เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ภาคธุรกิจเตรียมรับศึกหนัก...ฝ่าต้นทุนพลังงานแพงปี 57


 
 
 
 
 
ภาคธุรกิจเตรียมรับศึกหนัก...ฝ่าต้นทุนพลังงานแพงปี 57   บทวิจัยกรุงศรีชี้ ทิศทางราคาน้ำมันใน 
ประเทศอาจไม่ได้ปรับลดลงตามราคาตลาดโลก ทำดีเซล LPG ค่าไฟ มีแนวโน้มปรับขึ้น
 
 
 
 
 
 
 
กรุงศรี โดยฝ่ายวิจัย เปิดบทวิจัย "ภาคธุรกิจเตรียมรับศึกหนัก...ฝ่าต้นทุนพลังงานแพงปี 57" ระบุ แรงกดดันด้านต้นทุนพลังงานของภาคธุรกิจไทยในปี 57 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของน้ำมันแม้ราคาตลาดโลกจะมีสัญญาณอ่อนตัวลง จากแรงกดดันด้านอุปทานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น รวมถึงกำลังการผลิตส่วนเกินของ OPEC ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังสถานการณ์ในลิเบียและโครงการนิวเคลียร์อิหร่านเริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ทิศทางราคาน้ำมันในประเทศอาจไม่ได้ปรับลดลงตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของภาคขนส่ง ล่าสุดถูกตรึงไว้ที่ 30 บาท/ลิตร และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับนี้ต่อไปหรืออาจปรับสูงขึ้นได้หากเป็นไปตามแผนการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรสามิตที่จะต้องกลับมาทยอยเก็บภาษีน้ำมันดีเซล จากก่อนหน้านี้ที่ลดอัตราการจัดเก็บลงจากลิตรละ 5.30 บาท เป็นลิตรละ 0.005 บาท มาตั้งแต่ 21 เม.ย. 54 (ตามนโยบายในการบรรเทาภาระค่าครองชีพของรัฐบาล)
 
 
 
 

ค่าไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งในต้นทุนพลังงานของภาคธุรกิจที่ต้องปรับขึ้นตามต้นทุนเชื้อเพลิง เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่ลดน้อยลงทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งนี้ ราคานำเข้า LNG สูงกว่าต้นทุนก๊าซธรรมชาติในประเทศเกือบเท่าตัวและอาจยิ่งสูงขึ้นในภาวะเงินบาทอ่อนค่าเช่นปัจจุบัน ล่าสุดกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศขึ้นค่า Ft ในเดือน ม.ค.-เม.ย. 57 อีก 5 สตางค์/หน่วย มาอยู่ที่ 59 สตางค์/หน่วย ซึ่งมีผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.86 บาท/หน่วย และมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องในปีนี้ 

สำหรับ ราคาก๊าซ LPG แม้ปัญหาทางการเมืองจะทำให้แนวโน้มการปรับขึ้นราคาทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งอาจล่าช้าออกไป แต่ความจำเป็นของไทยในการปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG ทั้งระบบให้สอดคล้องกันจะทำให้มีโอกาสที่ราคา LPG จะต้องปรับขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะราคา LPG สำหรับภาคขนส่งที่จะต้องปรับขึ้นให้สอดคล้องกับ LPG ภาคครัวเรือน (ก๊าซหุงต้ม) ที่ปัจจุบันราคาอยู่ระหว่างการทยอยปรับขึ้นแบบขั้นบันได เริ่มมาตั้งแต่ ก.ย. 56 ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 เดือนๆ ละ 50 สตางค์/กิโลกรัม (ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซหุงต้มอยู่ที่ 24.13 บาท/กก.ในเดือน ส.ค. 57 จากปัจจุบันอยู่ที่ 21.13 บาท/กก.) ในขณะที่ LPG ภาคอุตสาหกรรม ราคามีโอกาสปรับขึ้นอีกจากปัจจุบันที่สูงกว่า 30 บาท/กก. เพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้นมาก ขณะที่เงินบาทอ่อนค่าอาจยิ่งทำให้ต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น 
 
 
 
 
 

ราคาพลังงานที่ขยับสูงขึ้นข้างต้น วิจัยกรุงศรีเห็นว่ามีแนวโน้มจะกระทบต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในวงกว้างจากแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ทั้งนี้ จากการพิจารณาโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมที่สำคัญโดยใช้ข้อมูล Input-Output Table ล่าสุด เพื่อประมาณการผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน (น้ำมัน ไฟฟ้า และก๊าซ) ทุก 1% ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงต้นทุนโดยรวมของธุรกิจ/อุตสาหกรรม (ทั้งต้นทุนทางตรงและทางอ้อม) สามารถจำแนกกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้ดังนี้ 
 

 
 
 
 
กลุ่มแรกได้แก่ ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรงและอยู่ในภาวะที่ต้อง “เฝ้าระวัง” จะเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะมีต้นทุนโดยรวมปรับสูงขึ้นมาก รวมทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่มาร์จินต่ำและมีข้อจำกัดในการผลักภาระต้นทุนไปยังผู้ซื้อ เนื่องจากเป็นธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีภาวะการแข่งขันสูง อาจทำให้มาร์จินยิ่งบาง ได้แก่ ธุรกิจขนส่ง คลังเก็บสินค้า บริการทางการเกษตร อุตสาหกรรมแก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว กระเบื้อง ผลิตภัณฑ์พลาสติก และบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

กลุ่มที่2 คือ ธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น แต่ผลกระทบน่าจะถูกลดทอนลงจากความสามารถผ่องถ่ายภาระต้นทุนบางส่วนไปยังผู้ซื้อ/อุตสาหกรรมต่อเนื่อง จะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า รวมทั้งธุรกิจบริการที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม
 
 
 
 
 
 
จากความจำเป็นในการปรับโครงสร้างราคาพลังงานในประเทศ จะมีผลให้ต้นทุนพลังงานของภาคธุรกิจไทยขยับเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป จึงมีความสำคัญยิ่งที่ภาคธุรกิจจะต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีหรือกระบวนการผลิตให้พึ่งพาการใช้พลังงานน้อยลง หรือปรับเพิ่มคุณภาพการผลิตโดยรวม ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ขยับและปรับกลยุทธ์ธุรกิจไปก่อนหน้านี้บ้างแล้ว เช่นการปรับใช้พลังงานความร้อนเพื่อลดการพึ่งพาไฟฟ้าในการเดินเครื่องผลิต การรวมศูนย์ระบบการขนส่งทั้งภายในกิจการและการรวมกลุ่มแบบคลัสเตอร์ เป็นต้น แต่ในส่วนของ SMEs ยังจำเป็นต้องเร่งปรับตัวต่อเนื่องเพื่อรับมือกับต้นทุนที่พุ่งสูงรอบด้านในปัจจุบัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ก.พ. 2557 เวลา : 09:30:12
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 9:22 pm