เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"รัฐ-เอกชน" แห่ลดเป้า "จีดีพี" ปี56


 

 

 การประกาศตัวเลขส่งออกเดือนพ.ค.ที่ติดลบ 5.25% และภาพรวม 5 เดือนที่เติบโตเพียง 1.89% ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 28 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอตัว ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ ทำให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต่างประกาศปรับลดเป้าหมายจีดีพีปี 2556 ใหม่ 

 

 
 
 
นำโดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ บอกว่า สศค.ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ เหลือ 4.5 % จากเดิมที่ 5.3% เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า14 ประเทศ ที่ฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะจีน สหรัฐ และสหภาพยุโรป ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลง สศค.จึงได้ปรับเป้าหมายการส่งออกลงเหลือ 5.5% จากเดิมที่ 9% 

 

ทั้งนี้ สศค.เห็นว่า หากจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 5% จะต้องอาศัยการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนตามแผนบริหารจัดการน้ำ วงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท 


 
 
 
ส่วน นายปรเมธี วิมลศิริ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ก็ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ไม่ถึง 5% หลังจากภาพรวมเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2 อ่อนแรงกว่าที่คาด ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ ด้านเสถียรภาพไม่มีปัญหา แต่จะเป็นปัญหาด้านการเติบโตและความผันผวน โดยเฉพาะสถานการณ์ค่าเงินบาทที่ต้องจับตาผลกระทบต่อรายได้ภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
 
 
 
ขณะที่ นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ ยอมรับว่า แบงก์ชาติกำลังพิจารณาทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 7.5% หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคมต่ำกว่า ที่แบงก์ชาติคาดการณ์เล็กน้อย โดยมูลค่าส่งออกหดตัวประมาณ 5% 
 
 
 
 
สำหรับมุมมองเอกชนก็มีทิศทางที่สอดคล้องกัน เมื่อ นายรุ่งศักดิ์ สาธุธรรม ผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY บอกว่า ธนาคารได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีในปีนี้เหลือ 4-4.5% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.8-5.3% จากแนวโน้มการส่งออกที่อาจจะชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าในเอเชีย รวมทั้งแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ภายหลังปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ประมาณการว่าในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยเติบโตราว 4.7% และในครึ่งปีหลังจะปรับลดลง เนื่องจากฐานในปีก่อนอยู่ในระดับสูง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ QE ของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ที่จะทำให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย //การชะลอตัวอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีน และปัญหาเรื้อรังในยูโรโซน ส่วนความเสี่่ยงในประเทศ ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน 
 
 
 
 
และ นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะขยายตัวได้เพียง 4.4-4.5% ซึ่งต่ำกว่าหลายฝ่ายประมาณการเอาไว้ที่ระดับ 5% ทั้งนี้ เป็นผลมาจากความไม่เชื่อมั่นต่อโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะเป็นช่องทางที่จะทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นสูง นอกจากนี้ ผลจากปัจจัยต่างประเทศ ทั้งในเรื่องของมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ และความผันผวนของค่าเงินบาท 
 

LastUpdate 28/06/2556 00:19:14 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 5:50 pm