การตลาด
สกู๊ป : ฟาสต์ฟู้ดแข่งเดือดงัดเมนูใหม่ราคาประหยัดเพิ่มยอดขาย


                จากชีวิตที่เร่งรีบของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน  ส่งผลให้อาหารจานด่วนหรือ ฟาสต์ฟู้ด เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตผู้บริโภคมากขึ้น  สังเกตได้จากอัตราการเติบโตของธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดในแต่ปีละที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 15-20%

ปัจจุบันภาพรวมตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ดมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 20,000 ล้านบาท และปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตในระดับเดียวกับปีทีผ่านมาคือ 15-20%  เนื่องจากผู้ประกอบการในตลาดยังคงมีการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันก็มีการเปิดตัวเมนูใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

นอกจากนี้การจัดกิจกรรมทางการตลาด และการทำโปรโมชั่นสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี  ไม่ว่าจะเป็นการลดราคาสินค้า  หรือซื้อ 1 แถม 1  ถือเป็นอีกแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคให้ความสนใจและเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่  จึงหันมาใช้กลยุทธทำโปรโมชั่นเป็นกลยุทธหลักในการทำตลาด  โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวอย่างตอนนี้

จากนโยบายรถคันแรกของภาครัฐที่ประกาศใช้ในปีที่ผ่านมา  ถือว่าได้ผลการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี  สังเกตได้จากยอดการจองรถยนต์ที่เกือบทะลุล้าน  แต่จากกำลังซื้อของผู้บริโภคบางกลุ่มที่ไม่สูงพอที่เข้าร่วมนโยบายดังกล่าว  เริ่มส่งผลในด้านลบ นั่นก็คือ  การทิ้งเงินจอง  และบางรายก็เริ่มหันมาประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น  เพราะต้องใช้เงินส่วนหนึ่งไปกับการผ่อนรถ

ผู้ประกอบการหลายรายออกมาวิเคราะห์ว่า   กลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มชะลอกำลังซื้อสูง คือ กลุ่มที่มีเงินเดือนต่ำกว่า  20,000 บาท  ซึ่งถือเป็นฐานใหญ่ของกลุ่มผู้บริโภค  จากผลกระทบที่เริ่มส่งสัญญาณดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องออกมาทำโปรโมชั่นกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค  เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มชะลอการบริโภคในร้านอาหาร

นายสุวัฒน์  ทรงพัฒนะโยธิน  รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด จำกัด ผู้บริหารร้านเชสเตอร์  กล่าวว่า  การแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในปีนี้ยังคงมีการแข่งขันกันรุนแรง  โดยเฉพาะการจัดโปรดมชั่นเมนูอาหารราคาประหยัด  เพราะจากนโยบายรถคันแรกที่ผู้บริโภคเข้าร่วม  เริ่มส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาประหยัดค่าใช้จ่าย  เนื่องจากต้องนำเงินส่วนหนึ่งไปผ่อนรถ  จะเห็นได้ว่าตอนนี้ลูกค้าในแต่ละร้านอาหารเริ่มปรับตัวลดลง

 

 

ทั้งนี้  ในส่วนของร้านเชสเตอร์เองก็มีการนำเสนอเมนูราคาพิเศษ  เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคที่ต้องการประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น  ขนมปังฮอทดอกราคา 20 บาท   ข้าวไก่ย่างน้ำตก 49 บาท  สลัดเชสเตอร์ 39 บาท  และปีกไก่พริกไทยดำ 39 บาท

นอกจากนี้  ยังมีเมนูใหม่อย่างข้าวปลาแซลมอนย่างมะนาว  และอาหารชุดเมนูต่างๆ ซึ่งราคาจะเริ่มตั้งแต่ 199-499 บาท  เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค  ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะเพิ่มเมนูใหม่เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่องอีก 6-7 เมนูในปีนี้

ปัจจุบันภายในร้านเชสเตอร์มีเมนูอาหารให้ลูกค้าเลือกมากกว่า 28 เมนู  ซึ่งเมนูที่สร้างยอดขายให้มากที่สุดยังคงเป็นเมนูข้าวคิดเป็นสัดส่วน 40%  ตามด้วยเมนูไก่ 10% ที่เหลืออีก50% เป็นเมนูเส้น  อาหารว่าง  เครื่องดื่ม  และของหวาน

ในด้านของการขยายสาขาใหม่ในปีนี้  ร้านเชสเตอร์ มีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีกประมาณ 15-20 สาขา  ภายใต้งบลงทุน 120 ล้านบาท  ขณะเดียวกันก็จะปรับปรุงสาขาเก่าอีกประมาณ 10 สาขา ภายในงบลงทุน  30  ล้านบาท  ซึ่งทำเลหลักที่จะยึดในการเปิดสาขาใหม่คือ  ห้างค้าปลีก

