สุขภาพ
สธ.พบสถิติล่าสุดแม่วัยรุ่นต่ำกว่า 20 ปีคลอดวันละ 365 คน/ต่ำกว่า 15 ปี วันละ 10 คน


สังคมไทยน่าเป็นห่วงขึ้นทุกวัน นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูงขึ้นและปัญหาความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในสังคมแล้ว ปัญหาการตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุยังน้อย ในวัยรุ่นและเยาวชนยังเป็นอีกสิ่งที่รัฐบาลต้องคอยแก้ไข ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ กำหนดแผนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาแม่วัยรุ่นระยะ 5 ปี ครอบคลุมการปรับทัศนคติ การเข้าถึงบริการสุขภาพ และการส่งต่อ ช่วยเหลือ เพิ่มแนวทางป้องกันวัยรุ่นตั้งครรภ์ซ้ำ โดยใช้ห่วงอนามัย ยาฝังคุมกำเนิด แทนการกินป้องกันการลืม คุมได้นาน 3-5 ปี หลังสถิติล่าสุดพบแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดวันละ 365 คน คลอดลูกซ้ำวันละ 42 คน ส่วนวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปี คลอดวันละ 10 คน



ทั้งนี้นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ครั้งที่ 3/2556 ประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานเกี่ยวข้องกว่า 20 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยที่ประชุมได้พิจารณา 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ แนวทางการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดของวัยรุ่น ทั้งกึ่งถาวรและชั่วคราว และแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระยะ 5 ปี พ.ศ.2557-2561

 



นายแพทย์ประดิษฐเปิดเผยว่า ขณะนี้พบว่าวัยรุ่นไทยมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้น และอายุน้อยลงเรื่อยๆ เกิดปัญหาการตั้งครรภ์ตามมา ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากไม่ได้ป้องกันร้อยละ 46 คุมกำเนิดไม่สม่ำเสมอร้อยละ 28 เหตุที่ไม่คุมกำเนิด เนื่องจากขาดความรู้ในการคุมกำเนิดร้อยละ 9 และเข้าใจผิดว่ามีเพศสัมพันธ์ครั้งเดียวไม่ตั้งครรภ์ หรือหากใช้ถุงยางจะขัดขวางความรู้สึกทางเพศ และไม่รู้ว่าตนเองจะมีโอกาสตั้งครรภ์เมื่อใด นอกจากนี้ วัยรุ่นยังไม่กล้าเข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อขอรับบริการคุมกำเนิด ส่งผลให้วัยรุ่นส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดได้ โดยในปี พ.ศ.2555 มีแม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 15 ปีคลอด 3,725 คน เฉลี่ยวันละ 10 คน แม่วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีคลอดลูก 133,176 คน หรือเฉลี่ยคลอดวันละ 365 คน และมีแม่วัยรุ่นคลอดลูกซ้ำปีละ 15,443 คน หรือเฉลี่ยวันละ 42 คน

ดังนั้นเรื่องเร่งด่วนที่จะทำในปีนี้ แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือมาตรการระยะสั้น คือการป้องกันการตั้งครรภ์ โดยให้วัยรุ่นเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกันที่สำคัญคือ ถุงยางอนามัย จะต้องเข้าไปติดตั้งในจุดที่เข้าถึงได้ง่าย เช่น ศูนย์การค้า ห้องน้ำในโรงเรียนต่างๆ โดยทำงานเชื่อมโยงกับกระทรวงศึกษาธิการ และสองคือ การสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองว่าเป็นการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ส่วนในระยะยาว ต้องให้การศึกษาเรื่องเพศศึกษากับเด็ก แบ่งออกเป็น 2 อย่าง เรื่องการป้องกันการควบคุมไม่ให้มีเพศสัมพันธ์ โดยทำให้เป็นเนื้อหามาตรฐานการเรียนการสอนของกระทรวงศึกษาธิการ และฝึกอบรมครูไปเป็นวิทยากรพิเศษในห้องเรียน กระทรวงสาธารณสุขจะให้การสนับสนุนเรื่องของอุปกรณ์ บุคลากร เช่น แพทย์ พยาบาล ในการจัดอบรม หรือพัฒนาทำเป็นสื่อการสอนสำเร็จรูป เผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต เว็ปไซต์เป็นรูปแบบการเข้าถึงได้ง่าย เนื่องจากนักเรียนขณะนี้เรียนผ่านทางอินเตอร์เน็ต จุดมุ่งหมายมุ่งหมายคือให้วัยรุ่นเหล่านี้ โดยเฉพาะอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ได้เรียนรู้ในเรื่องของการป้องกันการตั้งครรภ์ก่อน

สำหรับแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น พ.ศ. 2557-2561 มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ ลดอัตราการคลอดในหญิง อายุ 15-19 ปี จากเดิมในปี 2555 อัตรา 53.8 ต่อวัยรุ่นหญิงพันคนให้เหลือไม่เกิน 50 ต่อวัยรุ่นหญิงพันคน 2. ลดอัตราการคลอดในหญิง อายุต่ำกว่า 15 ปี ลงร้อยละ 30 โดยกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ยุทธศาสตร์ที่ 1 ปรับทัศนคติสร้างความเข้าใจวัยรุ่น พ่อแม่ผู้ปกครอง และสังคม โดยการสื่อสารประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อมวลชน เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ หอกระจายข่าว นิทรรศการ หนังสั้นฯ การประกวดสื่อ จัดทำเว็บไซต์ สร้างและพัฒนาศักยภอข่ายเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มคือ กลุ่มวัยรุ่น จะใช้สภานักเรียน สภานักศึกษาเป็นแกนขับเคลื่อน เนื่องจากอยู่ในวัยเดียวกัน และมีความเข้าใจปัญหาดีกว่า เพิ่มหลักสูตรเพศศึกษาภาคบังคับ

ส่วนในกลุ่มของผู้ใหญ่ คือ พ่อแม่ผู้ปกครองคนในชุมชนจะขับเคลื่อนโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักพัฒนาชุมชน ผู้นำสตรี ผู้นำท้องถิ่นฯ ผสานกับการใช้เว็บไซต์ และสังคมออนไลน์ เช่น ไลน์ เฟซบุค อินสตราแกรม ยูทูป ซึ่งกำลังฮิตในสังคม ร่วมสร้างกระแสได้อย่างรวดเร็ว และครอบคลุมยิ่งขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาการเข้าถึงบริการสุขภาพของวัยรุ่น ให้เข้าถึงได้ง่าย มีบริการคุมกำเนิดที่หลากหลาย เช่น โครงการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิดแบบกึ่งถาวรที่เหมาะสมกับวัยรุ่นหลังคลอดบุตร เพื่อป้องกันตั้งครรภ์ซ้ำ เช่น ห่วงอนามัย และยาฝังคุมกำเนิด การขยายบริการการปรึกษาให้วัยรุ่นสะดวกในการเข้ารับบริการ เช่น สถานบริการสาธารณสุข สถานประกอบการ และร้านขายยา จัดตั้งศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่น (Friend Corner) ในสถานศึกษา สถานที่สาธารณะ การจัดบริการคลินิกที่เป็นมิตรกับวัยรุ่น ที่เชื่อมโยงกับชุมชน สถานศึกษา สถานประกอบการ และแจกถุงยางอนามัย

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาระบบการช่วยเหลือ ส่งต่อ ลดขั้นตอนให้สั้นลง ช่วยเหลือวัยรุ่นได้เร็วขึ้นและ ไม่เกิดปัญหาซ้ำ โดยมีบริการหลายช่องทาง เช่น ศูนย์ช่วยเหลือสังคม (OSCC) คลินิกวัยรุ่น และบริการปรึกษาทางโทรศัพท์ สายด่วน 1663 , 1300 และ 1323 มีแนวทางให้ความช่วยเหลือกรณีตั้งครรภ์ไม่พร้อมโดยทีมสหวิชาชีพแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ นักกฎหมาย เพื่อพิจารณาทางเลือก และมีระบบการส่งต่อ กรณีที่ต้องการตั้งครรภ์ต่อ หรือยุติการตั้งครรภ์ตามเกณฑ์ของแพทยสภา รวมถึงมีการวางแผนการดำเนินชีวิต และมีระบบการติดตามหลังช่วยเหลือทางโทรศัพท์และการเยี่ยมบ้าน เพื่อให้วัยรุ่นกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ

ในส่วนของแนวทางการให้วัยรุ่นเข้าถึงบริการคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ องค์การอนามัยโลก(WHO) ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า ควรใช้การคุมกำเนิดกึ่งถาวร เช่น ห่วงอนามัยและยาฝังคุมกำเนิดซึ่งคุมได้ 3- 5 ปี และปัจจุบัน ยาฝังคุมกำเนิดได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ สำหรับวัยรุ่นชาย กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้ากระจายถุงยางอนามัยให้ทั่วถึง ไม่น้อยกว่าจังหวัดละ 100,000 ชิ้นต่อปี เพื่อลดปัญหาการตั้งครรภ์และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์

ถือเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่น่าจะช่วยทำให้ปัญหาเบาบางลงได้ในอนาคต


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ย. 2556 เวลา : 19:04:05
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:27 am