เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยฟันธงเฟดคงมาตรการQE ในการประชุม17-18ธ.ค.


 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยฟันธงธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดมีแนวโน้มคงมาตรการQE ในการประชุม17-18ธ.ค. รอประเมินความยั่งยืนในการฟื้นตัวเศรษฐกิจประเทศ

 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) ณ วันที่ 17-18 ธันวาคม  2556 คาดว่า เฟดน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและขนาดการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE)  ไว้ที่ระดับ  85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน เพื่อรอประเมินความยั่งยืนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจสหรัฐฯ ท่ามกลางระดับเงินเฟ้อที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าพัฒนาการของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีกว่าคาด กอปรกับมุมมองเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาด้านการคลังของภาคการเมือง อันช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ก็คงเพิ่มโอกาสที่เฟดอาจจะพิจาณาปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในจังหวะที่เร็วขึ้นกว่าคาด
  
จากข้อมูลในช่วงที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้เข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดแรงงานอันเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่เฟดให้ความสำคัญค่อนข้างมาก มีพัฒนาการเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องเผชิญปัญหาภาวะชะงักงันทางการคลังและการปิดหน่วยงานของรัฐบาลกลางในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ประจำเดือน พฤศจิกายน 2556 ปรับลดลงอยู่ที่ระดับ 7.0% ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 5 ปี จาก 7.3% ในเดือนก่อนหน้า อีกทั้งจำนวนอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน (Labor Participation Rate) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน อันถือเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อคุณภาพของการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน

 

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรพบว่า มีการปรับตัวดีขึ้น โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถสร้างตำแหน่งงานมากขึ้นกว่า 200,000 ตำแหน่ง/เดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือนติดต่อกัน โดยมีค่าเฉลี่ยของการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานย้อนหลัง 12 เดือนที่ระดับ 191,000 ตำแหน่ง/เดือน เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงที่เฟดเริ่มส่งสัญญาณถึงการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในเดือน พฤษภาคม 2556 ที่ระดับ 180,000 ตำแหน่ง/เดือน ซึ่งจากพัฒนาการที่แข็งแกร่งของตลาดแรงงานดังกล่าว ทำให้ตลาดเริ่มปรับคาดการณ์ถึงจังหวะการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ของเฟดที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาด จากเดิมที่ตลาดคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงในเดือนมีนาคม 2557
 
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังกล่าว โดยหากพิจารณาในองค์ประกอบของจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาส 3/2556 (ประมาณการครั้งที่ 2) ซึ่งแม้ว่าจะสามารถขยายตัวได้ถึง 3.6% QoQ (SA, Annualized) เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง 2.5% QoQ แต่ก็เป็นการขยายตัวจากการปรับเพิ่มขึ้นของสินค้าคงคลังเป็นสำคัญ ขณะที่ การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับขยายตัวได้เพียง 1.4 % QoQ ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.8 % QoQ สะท้อนถึงความเสี่ยงต่อโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายที่อาจจะแผ่วลง หากการบริโภคภาคครัวเรือนยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับสูงเพียงพอที่จะทดแทนแรงส่งจากการขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากปัจจัยการปิดหน่วยงานภาครัฐในเดือนตุลาคม 2556 ที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพีสหรัฐฯ ในไตรมาส 4/2556 เช่นกัน

 

 


 
ประเด็นความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้าดังกล่าว น่าจะยังคงมีน้ำหนักให้เฟดทำการติดตามและพิจารณาพัฒนาการทางเศรษฐกิจอีกสักพัก เพื่อให้มั่นใจว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปอย่างยั่งยืน ก่อนที่จะเริ่มปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลง จึงคาดว่าเฟดจะยังคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯ/เดือน ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี ณ วันที่ 17-18 ธันวาคม 2556 ท่ามกลางภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเปิดทางเลือกเชิงนโยบายให้เฟดสามารถที่จะคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ได้อีกระยะ โดยไม่สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพในระยะยาวของระบบเศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าการบรรลุข้อตกลงด้านงบประมาณของภาคการเมืองสหรัฐฯ ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดมุมมองเชิงบวกต่อการแก้ปัญหาทางการคลัง โดยพัฒนาการที่เกิดขึ้นช่วยให้สหรัฐฯ สามารถหลีกเลี่ยงการปรับลดงบประมาณโดยอัตโนมัติ และหลีกเลี่ยงการปิดทำการของหน่วยงานภาครัฐในช่วงต้นปีหน้าได้ นอกจากนี้ การส่งสัญญาณถึงความร่วมมือของภาคการเมืองก็ยังช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะชะงักงันทางการคลังจากปัญหาเพดานหนี้อันอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้าด้วย ซึ่งจากความเสี่ยงทางการคลังอันเป็นปัจจัยที่เฟดให้ความสำคัญค่อนข้างมากในการประชุมรอบที่ผ่านมา ที่มีแนวโน้มลดระดับลง กอปรกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ก็คงจะเพิ่มน้ำหนักต่อความน่าจะเป็นที่เฟดอาจตัดสินใจทำการลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ลงในการประชุม FOMC ครั้งแรกของปี 2557
 
