การตลาด
สกู๊ป . นับถอยหลังพิสูจน์ฝีมือดิจิตอลทีวีมือใหม่


 

 

 

สิ้นสุดการรอคอยไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการก้าวผ่านจากระบบทีวีอนาล็อคสู่ทีวีดิจิตอล แม้ว่าจะใช้เวลายาวนานกว่า 50 ปี ตอนนี้ได้ทราบหน้าตาของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาบริหารคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติแล้ว หลังกสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ เมื่อ 26-27 ธ.ค. 2556 
 
 
 
 
สิ้นสุดการรอคอยไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการก้าวผ่านจากระบบทีวีอนาล็อคสู่ทีวีดิจิตอล แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาในการเปลี่ยนผ่านยาวนานกว่า 50 ปี แต่มาช้ายังดีกว่าไม่มา   เพราะตอนนี้ได้ทราบหน้าตาของผู้ประกอบการที่จะเข้ามาบริหารคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ภายหลังสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ขึ้นเมื่อวันที่ 26-27 ธ.ค. 2556 รวม 4 หมวดหมู่ 24 ใบอนุญาต ประกอบด้วย หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง(ทั่วไปHD) 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(ทั่วไปSD) 7 ใบอนุญาต หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ 7 ใบอนุญาต และหมวดหมู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว 3 ใบอนุญาต
 
 
 
