เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เสียงสะท้อนตั้ง "กองทุนมั่นคั่งแห่งชาติ"


 

 

แนวคิดนำเงินสำรองระหว่างประเทศมาตั้งกองทุนมั่งคั่งของรัฐบาลชุดนี้  ไม่นับว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะเคยมีการเสนอแนวคิดนี้มาแล้วเมื่อครั้งในอดีตที่ผ่านมาและปัจจุบันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 11  ตุลาคม  อยู่ที่  171.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  แต่การนำเงินดังกล่าวมาลงทุน  ก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน

 

 

 

โดยในส่วนของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล  ยืนยันว่า  ธปท. ไม่มีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนใดๆ เป็นพิเศษ ซึ่งการนำเงินสำรองระหว่างประเทศไปลงทุน เพื่อให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่ดี  แต่รูปแบบในการนำไปใช้อาจต่างกัน ซึ่งการลงทุนในปัจจุบัน ธปท.มีการขยายการลงทุนที่หลากหลายและทำภายใต้กรอบการจัดการกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ อย่างรอบคอบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่การลงทุนในครั้งเดียว

ส่วนแนวคิดของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายธีระชัย  ภูวนาถนรานุบาล  ระบุว่า  ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศในขณะนี้ มีความไม่แน่นอนสูงมาก  เพราะสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาทางการเมืองที่ยังตกลงกันไม่ได้ ขณะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรปยังทำได้ไม่เต็มที่ รวมถึงเอเชีย ที่ยังคงเห็นภาพการชะลอตัวทางเศรษฐกิจอยู่ อาทิ จีน และ อินเดีย    ซึ่งแนวคิดการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ มาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ    เป็นแนวคิดที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้เงินทุนสำรองมีจำนวนลดลง 

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย  แสดงความคิดเห็นว่า เป็นแนวคิดที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประเทศ เพื่อนำเงินทุนสำรองส่วนเกินออกมาลงทุนในต่างประเทศ  แต่หากจะมีการจัดตั้งในช่วง 1-2 ปีนี้ มองว่ายังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม  เนื่องจากตลาดการเงินโลกมีความผันผวนมาก เพราะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าออกอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงยังจำเป็นต้องกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไว้ดูแลค่าเงินบาทก่อน เนื่องจากหากประเทศใดมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงจะสามารถความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติได้


 

ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และอดีตผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยถึงแนวคิดของนายอำพน กิตติอำพน ประธานคณะกรรมการธปท. ที่จะนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ  เพื่อลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย และใช้ในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แนวคิดใหม่  เพราะอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในหลายสมัย มีแนวคิดนำเงินทุนสำรองออกมาใช้เพื่อการลงทุนอยู่แล้ว แต่จะต้องแก้กฎหมายของ พ.ร.บ.ธปท. พ.ศ.2551 ก่อน

แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า ประธานบอร์ดจะนำเงินทุนสำรองในส่วนใดออกมาใช้ ในปริมาณเท่าใด  เนื่องจากปัจจุบันเงินทุนสำรองดังกล่าวที่มีอยู่ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งออกเป็น 2 บัญชี ประกอบด้วย บัญชีของฝ่ายบริหารทุนสำรอง 1.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และบัญชีฝ่ายออกบัตรอีก 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ  แต่ในเบื้องต้นหากจะนำเงินทุนสำรองมาใช้ประมาณ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็ไม่น่ามีปัญหา

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์  กล่าวว่า  การที่รัฐบาลพยายามนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้เพื่อให้รัฐบาลกู้เงิน 2 ล้านล้านมาทำโครงการที่ไม่คุ้มทุน จะมีความเสี่ยงอย่างมาก ผิดหลักวินัยการเงินการคลังและเป็นอันตราย  ทำให้เกิดความสับสนในการทำหน้าที่ของการบริหารเศรษฐกิจ  เพราะจะมีเรื่องของความเป็นเจ้าหนี้
ลูกหนี้เข้ามาเกี่ยวข้อง  และนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาตั้งกองทุนปล่อยกู้ให้รัฐบาล  ก็จะทำให้ประเทศชาติเข้าสู่ความเสี่ยงมากขึ้น

ขณะที่นายภาณุพงศ์  นิธิประภา  คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า  เป็นเรื่องที่ทำได้ และในหลายประเทศก็ดำเนินการอยู่ เพราะปัจจุบันเงินทุนสำรองของไทยมีสูงเกินความจำเป็น ซึ่งหากตั้งกองทุนความมั่งคั่งฯ จริง ก็ควรลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าพันธบัตรรัฐบาลในต่างประเทศ


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ต.ค. 2556 เวลา : 11:34:10
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:11 am