เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
หนี้สาธารณะ พ.ย.2556 เพิ่ม 1.98 หมื่นล้าน


 

 

 

สบน.แจงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพ.ย.2556 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง 5,393,439.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 19,850.14 ล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้น 28,188.38 ล้านบาท 

 

 

 

น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวถึงสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2556 ว่า ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 มีจำนวน 5,393,439.91 ล้านบาท หรือคิดเป็น 45.34% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยเป็นหนี้ของรัฐบาล 3,797,482.42 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,089,285.42 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 505,837.38 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 834.69 ล้านบาท

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 19,850.14 ล้านบาท โดยหนี้ของรัฐบาล และหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน เพิ่มขึ้น 28,188.38 ล้านบาท และ 2,274.74 ล้านบาท ตามลำดับ และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) ลดลง 10,612.97 ล้านบาท หนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ นั้นไม่มีหนี้คงค้าง

น.ส.จุฬารัตน์ กล่าวต่อว่า หนี้ของรัฐบาล ในส่วนหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรงนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 8,188.38 ล้านบาท เนื่องจากหนี้ต่างประเทศ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 660.70 ล้านบาท โดยผลจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น 228.08 ล้านบาท ประกอบกับการเบิกจ่ายสกุลเงินเยน ทำให้ยอดหนี้คงค้างในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นสุทธิ 432.62 ล้านบาท

สำหรับหนี้ในประเทศนั้น เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 7,527.68 ล้านบาท โดยเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 17,000 ล้านบาท การไถ่ถอนตั๋วเงินคลัง 6,234 ล้านบาท การกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ 500 ล้านบาท และการกู้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและการรถไฟแห่งประเทศไทยกู้ต่อรวม 557.63 ล้านบาท รวมถึงการชำระคืนต้นเงินภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ พ.ศ.2548 จำนวน 4,295.95 ล้านบาท

ส่วนหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า หนี้เงินกู้ล่วงหน้าเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 20,000 ล้านบาท ขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน ที่รัฐบาลค้ำประกัน ในส่วนหนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 399.83 ล้านบาท ด้านหนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลง 4,806.07 ล้านบาท เนื่องจากรัฐวิสาหกิจมีการชำระคืนต้นเงินของสัญญาเงินกู้ทั้งจำนวน สำหรับหนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน ในส่วนหนี้ต่างประเทศ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2,040.31 ล้านบาท หนี้ในประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า เพิ่มขึ้น 9,520.95 ล้านบาท


LastUpdate 01/02/2557 16:53:20 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 7:56 pm