 
สำหรับการประมูลในหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง(ทั่วไปHD) ซึ่งมีราคาตั้งต้นที่ 1,510 ล้านบาท ผู้ที่คว้าชัยจำนวน 7 ใบอนุญาติ อันดับ 1. เป็นของบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด (ช่อง3) เสนอราคาประมูล 3,530 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท บางกอกมีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง จำกัด ของนายปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ   เสนอราคาประมูล 3,460 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด (ช่อง7) เสนอราคาประมูล 3,370 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ของไทยรัฐ เสนอราคาประมูล 3,360 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสนอราคาประมูล 3,340 ล้านบาท อันดับ 6 มี 2 บริษัท คือ บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด และบริษัท จีเอ็มเอ็มเอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เสนอราคาประมูลเท่ากันที่ 3,320 ล้านบาท รวมมูลค่าการประมูล 7 ใบอนุญาตที่ 23,700 ล้านบาท
ขณะที่หมวดหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ(ทั่วไปSD) 7 ใบอนุญาต มีราคาตั้งต้นที่ 380 ล้านบาท อันดับ 1 บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ของเวิร์คพอยท์ เสนอราคาประมูลสูงสุดที่ 2,355 ล้านบาท อันดับ 2   บริษัท ทรู ดีทีวี จำกัด ของทรูวิชั่นส์ เสนอราคาประมูล 2,315 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด เสนอราคาประมูล 2,290 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ของช่อง 3 เสนอราคาประมูล   2,275 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่นส์ จำกัด เสนอราคา 2,265 ล้านบาท อันดับ 6 บริษัทโมโน บรอดคาซท์ จำกัด เสนอราคาประมูล 2,250 ล้านบาท และอันดับ 7 บริษัท แบงคอก บิสสิเนสบรอดแคสติ้ง จำกัด เสนอราคาประมูล 2,200 ล้านบาท   รวม 7 ใบอนุญาตคิดเป็นมูลค่า 15,955 ล้านบาท 
หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ใบอนุญาต มีราคาตั้งต้นที่ 220 ล้านบาท อันดับ 1 บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์วิชั่น จำกัด ของเนชั่น เสนอราคาประมูล 1,338 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด เสนอราคาประมูล 1,330 ล้านบาท อันดับ 3 บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของทีวีพูล เสนอราคาประมูล 1,328 ล้านบาท อันดับ 4 บริษัท สปริงนิวส์เทเลวิชั่น จำกัด เสนอราคาประมูล 1,318 ล้านบาท อันดับ 5 บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค (ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ของทรูวิชั่นส์ เสนอราคาประมูล 1,316  ล้านบาท อันดับ 6 บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ของเดลินิวส์ เสนอราคา 1,310 ล้านบาทและอันดับ 7 บริษัท 3 เอ.มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เสนอราคาที่ 1.298 ล้านบาท รวมทั้ง 7 ใบอนุญาตคิดเป็นมูลค่าการประมูล 9,238 ล้านบาท
ส่วนหมวดหมู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว ซึ่งมีราคาตั้งต้นที่ 140  ล้านบาท อันดับ 1 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ช่อง 3 เสนอราคาประมูล 666 ล้านบาท อันดับ 2 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เสนอราคาประมูล   660 ล้านบาท และอันดับ 3 บริษัท ไทยทีวี จำกัด ของทีวีพูล เสนอราคาประมูลที่ 648 ล้านบาท รวม 3 ใบอนุญาตคิดเป็นมูลค่า 1,974 ล้านบาท ซึ่งหากรวมการประมูล 2 วัน 4 หมวดหมู่ มีมูลค่าการประมูลรวมอยู่ที่ประมาณ 50,862 ล้านบาท
จากมูลค่าการประมูลในบางหมวดหมู่ที่สูงจากราคาตั้งต้นกว่า 6 เท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นช่องSD หรือช่องข่าว ส่งผลให้เริ่มมีคำถามตามมาว่า ผู้ที่ชนะการประมูลจะต้องเตรียมงบลงทุนไว้มหาศาลแค่ไหน   เพราะนอกจากจะต้องจ่ายค่าการประมูลที่ชนะแล้ว ยังต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่าย ค่าคอนเทนต์ และค่าบริหารจัดการต่างๆ มากมาย
ทั้งนี้ กสทช. ได้กำหนดการชำระค่างวดการประมูลทีวีดิจิตอลช่องธุรกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.การชำระส่วนที่เป็นการชำระเงินมูลค่าขั้นต่ำ แบ่งเป็น 4 งวดภายใน 4 ปี โดยปีที่ 1 ชำระเงินงวดแรก 50% ปีที่ 2 ชำระเงิน 30% ปีที่ 3 ชำระเงิน 10% และปีที่ 4 ชำระเงิน 10%
สำหรับเงินส่วนที่ 2 จะเป็นการชำระเงินส่วนที่เกิน ที่เพิ่มจากการอนุญาตแข่งขันประมูล (จากราคาที่เคาะเพิ่ม) แบ่งการชำระเป็น 6 งวด คือ ปีที่ 1-2 ชำระ 10% ปีที่ 3-6 ชำระ 20% ซึ่งผู้ที่ชนะการประมูลจะมีสิทธิ์เลือกช่องก่อน ตามหมวดหมู่รายการช่องเดียวกัน เช่น ช่องเด็กอยู่ในช่อง 13-15 ช่องข่าวอยู่ในช่อง 16-22 ช่อง SD อยู่ในช่อง 23-29 และช่องHD อยู่ในช่อง 30-36 ขณะที่ช่องสาธารณะจะอยู่ในช่อง 1-12
ข้อกำหนดดังกล่าวทำให้ต้องจับตามองผู้ที่ชนะการประมูลตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไปว่า จะบริหารต้นทุนการดำเนินธุรกิจอย่างไร เพื่อให้สามารถอยู่ได้ในช่วง 3 ปีแรก ซึ่งบริษัทที่น่าจับตาในที่นี้ประกอบด้วย ช่อง 3 เนื่องจากชนะการประมูลถึง 3 ใบอนุญาต คือ ช่อง HD ช่อง SD   และช่องเด็ก รวมมูลค่าการลงทุน 6,471 ล้านบาท, แกรมมี่ ชนะการประมูล 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง HD และ SD   รวมมูลค่าการลงทุน 5,610 ล้านบาท,อสมท. ชนะการประมูล 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง HD และช่องเด็ก รวมมูลค่าการลงทุน 4,000 ล้านบาท , ทรูวิชั่นส์ ชนะการประมูล 2 ใบ คือ ช่อง SD และช่องข่าว รวมมูลค่าการลงทุน 3,631 ล้านบาท , เนชั่น ชนะการประมูล 2 ใบอนุญาต คือ ช่อง SD และช่องข่าว รวมมูลค่าการลงทุน 3,538 ล้านบาท และทีวีพูล ชนะการประมูล 2 ใบอนุญาต คือ ช่องข่าวและช่องเด็ก รวมมูลค่าการลงทุน 1,976 ล้านบาท
 
