เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 33/2556: ไมโครไฟแนนซ์ กำลังจะไป นาโนไฟแนนซ์แบบไทยๆ กำลังจะมา



 

ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย SMEขนาดจิ๋ว ท่านที่ต้องมีภาระหมุนเงินตัวเป็นเกลียวหัวเป็นน๊อต คงจะยิ้มย่องผ่องใสกับแนวคิดใหม่ในการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบแก้การติดขัด โดยไม่ต้องไปยุ่งกับพวกตามหนี้นอกระบบที่ใช้ความรุนแรงแบบไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างที่เห็นตามข่าวทุกเมื่อเชื่อวันในเวลานี้

แนวคิดของ กระทรวงการคลัง โดยการออกใบอนุญาต หรือไลเซ่นส์ที่จะให้อำนาจนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาโดยทุนของผู้ประกอบการเอง ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินแบบในปัจจุบัน ดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า 15% ต่อปี (ปัจจุบันอยู่ภายใต้กฎหมาย ป.ว.58 หรือประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ซึ่งใช้ควบคุมอัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงิน) เพราะในว่าการปล่อยสินเชื่อภาคประชาชนที่เป็นรายย่อยหรือ ไมโครไฟแนนซ์ อาจไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีสถาบันการเงินในแบบทุกวันนี้รายใด กล้าปล่อยสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน ให้แก่บุคคลระดับรากหญ้า ที่มีความต้องการใช้เงิน 30,000-50,000 บาท เพื่อลงทุนในกิจการเล็กๆ น้อยๆ เพราะต่างก็คิดว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นหนี้สูญมาก หรือค่าดำเนินการ ค่าบริหารทำไปแล้วไม่คุ้ม ยกเว้นบรรดาเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบ ที่สามารถทำได้เพราะคิดดอกเบี้ย 5-10% ต่อเดือน หรือ 60-120% ต่อปี ทำให้เกิดความคุ้มค่าที่จะลงทุนกับรายย่อยเหล่านี้
              

การแก้ไขปัญหาการปล่อยกู้นอกระบบในปัจจุบัน โดยการดึงให้การปล่อยกู้นั้นเข้ามาอยู่ในระบบเสีย นิติบุคคลดังกล่าวสามารถปล่อยกู้ให้ประชาชนได้ในวงเงินไม่สูงมากอาจเรียกว่า "Nano Finance" สำหรับเงื่อนไขการประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลของบริษัทนิติบุคคลที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) แบบทุกวันในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไปแล้ว ธุรกิจสินเชื่อเงินสดแบบสั่งได้ รถแลกเงิน บ้านแลกเงิน จำนำทะเบียน หรือที่โฆษณาว่า เงินติดล้อ กู้ง่ายได้ไว และบัตรเครดิตนั้นก็รู้จักกันหมดแล้ว ดอกเบี้ยคิดได้สูงสุดไม่เกิน 20% 28%

แต่ใบอนุญาตที่กระทรวงการคลังคิดจะทำตามข่าวสารที่ออกมานี้นั้น ใบอนุญาตจะออกให้แก่ผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจ "สินเชื่อเพื่อธุรกิจรายย่อย" โดยมีเงื่อนไขหลักคือห้ามนำไปซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เพื่อให้เน้นไปที่การเอาเงินไปหมุนค้าขาย แตกต่างจากสินเชื่อที่เอาเงินสดไปกินไปใช้ มีการกำหนดความน่าเชื่อถือของบริษัทที่ได้ใบอนุญาต แต่เปิดกว้างให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด สินเชื่อบุคคลหรือเงินสดติดล้อประเภทต่างๆ หากสนใจก็ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่เพื่อทำหน้าที่ให้บริการ นาโนไฟแนนซ์ได้
         

"แนวทางและความคิดในการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยงของลูกค้านั้นคงไม่ง่ายที่จะบอกประชาชนแน่นอน เพราะดอกเบี้ยจะต้องสูงเกินกว่ากฎหมายที่กำหนดไว้ปัจจุบันที่ 15% ต่อปี ยกตัวอย่างแบบคิดง่าย ๆ เรื่องที่เป็นอยู่จริงๆในวันนี้ ตอนนี้ปล่อยกู้นอกระบบคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยเดือนละ 5% เป็นอย่างต่ำ เผลอ ๆ เดือนละ 10% คำนวณทั้งปีคิดเป็นภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ 120% ดังนั้นถ้าจะทำอย่างนี้แล้ว จะยอมรับความจริงให้คิดดอกเบี้ยที่ 30 บาทต่อปีได้ไหม......................อย่าเกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกงนะครับ

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.ย. 2556 เวลา : 11:20:10
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 5:06 pm