การตลาด
สกู๊ป : ส้มหล่นร้านอาหารข้างทาง หลังรับอานิสงส์รถคันแรก








 จากนโยบายรถคันแรกของภาครัฐที่ประกาศใช้ตั้งแต่ต้นปี 2555 และจบลงเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2555 มีประชาชนยื่นขอใช้สิทธิ์ซื้อรถคันแรก รวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3 ล้านราย คิดเป็นเงินภาษีที่ต้องคืนทั้งสิ้น 90,500 ล้านบาท สูงกว่าตั้งเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 5 แสนราย คิดเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 30,000 ล้านบาท ทำให้มีการคาดการณ์ว่าสภาพการจราจรของเมืองไทยโดยเฉพาะในกรุงเทพฯจะเป็นอย่างไร  เพราะจำนวนรถที่กำลังจะเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 ล้านคัน จะไปวิ่งที่ไหน

สิ่งที่หลายคนคาดการณ์หลังนโยบายรถคันแรกจบลง นั่นก็คือ กำลังซื้อของผู้บริโภคอาจชะลอตัวลง เนื่องจากได้ใช้เงินส่วนหนึ่งไปกับนโยบายดังกล่าว แม้ว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา จะมีการประกาศใช้นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดเงินหมุนเวียน แต่ก็คงช่วยไม่ได้มากนัก เพราะหากจะมองไปกลุ่มที่ได้ปรับค่าแรงขึ้นเป็นวันละ 300 บาท กับกลุ่มคนที่ซื้อรถ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนหนึ่งในการผ่อนรถและถือว่ามากพอสมควร น่าจะเป็นคนละกลุ่มเป้าหมายกัน

นอกจากนี้ สิ่งที่หลายคนกังวลหลังจากนโยบายรถคันแรกจบลง นั่นก็คือ ปัญหาการทิ้งการจองและดาวน์รถ เพราะจากกำลังซื้อที่ยังไม่ดีพอที่จะทรงตัวได้ในผู้บริโภคบางกลุ่ม อาจทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว เมื่อสถานะทางการเงินไม่พร้อมที่จะเดินต่อ ก็ต้องตัดปัญหาดังกล่าวออกไป นั่นก็คือ การทิ้งเงินจองและเงินดาวน์

เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ปรับตัวดีนัก ประกอบกับมีภาระต้องใช้เงินมากขึ้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าธุรกิจหนึ่งที่น่าจะได้รับอานิสงส์จากนโยบายรถคันแรก น่าจะเป็นร้านอาหารรถเข็น หรือข้างทาง ที่น่าจะได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น เนื่องจากราคาขายไม่แพง รสชาติใช้ได้ ขณะที่คุณภาพก็รับได้ 

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารไทยในปีนี้กลุ่มที่น่าจะมีอัตราการเติบโตมากที่สุด น่าจะเป็นร้านอาหารขนาดเล็ก เพราะจากนโยบายรถคันแรก ซึ่งมีผู้บริโภคหลายคนเข้าร่วมจะทำให้มีการประหยัดค่าใช้จ่าย หันมาบริโภคอาหารราคาถูกมากขึ้น จึงทำให้กลุ่มธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็ก เช่น รถเข็น และร้านอาหารข้างทาง น่าจะมีอัตราการเติบโตดีกว่าธุรกิจร้านอาหารกลุ่มๆอื่นๆ เนื่องจากราคาอาหารไม่แพงและมีรสชาติใช้ได้

ส่วนธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและขนาดบน นั้น นางฐนิวรรณกล่าวว่า น่าจะไม่มีอัตราการเติบโตมากนัก เนื่องจากร้านอาหารกลุ่มดังกล่าว มีการขยายตัวช้ากว่าร้านอาหารขนาดเล็กที่ขยายตัวง่ายและรวดเร็ว เพราะใช้งบในการลงทุนต่ำ จะสังเกตได้ว่าร้านอาหารไทยขนาดใหญ่ เช่น เอสแอนด์พี ในแต่ละปีเปิดสาขาได้เพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าร้านอาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่จะเติบโตไม่สูงเท่ากับร้านอาหารขนาดเล็ก แต่เชื่อว่าสิ้นปีนี้ ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารจะยังมีอัตราการเติบโตได้ที่ประมาณ 10% เท่ากับปี 2555 เนื่องจากอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคต้องรับประทาน 

นอกจากนี้ จากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ก็น่าจะทำให้ผู้บริโภคระดับล่างมีกำลังซื้อที่ดีขึ้น ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยเริ่มมีกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้น จึงถือเป็นปัจจัยบวกที่ดีที่จะกระตุ้นให้ธุรกิจร้านอาหารไทยมีแนวโน้มที่ดี แม้ว่าแต่ละปีจะมีร้านอาหารบางรายปิดให้บริการไป แต่ขณะเดียวกันก็จะมีร้านอาหารเปิดใหม่เข้ามาทดแทนร้านอาหารที่ปิดให้บริการไป