 
นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่นบรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า การเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ บริษัทไม่ได้มีความกังวลในเรื่องของราคา ซึ่งการที่บริษัทได้ช่องทีวีดิจิตอลมา 2 หมวดหมู่ คือ ช่องทั่วไปความคมชัดสูง(ทั่วไปHD) ชนะที่ราคา 3,460 ล้านบาท และช่องข่าว ชนะที่ราคา 1,338 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่เหมาะสม เพราะสัญญา 15 ปี
ด้านนางพรรทิภา สกุลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โน้ต พับลิชชิ่ง จำกัด ผู้บริหารทีวีพูล กล่าวว่า จากการเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลในครั้งนี้ยอมรับว่า มีการแข่งขันราคากันรุนแรง โดยเฉพาะช่องทั่วไปความคมชัดปกติ (ทั่วไปSD) เพราะผู้ชนะเสนอราคาสูงสุดถึง 2,355 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ส่วนการประมูลช่องข่าวและช่องเด็ก แม้ว่าจะแข่งขันกันรุนแรง แต่ก็เป็นราคาที่รับได้  
หลังจากขั้นตอนการประมูลแล้วเสร็จ ขั้นตอนต่อไปของการก้าวเข้าสู่ทีวีดิจิตอลคือ  การเลือกใช้บริการโครงข่าย ซึ่งแต่ละรายคงจะมีโครงข่ายที่ต้องการใช้อยู่ในใจอยู่แล้ว เมื่อได้โครงข่ายที่ต้องการลำดับต่อไปคือ การมีบุคลากรที่มีคุณภาพ เพื่อผลิตคอนเทนต์ที่เพียงพอต่อการก้าวเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอล ซึ่งแต่ละรายคงจะมีการเตรียมความพร้อมมาพอสมควร สังเกตได้จากกระแสข่าวการซื้อคอนเทนต์รายการต่างๆมาตุนไว้ และการโยกย้ายบุคลากรในช่วงที่ผ่านมาก่อนการประมูล ซึ่งหลังจากมีความชัดเจนว่า ใครได้ช่องไหนเชื่อว่าจะมีการโยกย้ายบุคลากรอีกระลอก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้นักวิชาการหลายท่านเริ่มออกมาแสดงความเป็นห่วงในเรื่องของฟองสบู่บุคลากร หากการดำเนินธุรกิจทีวีดิจิตอลไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเฉพาะในช่วง 3-5 ปีแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาแห่งการวัดความอึดและวัดสายป่านว่า ใครจะยาวกว่าใคร
 
 
 
