เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.จับตาฟองสบู่อสังหาฯ หลังดอกเบี้ยลง


 

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เหลือ 2.25 % ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ ธปท.ต้องการช่วยลดภาระให้กับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัว ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ 

 

 

 

แต่ธุรกิจที่ได้รับผลดีจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ย่อมหนีไม่พ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เห็นได้จากราคาหุ้นในกลุ่มอสังหาฯได้ปรับเพิ่มขึ้นทันที หลังจากที่ กนง.มีมติปรับลดอัตราดอเบี้ยลง ทำให้ธปท.ต้องติดตามภาวะฟองสบู่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น

 

 

โดยล่าสุด นายประสาร ไตรรัตรน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ยอมรับว่า ธปท.ได้ให้ทีมเจ้าหน้าที่สำรวจและเฝ้าระวังปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ เพราะดอกเบี้ยที่ลดลงอาจมีความเสี่ยงทำให้ภาวะฟองสบู่เร่งตัวขึ้น แม้จะยังไม่ใช่ระดับที่น่ากลัวจนเกินไป 

ส่วนการเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ นายอานุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวถึงการเพิ่มอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV)  ซึ่งในปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ คือ บ้านแนวราบ กู้ได้ 95% เงินดาวน์ 5% และแนวสูง กู้ได้ 90% และเงินดาวน์ 10% ว่า การออกกฎเข้มงวด คงไม่ใช่เป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ เพราะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวเช่นนี้ ภาคอสังหาฯมีแนวโน้มที่ชะลอตัวลงด้วย อีกทั้งมาตรการ LTV ควรออกใช้ในภาวะเศรษฐกิจร้อนแรง มีความเสี่ยงเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ได้มีมาตรการดูแลความเสี่ยงอย่างระมัดระวังอยู่แล้ว

 

 

ขณะที่ธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์มากที่สุด ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) นางอังคณา ปิลันธน์โอวาท ไชยมนัส กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า ธนาคารจะประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทั้งดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก ประมาณ 0.1-0.2% ตามธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ผู้กู้ในช่วงท้ายปี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง จึงน่าจะเป็นผลดีกับลูกค้าโดยที่ไม่กระทบต้นทุนของธนาคารนัก

 

 

ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การลดอัตราดอกเบี้ย จะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อได้ในระดับหนึ่ง โดยดอกเบี้ยที่ลดลงทุก 1% มีผลให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น 7% ดังนั้น การที่กนง.ลดดอกเบี้ยลง 0.25% จะส่งผลดีต่อกำลังซื้อประมาณ 1.75% ซึ่งระดับดังกล่าวไม่ได้มีผลกระตุ้นกำลังซื้อมากนัก เพราะหากจะส่งผลให้เกิดฟองสบู่ ต้องมีการลดดอกเบี้ยที่แรงกกว่านี้

ทั้งนี้ มองว่าในปี 2557 ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีทิศทางชะลอตัวลง โดยน่าจะขยายตัวได้เพียง 9% จากปีนี้ที่เติบโต 9.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมืองและกำลังซื้อที่หดตัว จากภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย ปรับลดประมาณการยอดขายไปก่อนหน้านี้แล้ว

 

 

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วง น่าจะเป็นการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในต่างจังหวัด ที่ขณะนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้เข้าไปขยายโครงการจำนวนมาก ทำให้ราคาที่ดินในต่างจังหวัดปรับเพิ่มขึ้นเกินกว่าความเป็นจริง


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ธ.ค. 2556 เวลา : 09:06:11
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:27 pm