เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทยพาณิชย์ออกบทวิเคราะห์ : ส่งออกเดือนมีนาคมขยายตัว 4.6%YOY ที่มูลค่าระดับค่อนข้างสูง



 
กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมีนาคมอยู่ที่ 20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.6%YOY (เทียบกับเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า) ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 21.6 พันล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 11.5%YOY ดุลการค้าขาดดุล 867 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกไทยกลับมาอยู่ในระดับสูง มูลค่าส่งออกของไทยในช่วงปลายปี 2012 ต่อเนื่องถึงช่วงต้นปี 2013 อยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมูลค่าการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ระดับ 20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นมูลค่าการส่งออกที่เกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดหลักอันได้แก่ อาเซียน, จีน, สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และยุโรปรวมกันขยายตัวมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้การขยายตัวของการส่งออกไทยที่สอดคล้องกับการขยายตัวของประเทศภูมิภาคเอเชียอื่นๆ เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เป็นต้น อาจเป็นสัญญาณของการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าจากคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐฯ และญี่ปุ่น 
 
การส่งออกในทุกหมวดสินค้าล้วนขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ การส่งออกสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกทั้งหมดสูงถึง 24% นั้น มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาค่อนข้างมากที่ระดับ 27.4% และ 19.4% ตามลำดับ ซึ่งนอกจากการขยายตัวที่ค่อนข้างสูงแล้วมูลค่าการส่งออกของสินค้าทั้ง 2 ชนิดในเดือนมีนาคมยังอยู่ในระดับที่สูงที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2012 ทั้งนี้สินค้าอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ เช่น รถยนต์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ล้วนขยายตัวได้ค่อนข้างดีที่ระดับราว 15%YOY ในส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมเกษตรนั้น สินค้าหลักๆ เช่น ยางพารา ข้าว อาหารทะเลแปรรูปล้วนขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการส่งออกสินค้าบางชนิดยังคงหดตัวค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วเช่น ยางพารา -11.1%YOY จากปัจจัยราคา และ คอมพิวเตอร์ -16.7%YOY 
 
การนำเข้าหดตัวค่อนข้างมากจากฐานที่สูง การนำเข้าที่หดตัวสูงถึง 11.5%YOY เป็นผลมาจากฐานที่สูงในเดือนมีนาคมปี 2012 โดยหากเทียบกับเดือนที่ผ่านมาจะพบว่าการนำเข้าขยายตัวถึง 11% โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิง และสินค้าทุนที่ขยายตัวถึง 40.2% และ 22% ตามลำดับ โดยปัจจัยที่สนับสนุนให้มูลค่าการนำเข้าอยู่ในระดับค่อนข้างสูงที่ราว 21.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นน่าจะมาจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง  ขาดดุลการค้า 867 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากไม่รวมทองคำจะเกินดุลราว 467 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ คงต้องรอดูความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของการส่งออกไทย นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้งสหรัฐฯ และญี่ปุ่น รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศภูมิภาคเอเชียที่ยังขยายตัวได้ดี จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคการส่งออกของไทยขยายตัวได้ต่อไป อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตามคือเศรษฐกิจยุโรปที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ และยังไม่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทย ทั้งนี้ EIC ประเมินว่าการส่งออกไทยในปี 2013 มีศักยภาพขยายตัวได้ที่ 7.1% 
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 เม.ย. 2556 เวลา : 13:51:10
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 8:36 pm