เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "เส้นตายเพดานหนี้สหรัฐฯ 17 ต.ค. น่ากังวลเพียงใด?"


 

 
วันที่ 17 ต.ค. นี้ เป็นวันที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ (US Treasury) คาดว่าอาจจะมีเงินไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย และตลาดการเงินคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากผิดนัดชำระหนี้หากการเจรจาขยายเพดานหนี้ไม่สามารถบรรลุผลได้ภายในวันดังกล่าว
 
Analysis
 
ประเด็นที่น่ากังวลหากรัฐบาลไม่สามารถขยายเพดานหนี้ภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่ใช่การชำระคืนเงินต้นแต่เป็นดอกเบี้ย เพดานหนี้เป็นเครื่องกำหนดปริมาณหนี้ (Stock of Debt Outstanding) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น เมื่อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ครบกำหนด สหรัฐฯสามารถที่จะ Refinance เงินต้นของหนี้ดังกล่าวได้ โดยไม่กระทบต่อเพดานหนี้แต่ค่าใช้จ่ายเรื่องดอกเบี้ยนั้นถือเป็นรายจ่ายของรัฐบาลซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบหากรัฐบาลมีรายรับไม่เพียงพอกับรายจ่ายหลังจากวันที่ 17 ต.ค. 
 
วันที่ 17 ต.ค. ไม่ใช่วันที่เป็นเส้นตายในการผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐฯ US Treasury ประมาณการว่าในวันที่ 17 ต.ค. จะมีเงินสดในมือเหลือประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะไม่เพียงพอหากมีการใช้จ่ายที่ไม่ได้คาดคิดเกิดขึ้น แต่เมื่อพิจารณารายรับและรายจ่ายต่างๆ ของรัฐบาลในช่วงเดือนตุลาคมนั้น ทาง US Congressional Budget Office (CBO) ประเมินว่าวันที่เงินสดในมือของUS Treasury หมดจะอยู่ระหว่างวันที่ 21 ถึง 31 ต.ค. ทั้งนี้ วันแรกที่ US Treasury จะต้องชำระดอกเบี้ยหลังจากวันที่ 17 ต.ค. คือวันที่ 31 ต.ค. (รูปที่ 1) 
 
โอกาสที่สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้มีน้อยมาก ถึงแม้ว่าสภา Congress จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเพื่อขยายเพดานหนี้ได้ทันในช่วงเดือนต.ค. เนื่องจากรายจ่ายดอกเบี้ยของรัฐบาลสหรัฐฯ ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ มีราว 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียงประมาณ 3% ของรายรับของรัฐบาลในเดือนต.ค. ดังนั้น จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีรายรับเพียงพอที่จะชำระหนี้ได้หากเลือกที่จะให้ความสำคัญกับการชำระหนี้เป็นลำดับแรก (รูปที่ 2)
 
 Implications
 
 EIC คาดว่าการขยายเพดานหนี้น่าจะสำเร็จก่อนวันที่ 17 ต.ค. แต่มีความเป็นได้ที่การเจรจาอาจยืดเยื้อออกไป เนื่องจากเงินในมือของ US Treasury ยังไม่ได้หมดในวันที่ 17 ต.ค. ซึ่งนักการเมืองสหรัฐฯ ก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวดี ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่การเจรจาอาจจะยืดเยื้อออกไปถึงช่วงระหว่างวันที่ 21-31 ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่เงินจะหมด และสหรัฐฯจะต้องเริ่มชำระดอกเบี้ยงวดแรกในวันที่ 31 ต.ค.
 
ประเด็นสำคัญคือการผิดนัดชำระของสหรัฐฯ นี้ หากเกิดขึ้นจริง จะแตกต่างจากกรณีของ  Lehman Brothers  เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ นี้เป็นกรณีชั่วคราว (Selective Default) และไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ระยะยาว (Long-run Ability to Service Debt) ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีการล้มละลายของ Lehman Brothers ที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติการเงินในปี 2008 ทั้งนี้ ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (US Federal Reserve) น่าจะมีวิธีการรับประกันความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งจะบรรเทาผลกระทบต่อตลาดซื้อคืนพันธบัตรของสหรัฐฯ ที่น่าจะเป็นตลาดที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุดจากการใช้พันธบัตรสหรัฐฯ เป็นเครื่องค้ำประกันการกู้เงิน
 
EIC ประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของไทยน่าจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากผลกระทบทางตรงหลักๆ ต่อภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯ จะมาจากการ Delay การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ และค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ซึ่งผลกระทบน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากการเบิกจ่ายย้อนหลังน่าจะทำได้ค่อนข้างเร็วหลังจากรัฐบาลเปิดทำการ แต่หากการเบิกจ่ายดังกล่าวล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกของไทย ซึ่งสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ คือ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารทะเลกระป๋อง อาจได้รับผลกระทบดังกล่าว
 
จับตาดูความผันผวนในตลาดการเงิน ที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่อเข้าใกล้วันที่ 17 ต.ค. โดยความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ จะส่งผลต่อทั้งความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศในกลุ่ม Emerging Markets อย่างไรก็ดี ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยในปัจจุบันมีมากพอที่จะรองรับความผันผวนดังกล่าวได้ การไหลออกของเงินทุนต่างชาติจึงไม่น่าจะทำให้ประเทศมีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติดุลการชำระเงิน
 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ต.ค. 2556 เวลา : 21:35:44
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:49 am