เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"การประเมินความสามารถในการหารายได้ของตัวเอง อย่าคิดในแง่ดีสุดโต่ง" โดย สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร


 

มีอดีตนายธนาคารท่านหนึ่งกล่าวไว้น่าสนใจว่า การที่คนเราไปก่อหนี้สินแล้วต่อมาชำระหนี้ให้เป็นไปตามสัญญาไม่ได้ จนเป็นหนี้เสียกันมากมาย ประเด็นหนึ่งคือ ตัวลูกค้าที่ยื่นขอเงินกู้คิด วางแผนและประเมินความสามารถในการหารายได้ของตัวเองในแง่ดีเกินไป คิดในทางดีอย่างเดียว คิดแบบสุดโต่ง คิดว่าอนาคตไม่มีปัญหา คิดว่า "ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นฉันเก่ง ฉันเอาตัวรอดได้ เรื่องเป็นหนี้ฉันเอาอยู่" ประเด็นหลักเพราะไปคิดว่ารายได้ที่ได้รับมา เงินเดือนที่จะมา มีความมั่นคง ยั่งยืน มีตลอดไป ไม่สูญสลายหายไป และยังคิดต่อไปว่าอนาคตจะมีแต่รายได้เพิ่มขึ้น ไม่มีวันที่จะลดหรือหายไป

เมื่อคิดได้อย่างนี้ทางเดียวก็ไม่เกิดความกลัวที่จะก่อหนี้ เนื่องจากคิดว่ายังไงๆ รายได้ในอนาคตที่จะเข้ามาเพียงพอที่จะจ่ายหนี้คืนตามที่วางแผนเอาไว้ในวันที่คิดจะเป็นหนี้ เรื่องมันควรจะคิดอย่างนี้หรือไม่ครับเพื่อความไม่ประมาทคือ

1. รายได้เป็นปัจจัยทางการเงินที่ควบคุมไม่ได้จริงๆ ไม่มีใครรู้ว่าตัวเราจะถูกเลิกจ้าง กิจการที่เราทำอยู่จะดีตลอดหรือไม่ นายจ้างจะจ้างเราตลอดชีวิตจนอายุ 60ปีหรือไม่ จะมีโบนัสทุกปีเป็นจำนวนเงินที่มากพอ มีใครเคยคิดว่า Nokia ที่โดดเด่นเป็นผู้นำจะขาดทุนจนมีปัญหาต้องเอาสำนักงานใหญ่ออกมาขาย แบล็คเบอร์รี่ที่ครั้งหนึ่งมีคนใช้ทั่วบ้านที่เมืองจะขาดทุนมหาศาลจนต้องขายกิจการออกไป บริษัทโตชิบาปลดพนักงานในจีนออกกว่า 3,000คน ความเชื่อเรื่องจ้างงานตลอดชีวิตก็เอวังลงไป Kodak ที่เคยเป็นพระเอกในอดีตแบบหาคนเทียบชั้นก็เจอปัญหา ดังนั้นอะไรๆก็เกิดขึ้นได้ มีเกิดก็มีดับแถมเวลาดับเร็วดุจจรวดเลย ท่านผู้อ่านว่าจริงไหม

2. ละเลยเงื่อนไขที่เป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการชำระหนี้ที่ใครๆ ไม่ว่าคนกู้ คนให้กู้ก็ทราบดีโดยทั่วไปคือ

2.1  ภาระในการจ่ายหนี้ในแต่ละเดือนต้องไม่เกิน 40% ของรายได้กล่าวคือ ถ้ามีเงินได้เดือนละ 20,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องมีภาระการจ่ายหนี้รถ บ้าน บัตร เงินกู้ส่วนบุคคลรวมกันแล้วไม่เกิน 8,000 บาทต่อเดือน

2.2  ต้องไม่หลอกตัวเองว่าที่มีเงินกู้บ้าน เงินกู้รถแบบ 0% นั้นมันมีต้นทุนแฝงอยู่นะ อย่าไปหลงว่าเงินกู้นี้ไม่มีดอกเบี้ย ต้องดูภาระหนี้ให้ออก อ่านเอกสารที่เกี่ยวกับเงินกู้ให้ออก ต้องไม่หลงทางกับการตลาดที่ลดแลก แจก แถม ให้กู้เงิน โดยเฉพาะเงื่อนไขประเภทยกเว้นดอกเบี้ยให้ 1 ปีหรือ 2 ปี เพราะเมื่อโปรโมชั่นหมดและเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายหนี้คืนทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยในอัตราปกติแล้วความเป็นจริงก็บังเกิด ดวงตาเห็นธรรมว่าไม่ควรจะก่อหนี้เลย

3. ละเลยเรื่องที่ไม่คาดฝัน เช่น เกิดอุบัติเหตุตกงาน ไม่มีรายได้ หรือรายได้ลดลง เพราะนายจ้างขาดทุนต้องลดรายจ่าย งดจ่ายโบนัส ตอนนั้นคงไม่ต้องพูดว่าจะต้องจ่ายชำระหนี้กี่ % แล้วครับ เตรียมตัวถูกฟ้องและเตรียมคำให้การเวลาสู้คดีที่เข้าหนี้ฟ้องมาให้ชำระหนี้ดีกว่า
      

ที่เล่า ที่บอกมา ที่นำเสนอมานี้เพื่อเตือนสติ เตือนใจไม่ให้ลุ่มหลงไปกับการสร้างหนี้โดยไม่ยั้งคิด "ออมก่อนกู้ คิดก่อนซื้อ มีวินัย ใช้หนี้ให้ตรง" ก่อนจะก่อหนี้ควรนึกให้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เกิดแล้วจะเป็นยังไงต่อ ท้ายสุดหากขาดรายได้เพราะสาเหตุที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

สุรพล โอภาสเสถียร
ผู้จัดการใหญ่
บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ต.ค. 2556 เวลา : 09:15:06
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:36 am