เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"คลัง-ธปท."ไร้มาตรการ สกัด "บาทแข็ง"


 

 

ผลการหารือนัดพิเศษระหว่างหน่วยงานเศรษฐกิจ  เช่น  กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง  เพื่อหารือถึงปัญหาค่าเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง   ในที่สุดก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือมีการออกมาตรการอะไรออกมาชัดเจน

 
 
 
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง  บอกภายหลังการหารือว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ได้รายงานในที่ประชุมว่า  มีแนวทางเตรียมแก้ปัญหาแล้ว แต่สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้  ยังถือว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการออกมาตรการ เนื่องจากเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลง 
 
แต่ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ระดับค่าเงินบาทที่ต่ำกว่า 29.00 บาท/ดอลลาร์ เป็นระดับที่แข็งค่าเกินไป และมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจและการขยายตัวของเศรษฐกิจ และยังเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 2.75%  หากไม่มีการดำเนินการมาตรการเสริม เพื่อชะลอการไหลเข้าของเงิน จะทำให้มีเงินไหลเข้ามาอีกอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเงินบาทยังแข็งค่าและยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าว ก็จำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเข้ามาแก้ปัญหา
 
ส่วนประเด็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันในหลักการว่า ดอกเบี้ยนโยบายที่ลดต่ำจะทำให้แรงจูงใจให้เงินทุนไหลเข้าในตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ ลดลง และได้หารือถึงข้อดีข้อเสียในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยควบคู่ไปกับความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ ธปท.จะนำข้อมูลต่าง ๆ ไปหารือกับคณะกรรมการนโยบายการเงินเพื่อพิจารณาควบคู่กับภาวะการณ์ต่าง ๆ ในการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงิน
 
 
 
 
ผลการหารือดังกล่าวสอดคล้องกับมุมมองของผู้บริหารในแวดวงตลาดเงิน  นายนายกฤษณ์  จันทโนทก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจเงินฝากและการลงทุน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา  เชื่อว่า  การทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงด้วยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย น่าจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาใช้   หากสถานการณ์ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น  เนื่องจากปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง หลังลบกับอัตราเงินเฟ้อ ถือว่าอยู่ในระดับที่ติดลบแล้ว  ประกอบกับไทยเอง มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านพอสมควร ดังนั้น การแก้ปัญหาอาจจะต้องทำในลักษณะที่ต่างออกไป
 
 
 
 
 
ด้าน นายประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.กรุงศรีอยุธยา บอกว่า หากธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีมาตรการออกมาเพื่อควบคุมเงินทุนไหลเข้า เชื่อว่า  จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยมองว่าการเลือกใช้มาตรการต่างๆ ของธปท.จะคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อทั้งตลาดเงินและตลาดทุน
 
 
 
 ส่วนทางภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล  รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า  ปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในขณะนี้  รัฐบาลควรจะต้องมีมาตรการเยียวยา เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างผิดปกติ ซึ่งชัดเจนว่าเกิดจากเงินทุนไหลเข้าจำนวนมาก ดังนั้น รัฐบาลควรที่จะวิเคราะห์ว่า การไหลเข้าของเงินทุนนั้น เข้ามาเพื่อเก็งกำไรระยะสั้นหรือไม่ เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาลควรหามาตรการ ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว  
 
โดยแนวทางที่เร่งด่วน ได้แก่  การให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ รับซื้อประกันความเสี่ยงส่วนที่เหลือจากผู้ส่งออกเอสเอ็มอีที่มีทุนหมุนเวียนต่ำ รวมถึงมาตรการอื่นๆ ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อส่งสัญญาณให้กับนักลงทุน ให้ชะลอการนำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศ  รวมถึงมาตรการเก็บภาษีเงินทุนไหลเข้า
 
 
 

LastUpdate 27/04/2556 08:44:27 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:45 am