เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ม๊อบ "ยางพารา" ยืดเยื้อ ฉุด "GDP" ทรุด 0.1%


 

การชุมนุมของชาวสวนยาง ที่เรียกร้องรัฐบาลให้เข้ามาดูแลราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ในส่วนของผลกระทบด้านเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ ได้สร้างความเสียหายไม่น้อย  

โดย นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ผลจากการชุมนุมเริ่มทำให้เกิดความเสียหายอย่างเป็นรูปธรรมต่อภาคการท่องเที่ยวแล้ว โดยเฉพาะตลาดในประเทศที่เดินทางโดยรถยนต์ ซึ่งปัจจุบันเส้นทางท่องเที่ยวที่เริ่มมีคนไทยเดินทางลดลงอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยว จ.สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ภูเก็ต, กระบี่, พังงา และหาดใหญ่

เบื้องต้นขณะนี้พบว่า ธุรกิจนำเที่ยว โรงแรม และธุรกิจเกี่ยวเนื่องทางอ้อม เสียรายได้จากการยกเลิกการเดินทางแล้วราววันละ 15 ล้านบาท และนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ชุมนุมเป็นต้นมา ความเสียหายอยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท

ดังนั้น ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจึงขอความร่วมมือทั้งจากผู้ชุมนุมและภาครัฐให้ดูแลใน 2 แนวทางหลัก คือ 1.ขอไม่ให้ขยายขอบเขตการชุมนุมไปในสนามบิน ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบวงกว้างถึงตลาดต่างประเทศด้วย และ 2.ต้องการให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ คือ จัดการปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวสวนยางด้วยความยุติธรรม

ขณะเดียวกันด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน เพราะการปิดถนนและรถไฟในช่วง 10 วันที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อภาคการขนส่งสินค้าแล้วกว่า 100 ล้านบาท มาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงน้ำมันที่สูงขึ้น และยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งภาคการผลิต การจ้างงาน การนำเข้าส่งออกสินค้า สินค้าอุปโภคบริโภคกว่า 3,000 ล้านบาท

นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เริ่มเกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภคในร้านโชห่วย มินิมาร์ทภาคใต้บางพื้นที่แล้ว เนื่องจากสินค้าส่งไปภาคใต้ลดลงไป 5% หลังจากการรถขนส่งต้องใช้เวลาเดินทางมากขึ้นคันละ 5 ชั่วโมง และหากมีการปิดถนนต่อไปอีก 5 วันอาจจะทำให้เกิดปัญหาวิกฤตขาดแคลนสินค้าเพิ่มได้ ในทางกลับกัน สินค้าอาหารทะเลที่ส่งจากภาคใต้ขึ้นมาในกรุงเทพ และภาคอื่น ๆ หายไป 60% ทำให้แนวโน้มราคาอาหารทะเลจะเริ่มสูงขึ้น

ขณะที่ นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งไทยในพื้นที่ภาคใต้เริ่มขาดแคลนวัตถุดิบ เช่น บรรจุภัณฑ์ ถุงพลาสติกต่างๆ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า เนื่องจากแพ็คเกจจิ้งส่วนใหญ่ราว 80-90% มาจากพื้นที่ภาคกลางเป็นหลัก เมื่อเกิดการปิดถนน เส้นทางรถไฟ ทำให้ไม่สามารถส่งไปยังโรงงานอาหารได้ เช่นเดียวกับการส่งสินค้าเข้ามายังพื้นที่ส่วนกลางก็ทำได้ยาก

 

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยอมรับว่า หากมีความรุนแรงและยืดเยื้อนาน 1 เดือนขึ้นไป อาจสร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 10,000 ล้านบาท หรือกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 0.1%

ดังนั้น ต้องการให้รัฐบาลเร่งเจรจากับชาวสวนยางให้เร็วที่สุด หากดำเนินการเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เชื่อว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจคงเกิดขึ้นไม่มาก ซึ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ มาจากการที่ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งสินค้าทั้งทางรถไฟ และเส้นทางปกติได้ โดยเฉพาะการส่งสินค้ากลุ่มปูนซีเมนต์ อาหารทะเล เป็นต้น รวมถึงจะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวด้วย เพราะหากสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานจะมีผลต่อช่วงไฮซีซั่น ซึ่งเป็นช่วงที่มีนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศเข้ามาเที่ยวในภาคใต้จำนวนมาก รัฐบาลคงต้องเร่งหาข้อยุติการชุมนุมของชาวสวนยางพาราที่เกิดขึ้นให้ได้โดยเร็ว เพื่อไม่ให้ผลของการชุมนุม เป็นปัจจัยกดดันต่อการเติบโตของ GDP ในปีนี้ให้ชะลอตัวลงไปอีก  


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ย. 2556 เวลา : 16:51:21
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 5:33 am