สุขภาพ
สทน. เตือน"เรดอน" ภัยเงียบในบ้าน เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอด


 

 

เรดอน  ก๊าซเฉื่อยที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่มีรส ได้รับมากเกินจำเป็นเสี่ยงเป็นมะเร็งปอด แนะคนอยู่คฤหาสน์ หรือบ้านบ้านปูน ใส่ใจสร้างระบบระบายอากาศ เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้ สามารถลดความเสี่ยงได้


ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่สร้างบ้านเป็นคฤหาสน์หลังใหญ่โต เลือกใช้วัสดุที่เขาบอกว่าราคาแพง แข็งแรงคงทน หรูหรา อย่าง คอนกรีต หินแกรนิต หินอ่อน กระเบื้องโมแสดต่างๆ แต่วัสดุเหล่านั้นใช่ว่าจะมีผลดีต่อสุขภาพคนเรา เพราะบ้านท่านอาจจะปะปนไปด้วย ก๊าซเรดอนเจ้านี่ คือ ก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ จากการเสื่อมสลายตัวของธาตุยูเรเนียมซึ่งมีปะปนอยู่ในหินดินทรายทั่วโลก จนกลายเป็นเรเดียมและกลายมาเป็นก๊าซเรดอนในที่สุด โดยเมื่อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ก๊าซเรดอนจะสลายตัวปล่อยรังสีอัลฟาพลังงานสูงออกมาทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและกลายเป็นมะเร็งในที่สุด


เรดอนเข้ามาอยู่ในบ้านคนเราได้อย่างไร ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เรดอนเกิดจากธรรมชาติ มันปะปนอยู่ในชั้นหิน แร่หิน ที่สำคัญก๊าซเรดอนไม่มีสี ไม่มีกลิ่น คนเราไม่สามารถรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสใดๆ มันสามารถแทรกตัวผ่านพื้นดินเข้ามาในตัวบ้านโดยตรงหรือผ่านทางท่อ รูเปิดต่างๆ และรอยแตกร้าว นอกจากนั้นยังอาจจะมาจากหินหรือทรายที่มีแร่เรเดียมปนเปื้อน แล้วนำมาใช้ในการสร้างบ้าน มีข้อมูลระบุว่าก๊าซเรดอนที่สะสมในบ้านเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและทำให้ผู้ป่วยในสหภาพยุโรปเสียชีวิตปีละ 20,000 คนส่วนในสหรัฐอเมริกาพบว่าบ้าน 1 ในทุก 15 หลังจะมีระดับก๊าซเรดอนสูง จนองค์การวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศจัดให้ก๊าซเรดอนเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 หรือ 25 ปีมาแล้ว

 

 


องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา (The U.S. Environmental Protection Agency; EPA) ได้กําหนดระดับก๊าซเรดอนในอาคารที่พักอาศัยไว้ที่ 4 pCi/L (หรือ 148 Bq/m3) และกำหนดเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ก๊าซเรดอนจะมีปริมาณน้อยกว่า 4 pCi/L ก็ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพ และควรจะต้อง ลดปริมาณลงให้น้อยกว่านี้อีก ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าบ้านในประเทศสหรัฐอเมริกามีประมาณ 6% ที่มีปริมาณก๊าซเรดอน ในบ้านสูงกว่าหรือเท่ากับระดับที่กำหนด ต่อมาในปี 2009 องค์การอนามัยโลก (The World Health Organization; WHO) ได้ปรับลดค่าเรดอนภายในอาคารที่พักอาศัยเป็น 2.7 pCi/L (หรือ 100 Bq/m3) เพื่อให้มีระดับความปลอดภัยแก่ ประชาชนมากยิ่งขึ้นแต่ในประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายกำหนดปริมาณก๊าซเรดอนที่ปลอดภัย

 

ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน.กล่าวว่าเจ้าของบ้านอาจจะไม่รู้ว่ามีก๊าซชนิดนี้วนเวียนอยู่ในบ้านเราหรือไม่ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าบ้านเรามีก๊าซเรดอนในปริมาณสูงมากน้อยเพียงใด เพราะในประเทศไทยมีเครื่องมือในการวัดปริมาณก๊าซเรดอนและนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้อยู่ที่ สทน. ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถวัดปริมาณก๊าซเรดอนในพื้นที่เป้าหมายได้ผลอย่างแม่นยำ 

ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องอาศัยอยู่ในบ้านที่มีก๊าซเรดอน แต่เราสามารถลดปริมาณก๊าซเรดอนภายในบ้านได้ ซึ่งทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การออกแบบบ้านให้มีช่องระบายอากาศ และไม่ ปิดทึบจนเกินไป การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ไม่มีสารกัมมันตรังสี และการระบายอากาศภายในบ้าน โดยการเปิดประตู หน้าต่าง และช่องระบายลม เพื่อไม่ให้มีก๊าซเรดอนอยู่ภายในบ้านสูงเกินไป และที่สำคัญคือ การอุดรอยร้าวและรอยแยก ตามพื้นและผนังของบ้าน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรดอนเข้าสู่ภายในบ้าน

 


หากผู้ประกอบการบ้านจัดสรร โดยเฉพาะหมู่บ้านจัดสรรที่มีราคาสูงใช้วัสดุอย่างดีในการก่อสร้างบ้าน เพราะไม่ว่าจะเป็นทรายที่นำมาผสมกับปูน หินแกรนิต หรือใยหินต่างๆ ก็อาจมีเรดอนปะปนอยู่ แต่ไม่ทราบว่ามากน้อยเท่าไหร่ ขอแนะนำผู้ประกอบการสามารถติดต่อกับสทน.เพื่อขอรับบริการวัดก๊าซเรดอนได้สทน.จะนำเครื่องวัดก๊าซเรดอนไปให้บริการวัดก๊าซเรดอนให้กับท่าน การวัดนั้นสามารถทำได้ปีละครั้งก็ยังดี ถือเป็นบริการหลังจากการขายดีๆจากผู้ประกอบการ และยังเป็นการดูแลสุขภาพแก่ลูกบ้านให้อยู่กันอย่างมีความสุขไปอีกนานเท่านาน


LastUpdate 29/11/2556 13:36:27 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:40 am