การตลาด
สกู๊ป : "ซีพีเอ็น" กางแผน 5 ปี บุกศูนย์การค้าอาเซียน


 


 
 
 
หลังจากบริษัท เซ็นทรัลรีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ ซีอาร์ซี  ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ปออกมาประกาศธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ มาวันนี้ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)  หรือ ซีพีเอ็น พร้อมแล้วที่จะออกมาแย้มแผนการบุกตลาดต่างประเทศ  ซึ่งภูมิภาคที่ซีพีเอ็นให้ความสนใจในการเข้าไปขยายธุรกิจศูนย์การค้าในต่างประเทศ นั่นก็คือ อาเซียน
 
จากการที่อีก 2 ปี ภูมิภาคอาเซียนจะมีการรวมตัวกันทางด้านเศรษฐกิจภายใต้ความร่วมมือการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558  ส่งผลให้ ซีพีเอ็น เริ่มหันมาเห็นความสำคัญของการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคดังกล่าว  จากเดิมให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในเอเชียโดยเฉพาะประเทศจีน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากและเศรษฐกิจมีการพัฒนาจนเติบโตแบบก้าวประโดด

แต่ขณะเดียวกันประเทศจีนก็มีกฎหมายกีดกันทางการค้า และการเข้าไปทำธุรกิจของต่างประเทศพอสมควร เนื่องจากระบอบการปกครองและการบริหารประเทศทุกอย่างยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาล  ด้วยเหตุนี้ ซีพีเอ็น จึงขอพักการศึกษาตลาดประเทศจีนหันมาศึกษากลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียนแทน  เพราะหลังจากการรวมตัวกันในปี 2558 จะส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีประชากรรวมกันถึง 600 ล้านคน และเกิดการหมุนเวียนทั้งในด้านของเศรษฐกิจและแรงงาน

สำหรับประเทศที่ ซีพีเอ็น ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการเข้าไปศึกษาตลาดได้วางแนวทางไว้ว่า  ต้องเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรสูง  ขณะเดียวกันอำนาจการซื้อต้องสูง ซึ่งประเทศก็คือ  มาเลเซีย  อินโดนีเซีย  และเวียดนาม 

ปัจจัยที่ทำให้ ซีพีเอ็น สนใจเข้าไปศึกษาตลาดในมาเลซีย  คือ  เป็นประเทศที่มีอำนาจการซื้อสูงกว่าประเทศไทยและมีรายได้ของประชากรเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่า แม้ว่าจะมีจำนวนประชากรน้อยกว่า 2 เท่า  ขณะที่ อินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมากหรือประมาณ 300 ล้านคน  เช่นเดียวกับประเทศเวียดนามที่มีประชากรมากกว่า 89 ล้านคน

บื้องต้น ซีพีเอ็น ได้ออกมาประกาศแผนการดำเนินงาน 5 ปี ในการบุกตลาดอาเซียนอย่างคร่าวๆ ว่า  นับตั้งแต่ปี 2556-2560  จะต้องเห็นศูนย์การค้าของ ซีพีเอ็น ในตลาดอาเซียนอย่างต่อต่ำ  2-3  สาขา ซึ่งแต่ละสาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 4,000-5,000 ล้านบาท

 
 
 
นายกอบชัย  จิราธิวัฒน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น  กล่าวว่า  บริษัทเล็งเห็นโอกาสของการตลาดอาเซียน  เพราะหลังจากเปิดเออีซีจะเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและแรงงานอย่างมหาศาล  ซึ่งในส่วนของประเทศไทยในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค  ขณะนี้ก็เริ่มมีบริษัทต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานจัดหาแรงงานจากประเทศไทย  พม่า  ลาว  กัมพูชา  และเวียดนาม  เพื่อส่งต่อไปยังประเทศต่างๆ  อยู่หลายแห่งแล้ว 

อย่างไรก็ตาม  แม้ว่าขณะนี้ ซีพีเอ็นยังไม่สามารถเปิดเผยอย่างเจาะจงได้ว่าประเทศไหนจะเป็นประเทศแรกที่จะเข้าไปดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าแต่ล่าสุดก็มีแย้มๆออกมาว่าในปีนี้น่าจะได้เห็นอย่างน้อย 1 ประเทศ จะเป็นประเทศไหนคงต้องคอยจับตาดูกันต่อไป

ด้านของการขายธุรกิจศูนย์การค้าภายในประเทศปีนี้  ซีพีเอ็น มีแผนที่จะเปิดให้บริการศูนย์การค้าใหม่จำนวน 4 สาขา  ภายใต้งบลงทุนรวมไม่ต่ำกว่า 12,000-13,000 ล้านบาท  ประกอบด้วย  อุบลราชธานี  ,หาดใหญ่  เชียงใหม่ 2  และสมุย 

สำหรับในด้านของเม็ดเงินการลงทุนในแต่ละสาขานั้น  ในส่วนของ  เซ็นทรัลพลาซ่า อุบลราชธานี  ซีพีเอ็นได้ใช้งบลงทุนไปประมาณ  2,700 ล้านบาท  บนพื้นที่ 1.4 แสนตร.ม. เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา  ขณะที่ เซ็นทรัล เฟสติวัล หาดใหญ่ ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.นี้  ได้ใช้งบลงทุนไปประมาณ 4,500 ล้านบาท บนที่ดิน 50 ไร่

