เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.ไม่ห่วงเงินเฟ้อก.ค.ค่อนข้างต่ำ


 

อัตราเงินเฟ้อในเดือนก.ค.ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกอยู่ที่ 105.42 สูงขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลง จากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 ในเดือนมิ.ย. เป็นการชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 44 เดือน หรือเกือบ 4 ปี แสดงว่าแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยลง เนื่องจากราคาอาหารสดเริ่มปรับตัวลดลงเข้าสู่ภาวะปกติตามสภาพภูมิอากาศ 

ทั้งนี้ ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.81 จากราคาหมวดผัก ผลไม้ สูงขึ้นร้อยละ 4.43 และหมวดไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 4.41 ขณะที่ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ไม่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในระยะ 7 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. - ก.ค.) สูงขึ้นร้อยละ 2.60 ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ เตรียมพิจารณาปรับลดเป้าเงินเฟ้อในปีนี้ที่วางกรอบไว้ที่ ร้อยละ 2.80-3.40 ลงในช่วงเดือนกันยายน

ส่วนกรณีที่จะมีการทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม กิโลกรัมละ 50 สตางค์ ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงสิ้นปีนั้น นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันว่า จะกระทบอัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.006 ต่อเดือน และกระทบภาพรวมตลอดระยะเวลา 4 เดือนที่มีการปรับราคาก๊าซขึ้นนั้น เฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.02 ทำให้ไม่มีผลกระทบต่อการบริโภคภาคครัวเรือน เพราะรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

อัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลงนี้ นางผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า ยังเป็นระดับที่ ธปท.คาดหมาย โดย ธปท.ยังไม่ได้มีความกังวลว่า อัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงิน จะหลุดจากกรอบ 0.5-3% ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงิน และนโยบายอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

โดยปีนี้ ธปท.คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี จะอยู่ในระดับ 2.3% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งในขณะนี้ อัตราเงินเฟ้อยังเป็นไปตามการคาดการณ์ ดังนั้น เชื่อว่าภายใต้นโยบายการเงินในปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้น่าจะไม่หลุดเป้าลงไปต่ำกว่าฐานขั้นต่ำของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 0.5% 

แต่การดำเนินนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสม และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยขึ้นกับดุลพินิจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 

ส่วนมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะยังผ่อนคลายไปอีกระยะ สอดคล้องกับทิศทางการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศ มาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาล

โดยคาดว่าปีนี้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะมีค่าเฉลี่ยที่ 2.5% อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.1% โดยต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้อที่มีโอกาสจะกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลง จากปัจจัยเสี่ยงทั้งในประเทศและต่างประเทศ การที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง จะช่วยให้การดำเนินการเงินของธปท.ทำงานได้ง่ายขึ้น  


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ส.ค. 2556 เวลา : 12:05:35
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:16 pm