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้การขึ้นค่าแรง 300 บาท จะเป็นผลดีกับกำลังซื้อของผู้บริโภค แต่หากมองในด้านของผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายเล็ก ถือว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวพอสมควร  เนื่องจากต้นทุนในการดำเนินงานจะปรับเพิ่มขึ้นมากพอควร

นางฐนิวรรณกล่าวต่อว่า การขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ ที่ประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมา มองว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจร้านอาหารมากพอสมควร โดยเฉพาะร้านอาหารในตลาดต่างจังหวัด เนื่องจากค่าแรงรวมกันต่อเดือนจะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000 บาทเท่านั้น หากมีการปรับค่าแรงเพิ่มเป็น 300 บาทต่อวัน จะส่งผลให้ค่าแรงต่อเดือนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเป็น 9,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 100% ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับค่าแรงในเขตของกรุงเทพฯและปริมาณฑล ที่ปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทก่อนหน้านี้  เพราะฐานค่าแรงต่อเดือนของกรุงเทพฯและปริมณฑลจะอยู่ที่ 7,500 บาท หลังปรับจะเพิ่มเป็น 9,000 บาท ซึ่งถือว่าเพิ่มจากฐานเงินเดือนเดิมไม่มาก

จากผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารในต่างจังหวัดแบกรับภาระที่เพิ่มสูงขึ้นไม่ไหว  เพราะการปรับค่าแรงขึ้นดังกล่าว ต้องมีการปรับทั้งระบบ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านค่าแรงของลูกจ้างแต่ละกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เพื่อสร้างความเสมอภาคในด้านของการปรับค่าแรง     

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะมีการปรับค่าแรงงานเพิ่มขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของแรงงานขาดแคลน แม้ว่าขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ เช่น ลาว และ พม่า แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของธุรกิจในภาคบริการ ซึ่งในส่วนของธุรกิจร้านอาหารปัจจุบันประสบกับปัญหาแรงงานขาดแคลนหลักหลายหมื่นคน

นางฐนิวรรณกล่าวว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นมานานแล้วพอสมควร ซึ่งในส่วนของสมาคมตอนนี้ก็ได้เริ่มมีการพูดคุยกับผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกบ้างแล้ว เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาแรงงานการขาดแคลนแรงงาน ด้วยการจัดงานสัมมนาในสถานที่ต่างๆ เมื่อรัฐประกาศนโยบายปรับค่าแรงขึ้นมาแบบนี้ ทางสมาคมก็ต้องปฏิบัติตาม สิ่งที่พยายามแก้ไขปัญหาในตอนนี้ คือ การพัฒนาแรงงานให้มีศักยภาพมากขึ้น เช่น ให้พนักงานเสิร์ฟเป็นเซลขายสินค้าด้วย จากเดิมที่ลูกค้าอาจส่งผัดกระเพราทานอย่างเดียว ก็ให้เสนอขายอาหารเมนูอื่น เพื่อดึงความสนใจลูกค้าด้วย  เพื่อสร้างมูลค่าและเพิ่มรายได้

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีธุรกิจร้านอาหารไทยประมาณ 3 แสนราย เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 10% ซึ่งกลุ่มที่มีการขยายตัวมากที่สุด คือ ร้านอาหารขนาดเล็ก  เช่น รถเข็น เนื่องจากใช้งบลงทุนน้อยและเปิดให้บริการง่าย จึงทำให้ร้านอาหารขนาดเล็กมีอัตราส่วนคิดเป็น 2 ใน 3 ของจำนวนร้านอาหารทั้งหมด ส่วนที่เหลือคิดเป็น 1 ใน 3 เป็นร้านอาหารขนาดกลางและขนาดใหญ่  โดยในส่วนของร้านอาหารขนาดใหญ่มีอัตราส่วนเพียง 10% เท่านั้น เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดมีการขยายสาขาใหม่ในแต่ละปีไม่มากนัก

แม้ว่าธุรกิจร้านอาหารจะต้องประสบกับปัญหาต่างๆนาๆ มาโดยตลอด แต่เนื่องจากอาหารไทยถือเป็นปัจจัย 4 ที่ผู้บริโภคจะต้องรับประทานเพื่อการดำรงชีวิต และอาหารไทยก็ถือเป็นอาหารประจำชาติที่คนไทยขาดไม่ได้  ดังนั้น เป้าหมายการเติบโตที่ 10% คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ที่จะออกมาช่วยกันผลักดันให้เติบโตถึงเป้าหมาย โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก ซึ่งปีนี้คงต้องมาจับตามองกันเป็นพิเศษว่าจะเป็นพี่ใหญ่คอยขับเคลื่อนธุรกิจร้านอาหารไทยให้เติบโตจริงอย่างที่คาดการณ์หรือไม่ หลังได้รับอานิสงส์นโยบายรถยนต์คันแรกของรัฐบาล

 


LastUpdate 08/01/2556 11:58:28 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:14 am