เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 6/2556 : มุมมองความเป็นห่วงเรื่องหนี้


 

บทความวันนี้ของผม อยากจะเริ่มด้วยการนำเอาข้อคิดความเห็นของผู้บริหารหลายๆ ท่านที่ออกมาให้ความเห็นถึงความเป็นห่วงหนี้ประเภท บ้าน บัตร รถ และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เกิดกับประชาชนคนเดินดิน กินข้าวกล่องกับไม่กินข้าวกล่อง อาการกระตุกให้คนที่ก่อหนี้หมาดๆ มีหนี้อยู่เดิมและคิดจะเป็นเพิ่ม และคนที่จะคิดเป็นหนี้ครั้งแรกในชีวิต ได้คิดได้ไตร่ตรองให้รอบคอบ ยิ่งเป็นเรื่องทางราชการบอกมีสิทธิแล้วยิ่งเพิ่มความอยาก บางครั้งกิเลสบังตาไม่คิดเรื่องความสามารถว่าจะทำได้ตามเงื่อนไขหรือไม่ ไม่ใส่ใจกับหน้าที่ที่จะต้องทำจึงจะได้สิทธิประโยชน์ บางครั้งคิดไปตายเอาดาบหน้า ผมกลัวใจจริงๆ กับท่านเหล่านี้ว่าจะได้ตายจริงๆ สมใจอยาก ประเด็นคือความเดือดร้อนมันจะแผ่กระจายไปยังคนที่แวดล้อมรอบข้าง เราลองมาอ่านมุมมองของท่านเหล่านี้กันนะครับ


1. คุณชัยพล กฤตยาวาณิชย์ ผู้บริหารจากบริษัทบัตรกรุงไทย ระบุไว้น่าสนใจในบทความที่ท่านเขียนว่า "ข้อเท็จจริงที่ผมพบจากการวิจัย ที่เคยทำในเวลาไล่เลี่ยก็สอดคล้อง เพราะขณะนี้คนไทยมีบัตรสินเชื่อที่ใช้กดเงินเพิ่มจำนวนมากขึ้นผมเองก็คิดเล่นๆ ว่าอีกหน่อย หากเปิดกระเป๋ามาคนจะถือบัตรประเภทนี้กันยกใหญ่ ไม่แพ้บัตรเครดิตที่นิยมพกกันหลายๆ ใบ แล้ววัฏจักรก็จะคล้ายๆ ตรงที่คนจะหมุนใช้ พอบัตรไหนเต็ม ก็หยิบอีกบัตรมากดและไปจ่าย สลับกันไป หรือมีการหยิบใช้ตามโปรโมชั่นส่วนลด หรือสิทธิพิเศษที่แต่ละยี่ห้อกระตุ้นใครที่มีการบริหารจัดการที่ดี มีวินัยการเงิน ก็ไม่น่ากลัวอะไร แต่หากใครบริหารจัดการที่แน่นพอไม่ระมัดระวังหรือเข้าข่ายไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา ก็อาจพลั้งเผลอเข้าข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะก่อภาระหนี้จนเกินตัวจนสุดท้ายไม่มีเงินจ่าย กลายเป็นหนี้เสีย" ต้องอย่าลืมว่าบนโลกนี้มีตัวแปรที่ไม่แน่นอนเต็มไปหมด ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ อะไรๆ ก็เป็นไปได้ทั้งนั้น

หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และเราไม่เตรียมตัวเตรียมเสบียงให้พร้อม ชีวิตของเราก็ต้องสะดุด หรือชะงัก "ลำพังตัวเองคนเดียวไม่พอ หากมีลูก มีครอบครัวมีพ่อมีแม่ ทุกๆ คนก็เดือดร้อน และลำบากตามกันสัญญาณความเสี่ยง...ไม่เชื่อก็อย่าหลบลู่"


2. ท่านผู้บริหารจาก ลีสซิ่งกสิกรไทย กล่าวว่า เมื่อมีสัญญาณหนี้เสียรถคันแรกส่งกลิ่น ธุรกิจลิสซิ่งก็สร้างแคมเปญป้องกันความเสี่ยงโดยให้ลูกค้าโปะค่างวดล่วงหน้าหลังได้รับเงินคืนภาษีรถคันแรกในเดือนที่ได้รับคืนภาษีกลับมา หวังลดความเสี่ยงปัญหาหนี้เสีย แลกกับการให้ส่วนลด หรือมีดอกเบี้ยพิเศษเพราะคนที่มากู้ หากดาวน์น้อย ผ่อนนาน มีรายได้ต่ำกว่าหมื่นบาทต่อเดือน รถเป็นอีโคคาร์ประมาณหกแสน ลืมคิดคำนวณค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าโสหุ้ยจิปาถะ ประเภทยอมกินมาม่าสามมื้อแลกได้ขับรถคันแรกไปโชว์เพื่อนที่ทำงาน "เรามองว่าเป็นแนวคิดที่ดีและน่าจะมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค เพราะเป็นการส่งเสริมให้ลูกค้าลดภาระหนี้ของตัวเองลง ล้อกับนโยบายแบงก์ชาติที่กังวลเรื่องหนี้ครัวเรือนพุ่งขึ้นสูง ขณะที่ธุรกิจเอง ก็ลดความเสี่ยงของโอกาสที่จะเป็นหนี้เสีย ขณะเดียวกันเราก็สามารถนำเงินคืนส่วนนี้ไปหมุนปล่อยสินเชื่อรายใหม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย ลดภาระต้นทุนการระดมเงินใหม่ สอดคล้องกับกลยุทธ์ของเราที่ต้องการปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มขึ้น แต่ควบคุมมูลค่าพอร์ตเอาไว้ไม่ให้ขยายมากเกินไป"

3. ท่านผู้บริหารจาก ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า ธนาคารจะเน้นให้ความรู้ด้านการบริหารเงินที่ได้รับคืนภาษี เพื่อให้ลูกค้าสามารถจัดการภาระทางการเงินได้จนครบเทอม การผ่อนชำระโดยจะให้คำแนะนำว่าส่วนแรกลูกค้าควรจะนำไปใช้ลดภาระสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล รวมถึงสินเชื่อบ้านที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเช่าซื้อที่เป็นอัตราคงที่ ส่วนที่สอง แนะนำให้เก็บไว้เป็นสภาพคล่องและเงินออม เพื่อให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการภาระการเงินและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เพื่อให้ชำระได้จนครบเทอมสินชื่อ


เอาแค่ข้อมูลจาก 3 ท่านที่ว่าบวกกับราคาของกินของใช้ที่มีแนวโน้มเริ่มขยับขึ้นรายรับ รายจ่ายของเราๆ ท่านๆ ยัง "เอาอยู่" หรือไม่ เช็คสุขภาพทางการเงินในเดือนแห่งความรักที่กำลังจะมาถึงได้แล้ว.... แล้วก็ควรเลิกประเพณีซื้อดอกกุหลาบดอกละเป็นร้อย หลายๆ ร้อยให้กันได้แล้ว เรายังมีคนที่ยากจนอยู่มากมายที่รอความรัก ความช่วยเหลือจากคนที่มีเกินครับ


สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ก.พ. 2556 เวลา : 16:51:57
16-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 16, 2024, 8:40 pm