 
ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอลตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณสมองไหลบ้างแล้ว โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งจะใช้วิธีซื้อบุคลากรจากองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้องค์กรของตนเองมีความแข็งแกร่ง เนื่องจากผลิตบุคลากรของตัวเองไม่ทัน   แรงจูงใจที่ทำให้ตอนนี้เริ่มมีการเคลื่อนย้ายบุคลากรหลัก ๆ คือ ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น เพราะบางองค์กรยอมที่จะจ่ายเงินก้อนโตให้กับบุคลากรที่ซื้อมา ซึ่งบางแห่งให้สูงถึง 2 เท่า จากที่เคยได้รับ
แม้ว่า เงินจะเป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิต แต่ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะทำให้ตัดสินใจได้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวหนุนในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการ ความก้าวหน้าหรือความมั่นคง ซึ่งบางคนเลือกที่จะย้ายองค์กร เพราะ 3 ปัจจัยหลัง ถึงแม้ว่า ประเด็นการเคลื่อนย้ายบุคลากรจะเป็นประเด็นทำให้คนจับตามองช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตอล แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่าปัญหาบุคลากรภายหลังจากเกิดทีวีดิจิตอล คือ คอนเทนต์ของรายการ ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องคิดคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายและมีความแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อดึงผู้ชมให้เข้ามาชมรายการของตัวเอง ซึ่งหากผลิตคอนเทนต์ที่ไม่มีคุณภาพ การดำเนินธุรกิจตั้งแต่ระยะกลางถึงระยะยาวอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้
ดร.มานะ กล่าวว่า ช่วงที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดของผู้ประกอบการที่โดดเข้ามาทำทีวีดิจิตอลคือ 3-5 ปี เพราะเป็นช่วงที่ยังไม่สามารถทำกำไรให้กับธุรกิจได้ ขณะที่ช่วง 1-3 ปีแรก ถือเป็นช่วงฮันนีมูนทุกอย่างอยู่ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายและเริ่มต้นยังเห็นภาพอะไรไม่ชัดเจน   ขณะที่ช่วง 3-5 ปีถือเป็นช่วงเวลาของการวัดใจ   เพราะถ้าผู้ประกอบการรายไหนไม่มีสายป่านที่ยาวพออาจอยู่รอดยาก ในส่วนขององค์กรขนาดใหญ่เองก็ต้องปรับตัว เพราะจากการที่ใช้วิธีแก้ปัญหาในช่วงแรกด้วยการซื้อตัวบุคลากรมา หากไม่ได้คุณภาพจริงอย่างที่คาดหวัง อาจส่งผลให้เกิดปัญหาฟองสบู่ด้านบุคลากรและเลย์ออฟพนักงานในที่สุด ซึ่งวิธีแก้ไขที่ดีที่สุดสำหรับการทำธุรกิจระยะยาวคือ การพัฒนาบุคลากรคุณภาพขึ้นมาด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร พร้อมกับให้ความก้าวหน้า ท้าทาย และมีสวัสดิการที่ดี เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้พนักงานสร้างผลงานที่ดีกับองค์กร
ด้าน ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า  ช่วง 2-3 ปีแรก จะเป็นช่วงเรเนซองส์ หรือช่วงของการเกิดใหม่ ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ ทุกอย่างจะดูหวานหอมโดยเฉพาะตัวของบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งจะเนื้อหอมอย่างมาก เพราะหลายองค์กรรุมจีบให้เข้าร่วมงาน แต่หลังจากเวลาผ่านไป ก้าวเข้าสู่ช่วง 3-5 ปี ซึ่งเป็นช่วงของการวัดผล การจัดซื้อจัดจ้างจะลดลง เพราะธุรกิจทีวีทำยากมาก เนื่องจากต้องทำตลอด 24 ชั่วโมง หากบุคลากรไม่มีความสามารถมากพอ คอนเทนต์ไม่มีความแตกต่างน่าสนใจ อาจทำให้อยู่ในธุรกิจไม่ได้ ในที่สุดก็จะเป็น “ฟองสบู่ดิจิตอล” เหมือนเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เพราะเงินที่นำมาใช้ลงทุนในทีวีดิจิตอลเยอะมากไม่ว่าจะเป็นค่าการประมูล ค่าโปรดักส์ชั่น หรือค่าบุคลากร ทุกอย่างล้วนเป็นต้นทุน หากวางแผนการดำเนินธุรกิจไม่ดีอาจล้มกลางทางได้

LastUpdate 17/04/2557 12:55:27 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:19 am