เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 4/2556 : ว่าด้วยเรื่องหนี้ โดย สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่เครดิตบูโร


 


ผมได้อ่านบทความในวันหยุดสุดสัปดาห์หลังจากที่วันเสาร์ได้ไปบรรยายให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาควิชาการเงิน ทำให้ผมได้คิดว่าน่าจะเขียนบทความที่เกี่ยวกับการเตรียมตัวของเด็กๆ น้องๆ ที่กำลังจะจบการศึกษาและกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคของการทำงานในชีวิตจริง หรือบทความนี้ก็อาจทำให้เพื่อนๆ ที่ทำงานในระยะเริ่มต้นที่เรามักเรียกว่า "น้องใหม่ในที่ทำงาน" ได้บ้าง
 
เรื่องที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ คือ การสร้างความมั่งคั่ง การสร้างความมั่งคั่งตามเป้าหมาย หากสำเร็จในเวลาที่กำหนดจะทำให้คนคนนั้นมีความ "อิสระทางการเงิน" พอมีพอกินพอใช้จ่ายจนสิ้นลมหายใจ จุดสำคัญอยู่ที่ "เริ่มก่อน-ได้เปรียบ"
 
ถ้าจะสร้างความมั่งคั่งแบบไม่เหนื่อยนั้นอาจจะต้องใช้เวลา 30 ปี เพราะคนเราจะไม่ถูกล๊อตเตอรี่กันทุกคนทุกวันหรือทุกคำขอหวยแน่ๆ ช่วงที่ดีและเหมาะที่สุด คือ อายุ 25-39 ปี เพราะถ้ามีกระบวนการ จัดการหนี้สิน เก็บเงินและลงทุนอย่างสม่ำเสมอได้สำเร็จในช่วงนี้ หลังจากนี้จะเป็นความเคยชิน ไม่รู้สึกว่าฝืนตัวเองอีกต่อไป
 
ลองคิดถึงเงินกู้ยืม ถ้าเราค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนั้นทบต้น ดอกเบี้ยจะทบทั้งต้นและดอกโตเร็วมาก จนผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง หนี้จะทบเป็นเท่าตัวและเราจะรู้สึกไม่น่าเชื่อว่าเริ่มกู้ด้วยเงินไม่เท่าไหร่และทำไมมันเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่กดทับเราได้ขนาดนั้น แต่หากเอาหลักการเดียวกันมาทำในด้านการออมการลงทุนแล้วเมื่อเวลานานเข้า ดอกผลจะทบทวีทั้งต้นทั้งดอกเช่นกัน

"คิดแบบง่ายๆ หากคนเราเกษียณอายุที่ 60 ปี คิดต่อไปว่าคงอยู่ได้อีกเพียงอายุ 80 ปี จะต้องกินข้าวปลาอาหารอย่างเดียว 300 บาทต่อวัน จะต้องมีอย่างน้อยปีละ 110,000 บาท X 20 ปีคิดเป็นเงิน 2.2 ล้านบาท ไม่รวมเจ็บไข้ได้ป่วยนะครับ หากเงินดังกล่าวเมื่อเอาไปรวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต้องมีมากกว่านี้แน่นอน ผมขออนุญาตถามว่าเราๆ ท่านๆ มีเงินสำรองกันพอหรือยัง"

กลับมาเรื่องหนี้กันบ้าง ตามกฎหมายคำว่า หนี้ หมายถึง เงินหรือภาระที่ต้องชำระให้กับเจ้าหนี้ เพราะไปเอาจากเจ้าหนี้ภายใต้ข้อผูกพันที่จะต้องมีการชำระหนี้ ดังนั้นเรื่องว่า ใครอยากจะมีหนี้ต้องดูว่า กำลังของตัวเองมีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยเพียงใด จะไปเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ ที่มาของรายได้มั่นคงสม่ำเสมอหรือมีความแน่นอนแค่ไหนเพียงพอหรือไม่
 
และที่สำคัญต้องจำไว้เสมอว่า จะก่อหนี้ไปทำอะไรต้องชัดเจนว่าเอาไปลงทุน เอาไปกิน เอาไปใช้ เอาไปเที่ยว หรือเพื่ออะไร
 
ทุกท่านต้องจำไว้ว่า ถ้าก่อหนี้แล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ สิ่งที่ตามมาก็คือความเครียด ความทุกข์ ก่อปัญหาในครอบครัว มีปัญหาทางกฎหมายตามมา เมื่อจ่ายไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ ก็จะมีพฤติกรรมเอะอะโวยวายเข้าข้างตัวเอง โทษทุกอย่าง โทษทุกคน
 
เช่น อ้างว่าจำเป็น อ้างว่าไม่ได้อ่านสัญญา อ้างว่าดอกเบี้ยแพง อ้างว่าไม่มีจะมาทวงทำไม อ้างว่าคนทวงหนี้สร้างความเดือดร้อนรำคาญ อ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม อ้างว่าผิดรัฐธรรมนูญ และท้ายสุดจะลืมไปสิ้นว่าสิ่งเหล่านั้นตัวเองเป็นคนก่อขึ้นมาทั้งสิ้น ไม่ใช่ภัยธรรมชาติ แต่เป็นการแพ้ภัยตัวเอง และปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาที่แก้ยาก เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับการหารายได้ ใครที่ก่อหนี้แบบขาดความยั้งคิดหรือขาดสติ เอาอารมณ์เป็นตัวตั้งในการสร้างหนี้แล้วจะพบว่ามีลักษณะเหมือนว่า กู้หนี้ยืมสินไปใช้ในทางที่ผิด ไม่มีเป้าหมายในชีวิต เวลาเกิดปัญหาก็ใช้วิธีการหนีหนี้ ไม่ได้คิดที่จะหาทางทำมาหากินเพื่อหาเงินมาชำระหนี้เป็นส่วนใหญ่
 
ผลของการทำแบบ นี้คือ หนีหนี้ บางรายเอาแบบ "ไม่กลัว ไม่มี ไม่หนี ไม่ให้ อยากได้ไปฟ้องเอา พอเขาฟ้องจริงๆ แล้วจะทำยังไง" หมดโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินอย่างสิ้นเชิง ต้องไปใช้เงินกู้นอกระบบ เหมือนกับวิ่งไปหาความตาย เพราะหนี้นอกระบบเขาไม่ต้องพึ่งศาลยุติธรรม เขาใช้ระบบศาลเตี้ย
 
วันนี้ทุกท่านที่เริ่มทำงาน กำลังจะทำงาน ท่านมีทางเลือกว่าจะไปสวรรค์หรือทุกข์ในนรกทั้งที่ยังมีชีวิตครับ

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ม.ค. 2556 เวลา : 22:43:49
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:43 pm