เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยคาดประชุมกนง. 20 ก.พ.นี้ มีโอกาสลงดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%


บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ " ประชุม กนง.วันที่ 20 ก.พ.มีโอกาสในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย"

ประเด็นสำคัญ
 
•    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% 
•    โดยเฉพาะหากพิจารณาแล้ว เห็นว่าประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่อาจกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีอยู่ และแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังไม่น่ากังวล
•    อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุม กนง.รอบนี้ คงต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและโลก ซึ่งจะมีอิทธิพิลต่อการตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมรอบที่สองของปี 2556 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 มีโอกาสมากขึ้นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยงที่การแข็งค่าของเงินบาทอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดโอกาสในการทำกำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศ (Carry Trade) อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังคงสามารถขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ก็มีโอกาสเช่นกันที่ทาง กนง. จะรอดูแนวโน้มเศรษฐกิจต่อไปอีกระยะ ก่อนจะมีการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า

?    กนง. คงจะนำประเด็นเรื่องผลกระทบของค่าเงินต่อระบบเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณา
      
เนื่องจากภาคการส่งออกเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก โดยในปี 2555 ที่ผ่านมาสัดส่วนของภาคการส่งออกคาดว่าจะมีขนาดใหญ่ประมาณ 65% ของ GDP ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อทิศทางการส่งออก ผ่านความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะหากเงินบาทมีการแข็งค่าอย่างรวดเร็วเกินไป และแข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งทางการค้า ก็อาจจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันและการส่งออกของไทย และนำไปสู่ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
      
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2556 ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน (วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556) เงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.8% ซึ่งเป็นผลมาจากกระแสเงินทุนไหลเข้า ทั้งนี้ เป็น เงินทุนไหลเข้าในส่วนของตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นรวมกันอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ หากพิจารณาส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลไทยกับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง อาจดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไร เนื่องจากสามารถที่จะได้รับกำไรทั้งจากดอกเบี้ยที่สูงกว่า รวมทั้งกำไรจากค่าเงินบาทที่แข็งค่า (Carry Trade)

สำหรับข้อดีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ท่ามกลางแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศที่ยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายดังกล่าวนั้น จะเป็นการช่วยลดต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือน ภายใต้สภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง โดยสหรัฐฯ ซึ่งยังคงเผชิญกับสถานการณ์ที่จะต้องมีการปรับลดรายจ่ายทางการคลัง อันอาจนำไปสู่การชะลอตัว/หดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ขึ้นกับบทสรุปท้ายสุดของรายละเอียดการปรับลดรายจ่ายทางการคลัง) ในขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองและการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปก็ยังมีความไม่แน่นอน   นอกจากนี้ ผลทางอ้อมของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะช่วยลดช่องว่างในการเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

?    ในขณะที่ กนง. บางท่านอาจให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังคงบ่งชี้ถึงพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ตามเครื่องชี้เศรษฐกิจโลกที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น ซึ่งคาดว่ากรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) บางท่านอาจมองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำนั้น อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการเงินและเศรษฐกิจในระยะยาว โดยอัตราดอกเบี้ยแท้จริงที่ติดลบจะกระทบต่อการออมของภาคครัวเรือน และเพิ่มความเสี่ยงด้านปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่ง กนง.ได้แสดงความกังวลไว้ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งก่อนหน้า รวมทั้งอาจก่อให้เกิดฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ ได้

?    ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบายคงจะขึ้นอยู่กับมุมมองของเสียงส่วนใหญ่ใน กนง.
    คณะกรรมการนโยบายการเงินนั้นประกอบด้วยกรรมการทั้งหมด 7 ท่าน อันประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 ท่าน ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีการพิจารณาปัจจัยภาวะเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่จะมีผลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อระบบเศรษฐกิจ ณ เวลานั้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุม กนง. ว่าจะไปในทิศทางใด ทั้งนี้ หาก กนง.พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผลกระทบจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท เป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่มีความเร่งด่วน ก็มีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อช่วยประคับประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ให้เป็นไปตามที่คาด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง  ในขณะเดียวกัน ก็อาจพิจารณาถึงความจำเป็นที่ทางการต้องใช้เครื่องมืออื่นๆ ในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น การกำกับดูแลการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อภาคครัวเรือน
   
ในอีกด้านหนึ่ง หาก กนง.พิจารณาแล้ว เห็นว่า ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินควรเป็นไปเพื่อรักษาเถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่า ประกอบกับ ธปท.ยังคงมีเครื่องมือต่างๆ ในการจัดการค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าซื้อขายเงินบาทในตลาดเงิน หรือการผ่อนคลายเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้กระแสเงินทุนไหลออกมีความสมดุลกับกระแสเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น ก็อาจลดทอนแรงกดดันในการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมครั้งนี้
   
อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กนง. รอบที่สองของปี 2556 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556     ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า มีโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะให้น้ำหนักกับประเด็นเงินทุนไหลเข้า ค่าเงินบาท และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งอาจจะนำไปสู่มติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25%


?    ผลต่ออัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ไทย: การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่ในเกณฑ์ดีอยู่ น่าจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันด้านเงินฝากต่อเนื่อง
      
เนื่องจากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม มักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย  ดังนั้น ในกรณีที่ กนง.มีมติให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็น่าที่จะนำมาสู่การขยับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในทิศทางที่สอดคล้องกัน  อันอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ได้บางส่วน  เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องรับรู้ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งสินเชื่อส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ในทันที  ขณะที่ ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างธนาคารพาณิชย์ และระหว่างธนาคารพาณิชย์กับช่องทางการออมอื่นๆ รวมถึงแนวโน้มสินเชื่อที่ยังเติบโตจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์อาจเผชิญข้อจำกัดในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรืออาจทำให้ยังต้องแข่งขันนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษที่อัตราดอกเบี้ยจูงใจ เพื่อรักษาสภาพคล่องและส่วนแบ่งตลาดไว้  นอกจากนี้ ยังต้องจับตาแผนการลงทุนจากภาครัฐมูลค่า 2 ล้านล้านบาทว่าจะทยอยเกิดขึ้นในรูปแบบใดและช่วงเวลาใด เพราะอาจเป็นอีกปัจจัยที่กระทบสภาพคล่องในระบบธนาคารได้


 


LastUpdate 17/02/2556 14:25:31 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:47 pm