เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ครม.ไฟเขียวออก พ.ร.บ.กองทุนฯ อุ้มแบงก์รัฐ


 

คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ. …. ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยได้ปรับปรุงรูปแบบของกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นกองทุนที่มีสถานะไม่เป็นนิติบุคคลอยู่ในสำนักงานเศรษฐกิจการคลังซึ่งกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นชอบด้วยและยืนยันให้ดำเนินการต่อไปได้ตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

โดยหลักเกณฑ์การนำส่งเงินเข้ากองทุน กำหนดฐานในการคำนวณเงินนำส่งเข้ากองทุนให้คำนวณจากยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน และให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดรายละเอียดของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนและการคำนวณเงินนำส่งกองทุนกำหนดอัตราการเรียกเก็บเงินนำส่งให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 1ซึ่งอัตราที่กำหนดนั้นจะสอดคล้องกับการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากด้วย

ส่วนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินกองทุน ในกรณีเพิ่มทุนสถาบันการเงิน หากกระทรวงการคลังเห็นสมควรใช้เงินจากกองทุนให้เสนอคณะกรรมการพิจารณาจำนวนเงินที่จะจัดสรรจากกองทุนเพื่อการเพิ่มทุน เมื่อคณะกรรมการพิจารณาจำนวนเงินที่จะจัดสรรแล้วให้กระทรวงการคลังเสนอความเห็นของคณะกรรมการต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ  หรือ กรณีการสนับสนุนการดำเนินโครงการตามมติคณะรัฐมนตรี กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขอรับการสนับสนุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาอนุมัติเงินกองทุนไม่เกินวงเงินที่คณะกรรมการเสนอ ซึ่งโครงการที่จะได้รับการสนับสนุนนั้นต้องเป็นโครงการที่ดำเนินการในภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับแล้วเท่านั้น

การจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เป็นผลจากการสนองนโยบายต่างๆของรัฐบาลจากธนาคารรัฐ ที่สร้างผลเสียต่อฐานะของธนาคารในอนาคต เช่น โครงการรับจำนำข้าว โครงการพักหนี้เกษตรกร และโครงการประชานิยมต่างๆ  ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา

 

 

นายสมชัย สัจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยอมรับว่า ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) มีปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอ เนื่องจากมีการถอนเงินออกจำนวนมาก สศค.จึงได้ขอความร่วมมือไปยังสภาแบงก์รัฐที่มีธนาคารออมสินเป็นประธานได้เตรียมสภาพคล่องไว้ให้ทั้ง 2 ธนาคาร หากมีปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้น เพื่อเป็นการ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินและขอสินเชื่อ ว่าธนาคารทั้งสองแห่งสามารถดำเนินการ ได้ตามปกติ แม้ว่าปัจจุบัน ผู้บริหารของธนาคารรัฐทั้ง 2 แห่งจะออกมายืนยันว่า ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารดีขึ้นแล้ว แต่ในอนาคตเมื่อธนาคารรัฐ ยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล จึงย่อมหนีไม่พ้นการสนองนโยบายต่างๆของรัฐบาลที่จะดึงคะแนนนิยมจากประชาชน   
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 พ.ย. 2556 เวลา : 14:30:18
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:46 pm