เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรฯคาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/56 อาจโตเพียง 3.6%




 

 

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทวิเคราะห์ "สัญญาณเศรษฐกิจไทยท้ายไตรมาส 3/56...ชะลอลง จับตาหลายตัวแปรที่อาจมีผลต่อแนวโน้มไตรมาส 4 "

มีประเด็นสำคัญดังนี้คือ

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในหลายภาคส่วน ยังไม่สามารถประคองตัวกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัวได้อย่างมั่นคงนัก โดยการส่งออก การใช้จ่ายภาคเอกชน การผลิตภาคอุตสาหกรรม และผลผลิตทางการเกษตร มีทิศทางหดตัวทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

 

 

  

 

 

ประเทศไม่สามารถประคองทิศทางการขยายตัว บรรยากาศการใช้จ่ายของภาคเอกชน (ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุน) ในเดือนก.ย. 2556 นั้น ถูกกดดันจากหลายปัจจัยแวดล้อม ประกอบด้วย ความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และภาวะอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทั้งนี้ สัญญาณความซบเซาของการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากการหดตัวลงของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (-19.4% YoY) และมูลค่าการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (-3.4% YoY) ขณะที่ เครื่องชี้สำคัญในด้านการลงทุนภาคเอกชน อาทิ การนำเข้าสินค้าทุน (-10.9% YoY) และปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (-26.1% YoY) ก็ยังคงหดตัวเป็นเวลาหลายเดือนติดต่อกัน สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจที่ปรับตัวลงมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 (บ่งชี้ความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง) เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน

 


การผลิตหดตัวตามการส่งออกเดือนก.ย. 2556...การฟื้นตัวยังต้องเลื่อนออกไป สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม ในยามที่การใช้จ่ายภายในประเทศยังอยู่ในช่วงชะลอตัว ส่งผลทำให้สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย (-2.9% YoY) เผชิญกับภาวะหดตัวเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน ขณะที่ การฟื้นตัวกลับมาของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญบางตัว (อาทิ ข้าว ยาง มันสำปะหลัง) รวมถึงการส่งออกสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ที่สามารถรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่องนั้น ไม่สามารถหนุนภาพรวมของการส่งออกไทยที่พลิกกลับมาหดตัวลงอีกครั้ง (-6.3% YoY)  โดยสัญญาณที่ดีขึ้นจากเครื่องชี้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีน ยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังไม่สามารถส่งผ่านผลด้านบวกมาที่คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไทยได้อย่างเต็มที่นัก

 


 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2556-2557  

สัญญาณในภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงระหว่างเดือนก.ค.-ก.ย.2556 ที่สะท้อนภาพที่อ่อนแอของการส่งออก การผลิตภาคอุตสาหกรรม การใช้จ่ายของภาคเอกชน และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ (ในช่วงต้นๆ ไตรมาส) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพีประจำไตรมาส 3/2556 (ซึ่งสศช.จะประกาศในวันที่ 18 พ.ย. 2556) จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.6 (YoY) ซึ่งแม้จะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 (YoY) ในไตรมาส 2/2556 เนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับดุลบัญชีเดินสะพัดที่บันทึกยอดขาดดุลลดลงมาที่ 888.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสที่ 3/2556 (จากที่ขาดดุลในระดับสูงถึง 6,663.6 ล้านดอลลาร์ฯ ในไตรมาสที่ 2/2556)

ภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 2556 และในปี 2557


ปัจจัยเรื่องฐานเปรียบเทียบที่สูงในช่วงไตรมาส 4/2555 และบรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศที่ยังคงขาดแรงกระตุ้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะเผชิญสถานการณ์ที่ท้าทายไม่น้อยในการประคองทิศทางกลับสู่เส้นทางการฟื้นตัว โดยตัวแปรที่อาจมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2556 รวมถึงกรอบประมาณการเศรษฐกิจทั้งปี 2556 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.0 ในขณะนี้ ประกอบด้วย 1) ระยะเวลาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังภาวะ Shutdown ของหน่วยงานราชการในสหรัฐฯ

 

 

รวมถึงทิศทางเศรษฐกิจจีนท่ามกลางสัญญาณเดินหน้าปฏิรูปในหลายๆ ด้านของทางการ เพราะต้องยอมรับว่า สัญญาณเศรษฐกิจจากทั้งสหรัฐฯ และจีน มีนัยสำคัญค่อนข้างมากต่อภาพรวมของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไทยจากประเทศคู่ค้าสำคัญในตลาดหลักและตลาดศักยภาพ และ 2) สถานการณ์และความเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ ซึ่งเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญต่อการประคองความเชื่อมั่นและโมเมนตัมการใช้จ่ายในประเทศ รวมถึงความสามารถในการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ของภาครัฐ ในช่วงในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 2556

สำหรับในปี 2557 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากเศรษฐกิจโลกทยอยมีทิศทางที่ดีขึ้นในภาพกว้าง และทางการไทยสามารถเดินหน้าแผนการใช้จ่าย (ทั้งในส่วนที่อยู่ในงบประมาณปี 2557 และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน) ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยทยอยปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่กรอบประมาณร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีค่ากลางกรณีพื้นฐานที่ร้อยละ 4.5

 


 


LastUpdate 02/11/2556 10:01:26 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 12:00 am