เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กดดัน ธปท. "ลดดอกเบี้ย" สกัดบาทแข็ง


 

 

 

มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  เพื่อหวังสกัดกั้นเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาทำกำไรในประเทศไทย  เริ่มกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง  จากการที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ  เพื่อกระตุ้นให้เงินไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศได้ง่ายขึ้น  แต่กระแสเงินทุนต่างชาติก็ยังถาโถมเข้ามาอย่างไม่หยุดยั้ง   

 

โดยมุมมองของ ผู้ว่าการ ธปท. "ประสาร ไตรรัตน์วรกุล"   เชื่อว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2.75%  ถือ เป็นอัตราที่สนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจได้ดี  เห็นได้จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ผ่านมาได้มีการปรับประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากเศรษฐกิจได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคและการลงทุนที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง   จึงไม่จำเป็นต้องมีการลดดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลายลง

แต่การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.  ก็ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่ได้  เพราะการพิจารณาของ กนง.เป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจการเงิน และปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปของเศรษฐกิจในขณะนั้น  ซึ่ง กนง.จะมีการประชุมตามปกติครั้งต่อไปในวันที่ 20 ก.พ.ที่จะถึงนี้

ส่วนการตั้งข้อสังเกตุว่า  ดอกเบี้ยไทยสูงกว่าสหรัฐฯ และญี่ปุ่น  จนทำให้เกิดภาวะเงินไหลเข้านั้น  ผู้ว่ าธปท. มองว่า  ปัจจัยที่จูงใจให้มีเงินไหลเข้า  มาจากศักยภาพของเศรษฐกิจประเทศนั้นที่มีโอกาสในการเติบโต  รวมถึงนักลงทุนจะพิจารณาในเรื่องความมั่นคง เสถียรภาพและความเสี่ยง โดยไม่ได้มองเรื่องดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหลัก

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับลดอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดเมื่อ ตุลาคม 2555  เพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนมาก

 

ขณะที่มุมมองของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง  กลับเห็นว่า สถานการณ์เงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลกระทบต่อสภาวะการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับการส่งออก เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งกลไกหนึ่งที่จะดูแลเรื่องค่าเงินบาทนั้นสามารถดำเนินการได้  โดย กนง. จะต้องพิจารณาดอกเบี้ยนโยบายให้รอบคอบและเหมาะสม

ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็มีความเห็นเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ขัดแย้งกัน  เช่น

นายพชรพจน์ นันทรามาศ  นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิ จ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน )(SCB)  ที่ประเมินว่า  มาตรการ ธปท.จะนำมาใช้รับมือกับเงินทุนไหลเข้า มี 2 มาตรการ ได้แก่ การผ่อนคลายเงินทุนเคลื่อนย้าย เพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศ สร้างสมดุลระหว่างเงินทุนไหลเข้า-ออก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ส่วนของอัตราผลตอบแทนในประเทศกับต่างประเทศน้อยลง รวมทั้งแนวทางการเข้าแทรกแซงเงินบาทและดูดซับสภาพคล่อง  ซึ่งจากภาวะที่อัตราเงินเฟ้อไม่อยู่ในระดับที่มีแรงกดดันในขณะนี้ จึงคาดว่า ในช่วงครึ่งปีแรก ธปท.จะปรับลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สอง ครั้งละ 0.25% มาอยู่ที่ 2.25%

 

ส่วน ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ เศรษฐกรอาวุโส บล.ทิสโก้   มองว่า  ในอดีตการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงต่อเนื่อง  และที่ กนง.มีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 2.75% ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น  ซึ่งเมื่อมีเงินทุนไหลเข้ามา ก็ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจริง ดังนั้นมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยอย่างเดียว จึงเห็นว่า การใช้ดอกเบี้ยไม่ใช่เครื่องมือทั้งหมด ต้องดูอย่างอื่นด้วย

การตัดสินใจเลือกใช้แนวทางในการดูแลค่าเงินบาท  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน ธปท. และ กนง.คงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ  เพราะไม่ว่าจะใช้แนวทางใดก็ย่อมมีทั้งผลดีและผลเสียต่อเศรษฐกิจ 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ก.พ. 2556 เวลา : 09:38:56
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 11:29 pm