เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยชี้ สภาพคล่อง เดือน ก.พ.56 ตึงตัว แบงก์แข่งระดมเงินฝากร้อนแรง


บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "สภาพคล่อง ก.พ.56 ตึงตัวขึ้น...ท่ามกลางอุณหภูมิการแข่งขันระดมเงินฝากที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปี" ระบุ


ประเด็นสำคัญ
•    สภาพคล่องเดือนก.พ.2556 ตึงตัวขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นเดือนม.ค.2556 ดังจะเห็นได้จากอัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 89.22 จาก ณ สิ้นเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 88.35 ตามการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่นำผลรวมของเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม
•    ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนก.พ.2556 อยู่ที่ 8.75 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราเติบโตร้อยละ 14.85 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ เงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม อยู่ที่ระดับ 10.17 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 11.14
•    แนวโน้มสภาพคล่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 มีความชัดเจนว่าอาจตึงตัวขึ้นจากหลายปัจจัยกดดัน ทั้งการเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ ความต้องการระดมทุนของภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนความไม่แน่นอนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งภาพดังกล่าวผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ในสนามการแข่งขันระดมเงินฝากที่เข้มข้น เพี่อเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่องไว้รองรับการดำเนินธุรกิจหลักตั้งแต่เนิ่นๆ พร้อมรักษาฐานลูกค้าไว้กับธนาคาร

 

   ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง  (เบื้องต้น)  ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เทียบกับสิ้นเดือนมกราคม 2556 พร้อมประเมินแนวโน้มสภาพคล่องในระยะถัดไป

สภาพคล่องเดือน ก.พ.2556 ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย...จากการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่เหนือกว่าผลรวมของเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม

?    ยอดเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้สุทธิ ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 มีจำนวน 8.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.01 แสนล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 8.65 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 (นำโดยการเพิ่มขึ้นของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นหลัก) หรือเติบโตร้อยละ 14.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ คาดว่า การขยายตัวของเงินให้สินเชื่อในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น น่าจะมีส่วนผสมมาจากทั้งความต้องการสินเชื่อของภาคครัวเรือนตามโมเมนตัมทางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดี และความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเพื่อเงินทุนหมุนเวียน ภายใต้สถานการณ์ต้นทุนผู้ประกอบการที่เร่งตัวขึ้นตามราคาพลังงานและค่าจ้างแรงงาน  ขณะที่หากเทียบกับ ณ สิ้นปี 2555 แล้ว พบว่า สินเชื่อเพิ่มขึ้น 1.55 แสนล้านบาท หรือเติบโตราวร้อยละ 1.80 จากสิ้นปีก่อน

?    ด้านยอดเงินฝาก มีจำนวน 9.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.38 หมื่นล้านบาท จากยอดคงค้างที่ 9.35 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 หรือเติบโตร้อยละ 25.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (ซึ่งมีตั๋วแลกเงินเป็นหนึ่งในองค์ประกอบ) มีจำนวน 7.85 แสนล้านบาท ลดลง 1.94หมื่นล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการครบกำหนดของตั๋วแลกเงินที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของหุ้นกู้ในบางธนาคาร ทั้งนี้ เมื่อรวมเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืมแล้ว พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 10.17 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.44 หมื่นล้านบาท จากระดับ 10.15 ล้านล้านบาท ในเดือนมกราคม 2556 หรือเติบโตราวร้อยละ 11.14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

?    สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนก.พ.56 ตึงตัวขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่มากกว่าผลรวมของเงินฝากกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม ดังสะท้อนให้เห็นผ่าน
?    อัตราส่วนสินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (Gross Loans to Deposits and Borrowings) ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาที่ระดับร้อยละ 89.22 จาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 88.35 และเพิ่มขึ้นจากระดับร้อยละ 88.28 ณ สิ้นปี 2555
?    สอดคล้องกับสินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง  ที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.58 ล้านล้านบาท ลดลง 4.39 หมื่นล้านบาท จาก ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 โดยเป็นผลจากการลดลงขององค์ประกอบสภาพคล่องด้านเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น ขณะที่ เงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ (รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิ) และเงินสดปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ หากไม่รวมเงินลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วมสุทธิแล้ว สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จะอยู่ที่ระดับ 2.43 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ลดลงเช่นกันจาก 2.48 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556

