เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
16 ปี บทเรียนลอยตัว "เงินบาท"


 


 
 
 
2 ก.ค. เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในระบบการเงินของไทย หลังจากเมื่อ ปี 2540 หรือ 16 ปีที่แล้ว รัฐบาลได้ถือฤกษ์ในวันนี้ ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ซึ่งถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของระบบการเงินและเศรษฐกิจไทย 

ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า การตัดสินใจประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ของรัฐบาล ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะต่อมา ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

และทำให้จุดอ่อนเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจไทย ที่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ปี 2540 ได้รับการพัฒนาปรับปรุง โดยเฉพาะกระบวนการกำกับดูแลสถาบันการเงิน ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เช่น ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น ท่ามกลางการบริหารจัดการความเสี่ยงและการกำกับดูแลจากทางการที่ตรงตามมาตรฐานสากล 

เศรษฐกิจไทยจึงมีเสถียรภาพและความยืดหยุ่นมากขึ้น ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานที่อยู่ในระดับต่ำ ฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง หนี้ต่างประเทศที่ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 30 ปี รวมถึงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ส่วนภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการสะสมของปัญหาหนี้ครัวเรือนในปัจจุบัน ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ไทยเกิดวิกฤติเหมือนปี 2540 นั้น ก็ไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการเข้าสู่สังคมเมือง ชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น รายได้ที่สูงขึ้นของภาคชนบท รวมไปถึงการเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินในระบบที่เพิ่มขึ้น และความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันเป็นผลจากความต้องการที่อยู่อาศัยที่แท้จริงของครัวเรือน

 
 
 
 
ด้าน นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกถึงความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน จะมีโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำรอยปี 2540 หรือไม่นั้น ประเด็นที่ต้องระมัดระวัง มี 3 เรื่องได้แก่ 1.คนตั้งความหวังให้มีการใช้นโยบายการเงินแก้ปัญหาหลายอย่างมากเกินไป เช่น ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน จากปกติมีหน้าที่เพียงรักษาเสถียรภาพราคาและเสถียรภาพการเงิน 2.ระดับหนี้สินภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงค่อนข้างเร็ว เป็นเรื่องที่ ธปท.ยังคงติดตามต่อเนื่อง และ 3.ความเสี่ยงจากต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและผันผวนมาก ซึ่งอาจเข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจไทยในบางเวลา 

ซึ่ง ธปท. ได้พยายามดูแลพื้นฐานเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับสมดุลและมั่นคง ทั้งดุลชำระเงิน ดุลการคลัง ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งปีนี้น่าจะสมดุลหรือเกินดุลเล็กน้อย ทำให้นักค้าเงิน ไม่เห็นโอกาสที่จะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงิน รวมถึงดูแลฐานะสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงแข็งแกร่ง พร้อมใช้นโยบายการเงินด้วยความระมัดระวัง 

ดังนั้นจึงเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะไม่เดินซ้ำรอยวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เมื่ อธปท.และสถาบันการเงินไทยมีมุมมองที่เหมือนกัน ไม่คำนึงแต่ผลตอบแทนที่ได้รับในระดับสูงเท่านั้น แต่ให้น้ำหนักกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน 
 

LastUpdate 02/07/2556 10:13:22 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 2:24 pm