สุขภาพ
สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ เตือน ฉีดฟิลเลอร์เสริมจมูกกระทบตา-แขนขาอ่อนแรง


 

 

สมาคมแพทย์ผิวหนังฯเตือนประชาชนระมัดระวังการฉีดฟิลเลอร์เพื่อเสริมความงาม อาจส่งผลข้างเคียงต่อตาหรือเกิดภาวะแขนขาอ่อนแรงได้ ชี้ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อนตัดสินใจ ทั้งประเภทของฟิลเลอร์ที่จะฉีด ค่าใช้จ่ายเหมาะสม ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และความเชี่ยวชาญของแพทย์ ซึ่งผู้รับการรักษาสามารถสอบถามข้อมูลจากแพทย์ได้ตามสิทธิ แต่หากข้อสงสัยเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ สมาคมแพทย์ผิวหนังฯ

 

 

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยเปิดเผยรายงานเตือนภัยด่วนหลังจากพบว่า  มีผู้ป่วยไปรับบริการฉีดสารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์เพื่อเสริมจมูกแล้วเกิดอาการตามองไม่เห็นเฉียบพลัน และมี 1 รายที่มีอาการแขนขาอ่อนแรง ดังนั้นสมาคมฯจึงมีความห่วงใยผู้ที่ไปรับบริการด้านไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนเนื่องจากมีทั้งข้อดีในเรื่องของความงามและข้อเสียเกี่ยวกับการเกิดสภาวะแทรกซ้อนกับผู้ป่วยบางราย

ทั้งนี้สารเติมเต็มมีหลายชนิดแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ได้แก่ 1แบบชั่วคราว (Temporary Filler)   มีอายุใช้งานประมาณ 4 - 6 เดือน  แต่มีความปลอดภัยสูง สลายตัวได้เองตามธรรมชาติ 2. แบบกึ่งถาวร (Semi Permanent Filler) มีอายุใช้งานประมาณ 2 ปี มีความปลอดภัยปานกลาง และ3.แบบถาวร (Permanent Filler) เช่น ซิลิโคน หรือ พาราฟิน หลังฉีดแล้วจะอยู่ในผิวตลอดไป ไม่สลายตามธรรมชาติ มักพบผลข้างเคียงระยะยาว ซึ่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน ที่ผ่านมาทางแพทย์สภาประกาศห้ามใช้ฟิลลเอร์ชนิดถาวรอย่างเด็ดขาดไปแล้ว 

                      

                                       

การใช้สารเติมเต็มหรือฟิลเลอร์ สำหรับรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ใช้หลักการ คือ ผิวหนัง  ซึ่งจะมีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ  คือ ใยคอลลาเจน  และ สารไฮยาลูโรนิก ที่มีความสามารถในการอุ้มน้ำมากกว่าตัวเอง 100 เท่า  มีหน้าที่สำคัญโดยเป็นองค์ประกอบที่ให้ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นแก่ผิวหนัง ทำให้ผิวพรรณมีรูปทรงเต่งตึง แต่เมื่อเวลาผ่านไปเข้าสู่วัยชรา พบว่าใยคอลลาเจน และสารอุ้มน้ำจะค่อยๆ มีจำนวนลดน้อยลง มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผิวหนังจะมีลักษณะบางลงเกิดริ้วรอยริ้วรอยเหี่ยวย่น เพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าวจึงมีความพยายามหาทางแก้ไขโดยการฉีดสารจากภายนอกเข้าไปในผิวหนังเพื่อทดแทนหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Filler”        

ข้อชี้บ่งสำหรับการรักษาปัญหาผิวพรรณนั้น ในปัจจุบันสารเติมเต็ม หรือฟิลเลอร์ (Filler) จะถูกนำมาใช้รักษาทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย  เราสามารถใช้ Filler  กับการรักษาปัญหาผิวพรรณได้ โดยการแก้ไขปัญหาริ้วรอยของผิวอันเนื่องมาจากวัย เช่น ริ้วรอยบริเวณหน้าผาก หางตา และร่องแก้ม ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยFiller                      

