เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"การค้าชายแดน" หนุนเศรษฐกิจ-ส่งออก


 

การส่งออกที่ชะลอตัวลงในปีนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หลังเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทย โดยเฉพาะประเทศจีนที่ยังชะลอตัว ทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เติบโตแค่ 0.6%  ซึ่งแนวทางที่จะมาทดแทนการส่งออกที่ชะลอ ที่ภาคเอกชนให้น้ำหนักมากขึ้น ได้แก่ การค้าตามแนวชายแดน ที่ยังเติบโตได้ดี

โดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะต้องเร่งการค้าชายแดน เพราะสินค้าไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน เข้าถึงได้ง่าย และได้รับความเชื่อถือ แต่จะต้องส่งเสริมการส่งออกให้เข้าถึงหัวเมืองชั้นในของประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งต้องแก้ไขอุปสรรคการลงทุนในประเทศ 

นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา พบว่าการค้าชายแดนและการท่องเที่ยว ได้เข้ามามีส่วนสำคัญกระตุ้นเศรษฐกิจไทย "ไม่ทรุดตัว" ลงไปมากนัก สะท้อนจากตัวเลขการค้าชายแดนเกือบทุกด่านมีการขยายตัวทางการค้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหอการค้าไทยเชื่อว่าในครึ่งปีหลังการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวจะเป็น แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ 

ขณะที่ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสนับสนุนการค้าชายแดน โดยผลักดันการใช้ค่าเงินบาทเป็นเงินสกุลหลักค้าขายสินค้าบริเวณชายแดน เบื้องต้นได้เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับเงื่อนไขให้สามารถขยายการถือเงินบาทออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านจากเดิมที่กำหนดเพียง 500,000 บาท เปฺ็น 2 ล้านบาท เพื่อให้เกิดความคล่องตัวด้านการค้า เนื่องจากปัจจุบันบริเวณพื้นที่ชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านกว่า 40 แห่ง ส่วนใหญ่ก็ใช้เงินบาทเป็นสกุลหลักเพื่อซื้อสินค้า 

ขณะที่มุมมองของนักวิชาการ นายอัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า แม้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ไม่มีผลต่อการส่งออกมากนัก เนื่องจากเป็นการอ่อนค่าลงของค่าเงินทั้งภูมิภาค โดยการส่งออกปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 3-5% เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทั้งสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่นัก ดังนั้นไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากความตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ อาเซียน-ไทย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปตลาดอาเซียน สูงถึง 25% ส่วนการค้าชายแดนเริ่มมีมูลค่ามากขึ้น แม้จำนวนด่านการค้าจะยังมีไม่มาก ซึ่งภาครัฐต้องเร่งอำนวยความสะดวก ลดอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยผลักดันการค้าชายแดนให้ขยายตัวในระยะยาว

 

สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ด้าน จ.ตราด ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 มีมูลค่า 13,487.31 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว 1,487.66 ล้านบาท ที่มีจำนวน 11,999.65 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออก 12,799.31 ล้านบาท สูงกว่าปีที่ผ่านมาที่มี 11,888.35 ล้านบาท มูลค่านำเข้า 687.96 ล้านบาท ที่มีมากกว่าปีที่ผ่านมา 111.30 ล้านบาท โดยเพิ่มถึง 6 เท่าตัว และคาดว่าสิ้นปี 2556 มูลค่าการค้าขายจะมีสูงเกือบ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากในแต่ละเดือนมียอดสั่งสินค้าจากกัมพูชาเดือนละ 2,000-25,000 ล้านบาท

ในขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกยังชะลอตัว การค้าขายกับเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน จึงเป็นโอกาสที่ไม่ควรมองข้ามที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้ และยังเป็นการรองรับการเป็นAEC ในปี 2558 


LastUpdate 27/08/2556 16:10:34 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:42 am