การตลาด
สกู๊ป : "อาร์เอส" รีแบรนด์ "สกาย-ไฮฯ" สู่ "คูลลิซึ่ม" ย้ำผู้นำสื่อวิทยุ


 

 
 
 
หลังจากบริษัท อาร์เอส  จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจสื่อวิทยุภายใต้บริษัท  สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค  จำกัด มาร่วม 15 ปี  ปัจจุบันอาร์เอสถือว่าประสบความสำเร็จกับธุรกิจสื่อวิทยุเป็นอย่างดี  เนื่องจากคลื่นคูล ฟาเรนไฮท์ 93  สามารถนั่งแท่นเป็นผู้นำอันดับ 1 ของตลาดคลื่นวิทยุเพลงไทย ด้วยการมีจำนวนผู้ฟังรวมทุกช่องทางมากกว่า 3 ล้านคน

แต่จากสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามพฤติกรรมของผู้บริโภค  ส่งผลให้ผู้ประกอบการคลื่นวิทยุต้องมีการปรับตัวตาม  ซึ่งอาร์เอสก็เช่นกัน  เพื่อรับมือการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงปีนี้ อาร์เอส  เลยออกมาประกาศกร้าวของรีแบรนด์ธุรกิจสื่อวิทยุจาก “สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค”  เป็น “คูลลิซึ่ม”

การเปลี่ยนชื่อบริษัทมาเป็น บริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในธุรกิจสื่อวิทยุของอาร์เอส  เพราะถือเป็นการก้าวข้ามกรอบการดำเนินธุรกิจในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา  เนื่องจาก อาร์เอส ไม่ต้องการขีดเส้นจำกัดของธุรกิจ ภายใต้ชื่อ "สกาย-ไฮ เน็ตเวิร์ค" แค่ธุรกิจที่ทำสื่อวิทยุเท่านั้น  แต่ต้องการขยายแบรนด์ไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ

นอกจากนี้กลยุทธดังกล่าวยังเป็นการข้ามข้อจำกัดต่างๆ ของความเป็น "Traditional Media"  ซึ่งจะมาพร้อมกับการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดใหม่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของอาร์เอสผสมผสานกับแผนธุรกิจในปัจจุบัน จนเกิดกลยุทธที่เรียกว่า  "EMOSPERIENCE"  ซึ่งมาจาก Emotion + Experience นั่นคือ  การสร้างอารมณ์ หรือประสบการณ์และอารมณ์ร่วมของผู้บริโภคกับแบรนด์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในแบรนด์

 
 
 
นายคมสันต์ เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายพาณิชย์ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า  บริษัทจะใช้โมเดลการดำเนินธุรกิจที่มีแพลตฟอร์มหลากหลาย ตามพฤติกรรมของผู้ฟังที่เปลี่ยนแปลงไปนำมาเชื่อมต่อไปสู่การเปิดตัวสถานีเพลงสากลน้องใหม่ภายใต้ชื่อ  "COOLcelsius 91.5"  (คูล เซลเซียส) ซึ่งถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของสถานีเพลงในเมืองไทย ที่มีการนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากต่างประเทศมาออกอากาศ

ขณะเดียวกันก็จะมีการรายงานอันดับเพลง American Top 40 โดยพิธีกรชื่อดังอย่าง  "ไรอัน ซีเครสท์"  ซึ่งจะส่งตรงจากฮอลลีวู้ดสู่ประเทศไทยและออกอากาศพร้อม 150 สถานีทั่วโลก

นอกจากนี้ อาร์เอส  ยังมีการปรับเปลี่ยนชื่อผู้จัดรายการใหม่จากเดิมเรียก “PJ” (Program  jockeys ) มาเป็น “COOLJ” (COOL jockeys)  ขณะที่  COOLlatitude  (คูล ละติจูด) ยังคงเป็นธุรกิจที่สามารถต่อยอดความสำเร็จมาจากการจัดทริปท่องเที่ยวให้กับผู้ฟังของรายการ  ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าคอร์ปอเรทให้ดีไซน์ทริปท่องเที่ยวให้เป็นอย่างดี

นายคมสันต์  กล่าวต่อว่า  ในปีนี้บริษัทยังได้มีการเพิ่มคลื่นวิทยุอีก 1 คลื่น ภายใต้ชื่อ  คูลเซลเซียส 91.5  ซึ่งได้ทดลองออกอากาศมาตั้งแต่ต้นเดือนม.ค.ที่ผ่านมา  เป็นคลื่นเพลงสากลที่มีโพซิชั่นเดียวกับคูลฟาเรนไฮท์  คือ เป็นคลื่นเพลงที่เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยทำงานอายุ 25 ปีขึ้น  ออกอากาศทุกวันเสาร์เวลา 14.00-18.00น. 