 


แนวโน้มสภาพคล่องในตลาดการเงินตึงตัวขึ้น...ท่ามกลางการแข่งขันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์เพื่อรับมือกับหลากหลายปัจจัยกดดัน
   
    สำหรับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คงต้องยอมรับว่า สัญญาณการแข่งขันระดมเงินออมทั้งจากธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง และจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจเข้มข้นขึ้นเร็วกว่าที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินไว้ ซึ่งคาดว่าคงเป็นผลจากการเตรียมความพร้อมด้านสภาพคล่องไว้รองรับการดำเนินธุรกิจหลักตั้งแต่เนิ่นๆ ท่ามกลางแนวโน้มสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์และระบบการเงินไทยในช่วงครึ่งหลังของปีที่มีความชัดเจนว่าอาจตึงตัวขึ้นจากหลากหลายปัจจัยกดดัน ซึ่งอาจสรุปได้ดังนี้
•    การเติบโตของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่คงรักษาแนวโน้มการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งความต้องการสินเชื่อของลูกค้ารายย่อยที่ยังขยายตัวได้ดีตามการส่งมอบรถยนต์คันแรกรวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือน และความต้องการสินเชื่อจากลูกค้าผู้ประกอบการทั้งเพื่อการลงทุนและเพื่อเงินทุนหมุนเวียน ซึ่งสอดล้อกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม
•    ความต้องการระดมทุนของช่องทางอื่นๆ ทั้งความต้องการระดมทุนของภาครัฐ ตามแผนบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2556 การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนเพื่อดำเนินการตามนโยบายอื่นๆ ของทางการ ผ่านการออกพันธบัตรรวมถึงการใช้กลไกสนับสนุนผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ตลอดจนความต้องการระดมทุนของภาคเอกชน ผ่านการออกตราสารทางเลือกอื่นๆ อาทิ การออกหุ้นกู้ การเสนอขายหุ้นทุน ตลอดจนการออกกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
•    ความไม่แน่นอนของกระแสเงินทุนไหลเข้าและดุลบัญชีเดินสะพัด อาจมีผลต่อเม็ดเงินใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบการเงินไทย ทั้งนี้ แม้ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาจะมีกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพื่อเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ดี เม็ดเงินดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อการลงทุนระยะสั้นและมีการปรับตัวสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้น จึงมีผลอย่างจำกัดต่อความต้องการระดมเงินทุนระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ ขณะเดียวกัน เม็ดเงินใหม่สุทธิที่จะไหลเข้าประเทศมาเป็นสภาพคล่องในระยะยาวจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยก็คงมีทิศทางที่ชะลอลงเช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากสถานการณ์ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งมีผลกดดันการส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการไทย
   
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยกดดันสภาพคล่องต่างๆ ข้างต้นที่ผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เข้าสู่สนามแข่งขันระดมเงินฝากเร็วกว่าคาดแล้ว อีกส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวของหลายธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดด้านเงินฝาก ท่ามกลางการโยกย้ายเงินออมสู่การลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ของผู้ออมบางส่วนในจังหวะที่ตลาดทุนไทยปรับตัวอย่างคึกคักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพการแข่งขันเพื่อระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์คงเป็นไปในทิศทางที่ต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นจนถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ทั้งการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากที่หลากหลายตามความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม พร้อมกับให้ผลตอบแทนที่จูงใจ เพื่อรักษาจุดยืนทางการตลาดและรักษาสภาพคล่องให้เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจหลักตลอดทั้งปี 2556 ท่ามกลางสภาพคล่องในตลาดการเงินที่คงตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2556

อย่างไรก็ดี ธนาคารแห่งประเทศไทยยังมีเครื่องมือบริหารจัดการสภาพคล่องในระบบการเงิน โดยเฉพาะพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปัจจุบันมียอดคงค้างราว 3.07 ล้านล้านบาท (โดยจะครบกำหนดในปีนี้กว่า 1.96 ล้านล้านบาท) ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยประคับประคองให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับดอกเบี้ยนโยบายและการดำเนินการรักษาเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของทางการ

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 มี.ค. 2556 เวลา : 17:15:10
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 12:41 am