ทั้งนี้ เฟดคงพิจารณาถึงต้นทุนและประโยชน์ส่วนเพิ่มในการคงขนาดการซื้อสินทรัพย์ในระดับปัจจุบันอย่างถี่ถ้วนก่อนที่มีการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์
 
นับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เฟดได้มีการถกเถียงถึงช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่เฟดจะทำการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ โดยแม้ว่ามาตรการซื้อสินทรัพย์ของเฟดเปรียบเสมือนหลักประกันต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงเปราะบางและอ่อนไหวต่อแรงกระทบจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างไรก็ดี พัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ คงส่งผลให้ความจำเป็นในการพึ่งพามาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดน้อยลง อีกทั้งประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ได้รับจากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ก็เริ่มปรับลดลง โดยสะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ การดำเนินมาตรการซื้อสินทรัพย์ดังกล่าว ส่งผลให้งบดุลของเฟดมีการขยายตัวผิดปกติ รวมทั้งทำให้ตลาดการเงินโลกพึ่งพาการอัดฉีดสภาพคล่องของเฟดมากเกินระดับปกติ อันนำมาสู่ความกังวลต่อความผันผวนในระยะข้างหน้า หากเฟดจำเป็นต้องยุติมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างกระทันหัน นอกจากนี้ การกดอัตราดอกเบี้ยตลาดให้อยู่ในระดับต่ำเป็นพิเศษเป็นระยะเวลานานเกินไป อาจจะก่อให้เกิดการก่อตัวของฟองสบู่ในสินทรัพย์เสี่ยง และกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว 
 
ทั้งนี้ เฟดคงติดตามและประเมินผลกระทบจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณอย่างใกล้ชิด เพื่อหาจังหวะเวลาอันเหมาะสมในการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ ตามพัฒนาการของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจในระยะยาว อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ท้าทายอย่างมากในการตัดสินใจปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดลง คงเป็นการสื่อสารกับตลาด เพื่อไม่ให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นแรงจนกระทบต่อโมเมนตัมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าเฟดได้มีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนถึงท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ว่ายังมีความจำเป็นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงต่อไป และน่าจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงอยู่ในระดับใกล้ 0% อีกสักพักหนึ่ง หลังจากเฟดสิ้นสุดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ
 
   
การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงท่าทีการดำเนินนโยบาย QE ของเฟดในระยะต่อไปนั้น คงจะส่งผลกระทบให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนอีกครั้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยน่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ของเฟดอาจส่งผลให้สภาพคล่องของระบบการเงินโลกปรับลดลง เมื่อผนวกกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วที่กำลังปรับตัวดีขึ้น ประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทย จึงมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะการไหลออกของเงินทุน ซึ่งผลต่อทิศทางค่าเงินให้อ่อนค่าลง สภาพคล่องของระบบการเงินที่ตึงตัวขึ้น ตลอดจนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่น่าจะปรับตัวสูงขึ้น อันคงเป็นปัจจัยท้าทายสำหรับทางการของประเทศเหล่านี้ในการวางแนวทางบริหารจัดการเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศในระยะถัดไป 
 
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีการเปิดเผยเร็วๆ นี้จะส่งสัญญาณถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเผชิญการชะลอตัวลงได้ หากแรงส่งของการฟื้นตัวของการบริโภคไม่มาตามที่คาด กอปรกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และยังไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เฟดน่าจะยังคงระดับการซื้อสินทรัพย์ที่ระดับ 85 พันล้านดอลลาร์ฯต่อเดือน ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ เพื่อรอดูความยั่งยืนของพัฒนาการการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ  ก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับลดขนาดการซื้อสินทรัพย์ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีโอกาสมากขึ้นที่เฟดอาจจะปรับลดการซื้อสินทรัพย์ลงเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ หลังข้อมูลตลาดแรงงานออกมาแข็งแกร่ง ขณะที่ประเด็นด้านการคลังก็เริ่มมีสัญญาณเชิงบวกมากขึ้น ทั้งนี้ ท้ายที่สุดแล้ว การปรับลดขนาดการซื้อพันธบัตรที่อาจเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ ก็คงจะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และส่งผลให้ทิศทางของค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่น่าจะปรับสูงขึ้น ท่ามกลางสภาพคล่องในระบบการเงินไทยที่คงทยอยตึงตัวขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทางการต้องติดตามอย่างใกล้ชิดและเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น


LastUpdate 16/12/2556 17:13:45 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 12:27 am