พร้อมกันนี้   ทำเลในปั้มน้ำมัน ปตท. ถือเป็นอีกหนึ่งทำเลที่ร้านเชสเตอร์จะให้ความสำคัญนับจากนี้  เนื่องจากปั้ม ปตท.มีแผนที่จะขยายสาขาปั้มน้ำมันเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นปีนี้จะเป็นปีแรกที่ร้านเชสเตอร์จะเข้าไปเปิดสาขาในปั้มน้ำมันมากกว่า 10 สาขา  จากปกติจะเปิดปีละ 5-6 สาขาเท่านั้น

ปัจจัยที่ร้านเชสเตอร์ให้ความสำคัญในการเปิดร้านใหม่  นอกจากจะเป็นช่องทางทำให้ขยายตัวได้เร็วแล้ว  ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ใช้งบในการลงทุนน้อย  เพราะร้านเชสเตอร์ที่เปิดให้บริการในปั้มจะใช้พื้นที่เพียง 120 ตร.ม. และใช้งบลงทุนเพียง 4 ล้านบาทเท่านั้น  แต่ถ้าเป็นร้านปกติจะใช้พื้นที่ 150 ตร.ม. ใช้งบลงทุน 5-6 ล้านบาท โดยภายใน 5 ปีนับจากนี้คาดว่าจะมีสาขาร้านเชสเตอร์ในปั้ม ปตท.ไม่ต่ำกว่า 50 สาขา  จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ 40  สาขา  ขณะที่สาขารวมมีอยู่ที่ประมาณ  176  สาขา

นอกจากนี้ ร้านเชสเตอร์  ยังมีแผนที่จะทยอยเปลี่ยนชื่อร้านจากเชสเตอร์กริลล์  มาเป็นร้านเชสเตอร์  เนื่องจากต้องการสื่อถึงเมนูอาหารที่มีความหลากหลายไม่ใช่แค่เมนูไก่ย่างอย่างเดียว  โดยคาดว่าภาย 2 ปีนับจากนี้จะทยอยเปลี่ยนชื่อเป็นร้านเชสเตอร์ได้ทั้งหมด

สำหรับร้านแมคโดนัลด์  เจ้าตลาดอาหารฟาสต์ฟู้ดด้านเบอร์เกอร์  ก็ยังคงเดินหน้าทำกิจกรรมทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง  น.ส.เพชรัตน์ อุทัยสาง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แมคไทย จำกัด ผู้บริหารร้านแมคโดนัลด์ กล่าวว่า  ในปีนี้บริษัทจะเน้นการทำตลาดในส่วนของเมนูอาหารเช้า  ภายหลังพบว่าสัดส่วนรายได้จากอาหารเช้ายังมีสัดส่วนอยู่ในระดับ 15%  จึงน่าจะมีช่องว่างให้เข้าไปทำตลาดอีกมาก

จากตัวเลขการเติบโตของเมนูมื้อเช้าที่เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2551 หรือประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 202%  ขณะที่ยอดลูกค้าเข้าร้านช่วงเช้าเพิ่มขึ้น148%  ซึ่งในส่วนของยอดการซื้อช่วงเช้าเฉลี่ย 100 บาทต่อบิล ถือว่าใกล้เคียงกับมื้อทั่วไปและบางครั้งมากกว่า แมคโดนัลด์จึงเล็งเห็นโอกาสดังกล่าว

กลยุทธที่ แมคโดนัลด์เลือกมาใช้สำหรับการทำตลาดเมนูมื้อเช้าคือ การเปิดสินค้าใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง  ปัจจุบันมีเมนูบริการประมาณ 7-8 เมนู เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-11.00 น. เช่น แมคมัฟฟิน  ราคาเริ่มต้นที่ 25 บาท โจ๊กหมูและโจ๊กไก่ราคา 29 บาท เป็นต้น

ทั้งนี้แมคโดนัลด์มีร้านที่เปิดบริการเมนูเช้าประมาณ 139 สาขา รวมทั้งร้านที่เป็นไดร์ฟทรูด้วย 40 สาขา จากทั้งหมดในไทยที่มี 182 สาขา  ซึ่งหลังจากรุกทำตลาดมากขึ้นคาดว่าจะมียอดขายจากเมนูมื้อเช้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 50%  และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น  40%

ฝั่งร้านเคเอฟซี  แม้ว่าจะไม่มีการออกมาเปิดแผนการทำตลาดผ่านสื่อเหมือนกับคู่แข่งในตลาด  โดยยังคงบุกตลาดแบบนิ่งๆ ทั้งในส่วนของการเปิดตัวสินค้าใหม่ และทำโปรโมชั่นสินค้า  ซึ่งยังคงยึดระดับราคาขายเมนูเป็นเซ็ตแบบหลายคนรับประทานที่ 189-388 บาท  เพื่อเป็นทางเลือกของผู้บริโภค

จากมูลค่าตลาดรวมอาหารฟาสต์ฟู้ดมูลค่า 20,000 ล้านบาท ตลาดหลักที่ยังคงมียอดขายนำโด่งยังคงเป็นตลาดไก่ 50%  ตามด้วยตลาดพิซซ่า 30% และตลาดเบอร์เกอร์ 20%


LastUpdate 29/03/2556 23:01:48 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:36 pm