งแต่ก่อนแต่งงานค่ะ เวลาเครียดๆ ก็จะเอามาดูค่ะ มีบางชิ้นก็นำมาใช้งานบ้าง (วันนี้คุณเมี่ยงนำเครื่องประดับชิ้นโปรดมาให้เราดูด้วยหลายชิ้น)

ต่างหูคู่โปรด เป็นของเก่าตกทอดมา แต่ไม่ขอเปิดเผยที่มานะคะ เพื่อนเอามาให้ดูที่บ้านชอบก็เลยเอาไว้เลย บางชิ้นเป็นของยุโรปค่ะ เป็นเพชรเหลี่ยมลูกโลก

 

ที่ชอบสะสมมากๆ อีกประเภทคือ พอร์ซเลน (Porcelain)

 (Porcelain เป็นเซรามิกที่มีเนื้อสีขาว เคลือบผิวเป็นมัน โปร่งแสงมีความแข็งแกร่งเหมือนแก้วไม่ดูดซึมน้ำ เคาะมีเสียงดังกังวานส่วนผสมของเนื้อดินที่ใช้คือ ดินขาว ดินเหนียว หรือบอลเคลย์ หินไชน่าสโตน แร่ฟันม้าและแร่ควอรตซ์ ผลิตภัณฑ์พอร์ซเลนใช้ในงานได้หลากหลายทั้งในชีวิตประจำวันและงานอื่นๆ)

 

พี่มีกลุ่มเพื่อนๆ ที่เป็นนักสะสมพอร์ซเลนตัวยงเหมือนกันอยู่ในกลุ่มชื่อ “Porcelain Lover” เป็นกลุ่มสำหรับคนรัก สะสม ถ้วยชา ของตกแต่ง ส่วนมากจะมาจากยุโรป มีสมาชิกหลายพันคนค่ะ กลุ่มห้องถ้วยจะเขาชื่นชอบในเสน่ห์ของ Porcelain (พอร์ซเลน) ซึ่งงานแต่ละชิ้นน่าอัศจรรย์มากค่ะไม่ว่าจะความบางของเนื้อพอร์ซเลน อีกทั้งแฮนด์เพ้นที่เขียนลงบนถ้วยอย่างละเอียดลออ และบางชุดอายุเป็นร้อยปีขึ้นไปแต่สภาพยังคงสวยงดงาม และแต่ละชุดบอกเรื่องราวของแต่ละยุคได้ดีเลยทีเดียวค่ะ

 

ในห้องถ้วยจะมีการสลับกันโพสต์ถ้วยลงไปในเฟสบุ๊คให้เพื่อนๆได้ชมกันเหมือนมีกิจกรรมและทำให้สมาชิกได้เห็นถ้วยที่แต่ละท่านสะสมกัน บางชุดเห็นแล้วต้องตะลึงกันเลยทีเดียวคะ และก็จะมีวันที่นำพอร์ซเลนมาแลกเปลี่ยนกัน หรือ ขายแบบสนุกๆค่ะ ผู้ชายก็มีนะคะที่ชอบสะสมซึ่งแต่ละชุดเรียกว่าทั้งหายากทั้งมีประวัติด้วยค่ะ ก็เป็นความสุขอีกแบบเกิดมิตรภาพดีๆในกลุ่มคนรักถ้วยค่ะ

ตอนนี้ถือว่าชีวิตมีความสุขดีค่ะ ลูกๆ มีความรับผิดชอบ คุณสามีก็ให้การสนับสนุน คอยเป็นกำลังใจ

ในส่วนของธุรกิจก็กำลังไปได้ดี มีผู้สนใจมาขอเป็นแฟรนด์ไชนส์หลายราย คุณเมี่ยงเล่าถึงชีวิตของเธออย่างมีความสุข

คุณเมี่ยงได้ฝากข้อคิดที่อาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งปัจจุบันท่านเป็นที่ปรึกษาบริษัทด้วยค่ะ ศาสตราจารย์ภิชานแล ดิลกวิทยรัตน์ ท่านเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทานได้พูดไว้ประโยคหนึ่งคือ "เราต้องเป็นเจ้านายเงิน อย่าให้เงินมาเป็นเจ้านายเรา ไม่เช่นนั้นจะเกิดความโลภ" ประโยคนี้ล่ะค่ะที่ทำให้ได้คิดและคิดเป็น

การที่เรามัวแต่หาเงินให้เงินมาเป็นนายเรา เหมือนทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินมา

จนกลายเป็นความโลภ ยิ่งอยากสะสม อยากได้มากขึ้น

แต่ถ้าเราเป็นนายของเงิน  เราจะรู้จักใช้เงินให้ถูกวิธี 

เพื่อความสะดวกสบาย และการดำรงชีวิต

เพราะไม่รู้ว่า เราจะมีโอกาสใช้เงินสะสมบาทสุดท้ายเมื่อไหร่"

 

และนี่คือเรื่องราวชีวิตของ “ วิไลพร ชัยแสงจันทร์ ”  ผู้หญิงที่มุ่งมั่น ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำอย่างเต็มที่ แม้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ก็รับได้ ดีกว่ามานั่งเสียใจภายหลังว่าทำไมไม่ลองทำดู 


LastUpdate 30/03/2558 01:24:53 โดย : Admin
กลับหน้าข่าวเด่น
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:44 pm