โดยการฉีด Filler  จะสามารถเติมเต็มใยคอลลาเจนที่หายไป ทำให้ริ้วรอยบริเวณดังกล่าวตื้นขึ้น สภาพผิวดูดีขึ้น การใช้แก้ไขปัญหาแผลเป็นชนิดผิวบุ๋ม เช่น การเกิดแผลบุ๋มจากสิวอักเสบ เป็นต้น กรณีดังกล่าวนี้สามารถใช้ Filler เติมเต็มทำให้แผลบุ๋มดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้องเลือกชนิดแผลผิวบุ๋มที่เหมาะสมต่อการรักษา โดยแผลนั้นต้องไม่มีพังผืดในบริเวณใต้แผลบุ๋ม มิฉะนั้นผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร และการใช้ Filler ฉีดเพื่อเสริมเนื้อเยื่อผิวหนังให้มีลักษณะนูนเต็มขึ้นกว่าเดิม (Augmentation) เช่น เสริมจมูก เสริมคาง ริมฝีปาก หรือฉีดเพื่อทำให้รูปทรงของหน้าดูอวบอิ่มกว่าเดิม

สำหรับผลข้างเคียงที่ทำให้ตาบอดหรือแขนขาอ่อนแรงเกิดจากการที่ฉีดสารเข้าไปในเส้นเลือดที่ต่อเนื่อง ไปเลี้ยงลูกตา อาจพลาดไปโดนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงบริเวณดวงตา ทำให้เกิดอาการเส้นเลือดตีบตันจนตาบอดถาวรได้ เนื่องจากดวงตาสามารถทนภาวะขาดเลือดได้แค่ 90 นาทีเท่านั้น ต่างจากผิวหนังที่ทนได้ 6 ชั่วโมง

การฉีดเสริมจมูกด้วยฟิลเลอร์  ที่เป็นที่นิยมเพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าทำง่ายเหมือนฉีดยาไม่บอบช้ำเหมือนการผ่าตัด  ใช้เวลาไม่กี่นาที สามารถกลับไปทำงานได้ทันที ทำให้มีการฉีดเสริมจมูกกันอย่างแพร่หลายจึงพบว่ามีผู้ป่วยตาบอดจากการฉีดเสริมจมูกมากกว่าการฉีดที่บริเวณอื่นชัดเจน แสดงให้เห็นว่าบริเวณจมูกเป็นบริเวณที่เสี่ยงอันตราย  เนื่องจาก มีแขนงหลอดเลือดจำนวนมาก  ที่บริเวณจมูกที่เชื่อมต่อกับระบบหลอดเลือดของประสาทตาและสมองโดยตรงจึงขอให้หลีกเลี่ยงการเสริมจมูกด้วยวิธีนี้ เนื่องจากไม่คุ้มค่าความเสี่ยงตาบอดเพื่อแลกกับการทำให้จมูกโด่งเพียงชั่วคราว 

แม้แต่ฟิลเลอร์ที่อ.ย. รับรองก็อาจเกิดตาบอดได้เช่นกันเพราะอาการตาบอดไม่ได้เกิดจากคุณภาพของสารที่ฉีดแต่เกิดจากกระบวนการฉีดที่มีการรั่วไหลของฟิลเลอร์เข้าไปอุดตันหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงประสาทตาทำให้ตาบอดถาวรตลอดชีวิต

พล.ต.นพ กฤษฎา ดวงอุไร นายกสมาคมแพทย์ผิวหนังฯ ขอความร่วมมือกับแพทย์และผู้ที่อยากเสริมจมูก ควรทำด้วยวิธีอื่นที่ปลอดภัยมากกว่า การฉีดฟิลเลอร์ เนื่องจากอาจเกิดอันตรายที่รุนแรงและสารเหล่านี้มีราคาแพงและอยู่ได้ไม่ถาวร อันตรายที่เกิดขึ้นสามารถเกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ตัวผู้ทำการฉีดต้องมีความรู้ ความชำนาญสูง และต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ถึงแม้ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูงสุดก็อาจเกิดผลข้างเคียงได้ 2. สารที่ใช้แม้ว่าเป็นสารที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา ก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ แม้แต่การดูดไขมันของตัวเองมาฉีดก็เกิดอันตรายได้เช่นกัน 3. ตัวผู้รับการฉีด แต่ละคนมีกายวิภาคที่ต่างกัน ตำแหน่งของเส้นเลือดเส้นประสาทอาจมีความแตกต่างจากคนอื่นได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ได้รับการผ่าตัด การฉีด การร้อยไหม จะมีพังผืดทำให้เกิดอันตรายง่ายขึ้นอีก 

ทั้งนี้หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามที่สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย โทร. 02-716-6857  เว็บไซต์  www.dst.or.th หรืออีเมล์  contact@dst.or.th

 

 

 

 

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ต.ค. 2556 เวลา : 09:50:18
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:19 pm