เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
แก้บาทแข็ง "คุมเงินไหลเข้าพันธบัตรระยะสั้น"



 

 

ภาธุรกิจตลาดทุน เสนอรัฐออก "มาตรการจำกัดการเก็งกำไรของต่างชาติ"โดยห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่ถึง 6 เดือน หลังข้อมูลระบุชัด ต่างชา่ติขนเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเกือบ 2 แสนล้าน ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินและเร็ว

ทั้งนี้ จากข้อมูลระบุ ยอดซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นในเดือน ม.ค.2556 มียอดสูงถึง 97,691 ล้านบาท ขณะที่ตราสารหนี้ระยะยาวมีเพียง 10,107 ล้านบาท  และเดือน ก.พ. 2556 ยอดซื้อในตราสารหนี้ระยะสั้นมีจำนวน 62,631 ล้านบาท  ส่วนตราสารหนี้ระยะยาวอยู่ที่  17,756 ล้านบาท

 

 
 
 
สอดคล้องกับ นายนิวัฒน์  กาญจนภูมินทร์ กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ที่ระบุว่า  ปัจจุบันต่างชาติถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปีอยู่เกือบ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 23.4% ของนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองตราสารหนี้ไทยทั้งหมด 8.7 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากสิ้นปีที่ผ่านมาที่ต่างชาติถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นเพียง 5.5 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 1.4 แสนล้านบาท
       
ซึ่งต่างชาติถือครองตราสารหนี้ที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนอยู่เกือบ 1.8 แสนล้านบาท จากการถือครองตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งหมด 2 แสนล้านบาท โดยเงินส่วนนี้เป็นเงินที่ไทยไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
 
สะท้อนให้เห็นว่า  เงินต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา  มีส่วนทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆในภูมิภาคนี้     
 
 
 
 
 
และ ล่าสุด สภาธุรกิจตลาดทุนได้แสดงจุดยืน  ในการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า  โดย นายไพบูลย์  นลินทรางกูร  ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า สภาธุรกิจตลาดทุน ได้หารือกันถึงสถานการณ์ค่าเงินบาท มีความเห็นตรงกันว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เกิดจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้นของไทย จึงเสนอให้ภาครัฐออก "มาตรการจำกัดการเก็งกำไรของต่างชาติ" ด้วยการห้ามนักลงทุนต่างชาติลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุไม่ถึง 6 เดือน
         
ดังนั้น หากหน่วยงานภาครัฐ กำลังพิจารณามาตรการสำหรับใช้ดูแลค่าเงินบาท การจำกัดการเก็งกำไรในตราสารหนี้ระยะสั้นของ ต่างชาติ น่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดมากที่สุด และไม่เห็นด้วยที่จะออกมาตรการที่กระทบกับความเชื่อมั่นเศรษฐกิจ ตลาดหุ้น และการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว เพราะไทยยังต้องการเม็ดเงินระยะยาวมาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
 
นายไพบูลย์ ยังเชื่อว่า หากรัฐออกมาตรการนี้เป็นมาตรการระยะสั้น น่าจะเพียงพอในการทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยที่จะไม่กระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ เพราะหลายประเทศเคยนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินแข็งค่า และเป็นที่ยอมรับของสากล เช่น อินโดนีเซีย ใช้มาตรการนี้เมื่อปี 2554 และได้ผลดี
 
ส่วนมาตรการลดดอกเบี้ยนั้น  ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้  เพราะปรากฏการณ์ที่เม็ดเงินไหลเข้า น่าจะต่อเนื่องอีกหลายปี และหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลังจากที่หลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น  เพิ่มปริมาณเงินในระบบจำนวนมาก

LastUpdate 05/05/2556 11:32:44 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:52 am