หลังจากออกอากาศ อาร์เอส มั่นใจว่าภายใน 2 ปีจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในกลุ่มเพลงฟังสากล จากปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มเพลงสากลในตลาดอยู่ประมาณ  5 คลื่น ซึ่ง 1 ใน 5  เป็นคลื่นคูลเซลเซีย  โดยในส่วนของปีแรก  อาร์เอส คาดว่าคลื่นคูลเซลเซียส  จะสามารถดำเนินธุรกิจคืนทุนและมีกำไร

สำหรับภาพรวมของการดำเนินธุรกิจสื่อวิทยุในปีนี้  อาร์เอส  มีแผนที่จะใช้งบประมาณ  120 ล้านบาท  ในการทำกิจกรรมการตลาดเน้นการสร้างประสบการณ์และอารมณ์ร่วมของผู้บริโภคกับแบรนด์แบบ 360 องศา  เพื่อให้ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ และทุกช่องทางการทำตลาดที่จะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย  ซึ่งช่องทางใหม่ที่ อาร์เอส ได้เพิ่มขึ้นมา  เพื่อทำกิจกรรมทางการตลาดสื่อวิทยุในปีนี้นั่นก็คือ  เว็บไซต์

 
 
 
 
เว็บไซต์คูลฟาเรนไฮท์ อาร์เอสได้มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาควบคู่ไปกับการเปิดตัวแอพลิเคชั่นบนไอโฟน แอนดรอยด์  และบีบี   ซึ่งภายในเดือน มี.ค. นี้  อาร์เอสก็มีแผนที่จะเพิ่มช่องทางการทำตลาดในรูปแบบดังกล่าวเข้าไปในส่วนของคลื่นคูลเซลเซียสอีกด้วย  เพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงสื่อวิทยุได้ง่ายขึ้น

ในปีแรกของการทำกิจกรรมทางการตลาดผ่านช่องทางเว็บไซต์  อาร์เอสคาดว่า  จะมีรายได้จากโฆษณาบนสื่อออนไลน์ที่ประมาณ 10 ล้านบาท   ซึ่งหลังจากเปิดตัวเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นของคลื่นคูลฟาเรนไฮท์  เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา  ขณะนี้มีฐานผู้ฟังผ่านช่องทางออนไลน์แล้วประมาณ  1.5 ล้านคนต่อเดือน และฟังผ่านแอพลิเคชั่นราว 8 แสนคน

หลังจากปรับแผนเชิงรุกแบบ 360 องศา อาร์เอสคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้จากธุรกิจสื่อวิทยุไม่ต่ำกว่า  600 ล้านบาท โตจากปีที่ผ่านมา 50%  โดยรายได้หลักยังคงมาจากคลื่นคูลฟาเรนไฮท์ 450 ล้านบาท  ซึ่งเพิ่มขึ้นจากจากปีก่อนที่มีรายได้ 380 ล้านบาท  ขณะที่คลื่นคูลเซลเซียส  คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 130 ล้านบาท  และที่เหลืออีกประมาณ  20  ล้านบาท มาจาก คูลละติจูด กับการดีไซน์ทริปการท่องเที่ยวให้กับลูกค้า

สำหรับภาพรวมธุรกิจสื่อวิทยุในปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะอยู่ในสถานะค่อนข้างอิ่มตัว หรือมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงปีก่อนที่ประมาณ 6%  มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 6,300 ล้านบาท  เนื่องจากผู้บริโภคมีสื่อทางเลือกอื่นๆมากขึ้น

จากข้อมูลของนีลสันในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา  พบว่า  คลื่นวิทยุเอฟเอ็มในเขตกรุงเทพฯที่มีกลุ่มผู้ฟังมากเป็นอันดับ 1 คือ 93 คูลฟาเรนไฮท์  ครองส่วนแบ่งการตลาดที่ประมาณ  52.3%  ตามด้วยคลื่น ซี๊ดส์ 97.5  ครองส่วนแบ่งการตลาด  13.8% 3.  คลื่นเวอร์จิ้นฮิตส์ 95.5   ครองส่วนแบ่งการตลาด   11.9% 4  คลื่น.103.5 เอฟเอ็มวัน  11% คลื่น106.5 กรีนเวฟ  4.6% และคลื่น อี เอฟเอ็ม 2.8% 
 

LastUpdate 06/03/2556 11:53:10 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 5:46 pm