ส่วนสาขาเชียงใหม่ 2 หรือ เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ จะเปิดให้บริการในเดือน พ.ย. ภายใต้งบลงทุน 6,000 ล้านบาท  บนพื้นที่ 2.5 แสนตร.ม. และสาขา เซ็นทรัลเฟสติวัล สมุย  คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค.นี้ภายใต้งบลงทุน 3,100 ล้านบาท บนที่ดิน 37 ไร่

ขณะที่ปี 2557  ซีพีเอ็น  มีแผนที่จะเปิดให้บริการศูนย์การค้าจำนวน 2  สาขา  คือ  เซ็นทรัลพลาซ่า  ศาลายา  และเซ็นทรัลพลาซ่า  ระยอง  ส่วนแผนปี 2558  ซีพีเอ็น ได้ประกาศออกไปแล้วว่าจะมีศูนย์การค้าเปิดให้บริการเบื้องต้น 1 สาขา คือ เซ็นทรัล เวสท์เกต  ตั้งอยู่บนที่ดิน 100 ไร่ ในย่านบางใหญ่ เบื้องต้นใช้งบลงทุนพัฒนาโครงการ 10,000  ล้านบาท  

 
 
ปัจจุบันศูนย์การค้าของซีพีเอ็น สามารถครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในตลาดต่างจังหวัดได้แล้วประมาณ 10 จังหวัด  ซึ่งจากกำลังซื้อของคนในต่างจังหวัดที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการปรับค่าแรงขั้นต่ำ  ประกอบกับผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัยหันเข้ามาอยู่ในเขตอำเภอเมืองมากขึ้น เพื่อเป็นคนเมือง จึงถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนทำให้ซีพีเอ็นหันมาบุกตลาดต่างจังหวัดอย่างจริงจัง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดศูนย์การค้าในกรุงเทพฯ จะเริ่มอิ่มตัว  แต่อีกหนึ่งทำเลทองที่ตอนนี้หลายคนจับจ้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ซีพีเอ็น  นั่นก็คือ ที่ดินบริเวณสวนลุมหรือโรงเรียนเตรียมทหารเดิม โดยขณะนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้มอบหมายให้ บริษัท ทุนลดาวัลย์  จำกัด เป็นผู้ดำเนินการจัดประมูลที่ดินผืนดังกล่าว

จากจำนวนที่ดินที่มีมากถึง 88 ไร่ และอยู่ใจกลางเมือง ส่งผลให้มีผู้ประกอบการยักษ์ใหญ่หลายรายให้ความสนใจเข้าร่วมยื่นซองประมูล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ , กลุ่มทีซีซี แลนด์ ของตระกูลสิริวัฒนภักดี, บริษัท ซิตี้ เรียลตี้ จำกัด ในเครือธนาคารกรุงเทพ  บริษัท  เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)  และรวมไปถึงบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หลังจากหมดสัญญา 44 ไร่ ที่ได้รับสิทธิ์จากสำนักงานทรัพย์สินฯไปเมื่อหลายปีที่ผ่านมา

การกลับเข้ามายื่นซองประมูลของซีพีเอ็นในครั้งนี้ ถือว่ากลับมาสู้แบบยิบตา  เพราะถ้าเป็นไปได้ซีพีเอ็นอยากได้ที่ดินแปลงนี้ทั้งหมด 88 ไร่  เพื่อนำมาพัฒนาโครงการมิกซ์ยูส  ประกอบด้วย ศูนย์การค้า  โรงแรม  และอาคารสำนักงาน เหมือนกับแบบครั้งที่ผ่านมา แต่เนื่องจากที่ดินมีขนาดใหญ่ขึ้น

นอกจากนี้ ที่ดินผืนดังกล่าวมีกฎระเบียบผังเมืองควบคุม คือ ห้ามทำศูนย์การค้าที่สูงเกิน 45 เมตร  ขณะเดียวกันทางสำนักงานทรัพย์สินฯ ยังมีข้อกำหนดเงื่อนไขการลงทุน หรือ ทีโออาร์ ว่า ต้องพัฒนาโครงการในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 แสน ตร.ม. จึงทำให้ ซีพีเอ็น ต้องมีการร่างแบบโครงการใหม่ ซึ่งการลงทุนของโครงการดังกล่าวในครั้งนี้ น่าจะใช้งบไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะใช้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท

หากการประมูลที่ดินผืนงามดังกล่าว ซีพีเอ็นเป็นผู้คว้าชัยชนะ  กอบชัยกล่าวว่า  ถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของ ซีพีเอ็น และเป็นโครงการที่ 2 ที่ได้พัฒนาบนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ โดยในส่วนของแห่งแรกที่ได้ดำเนินการพัฒนาโครงการไปแล้ว คือ  ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์  ซึ่งหลังจากที่ออกมาเดินหน้าขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซีพีเอ็นคาดว่าจะมีรายได้เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 15%
 

LastUpdate 06/05/2556 14:59:04 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:27 pm