เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ตอนที่ 7/2557: ปริมาณเช็คเด้งกับเศรษฐกิจยกแรกของปี 2557


 

 


 

 

มีข่าวสารอยู่เรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และควรเป็นอะไรที่คนทำธุรกิจค้าขายต้องเร่งสำรวจตรวจสอบตนเอง ตรวจสอบธุรกิจของตนเอง ตลอดรวมไปถึงลูกค้าและคนที่เราต้องติดต่อค้าขายกันด้วยนะครับ นั่นคือเรื่องของเช็คที่มีการจ่ายกันไปมาคือ ในเดือนมกราคม 2557 มีปริมาณเช็คทั้งสิ้น 6.38 ล้านใบ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 6.92  แสนใบ หรือ 12.16% โดยมีมูลค่าเช็ครวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน 9.84 หมื่นล้านบาทหรือ 3% การลดลงนั้นมันบอกอะไรบางอย่างนะครับ ที่สำคัญคือ เช็คคืนที่ระบุเหตุผลว่า ไม่มีเงิน ภาษาคนค้าขายเรียกว่า "เช็คเด้ง" จากรายงานข่าวระบุว่า มีเช็คเด้งทั้งสิ้น 7.66 หมื่นใบ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 1 หมื่นใบ หรือ15.06% มีมูลค่าเช็คเด้งรวมทั้งสิ้น 1.23 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 2,070 ล้านบาท หรือ 20.35% และเมื่อแยกดูตามศูนย์เขตก็พบว่า เช็คเด้งในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑลมากที่สุด 4.08 หมื่นใบ มูลค่ารวม 8,450 ล้านบาท

 
ข้อมูลจากฝั่งนายธนาคารระบุว่า

1. สัญญาณด้านภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีลักษณะหดตัวลงนั่นอาจเป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการบางรายเริ่มมีปัญหาความสามารถในการชำระหนี้และขาดสภาพคล่อง โดยธุรกิจที่เริ่มมีความเสี่ยงเกิดปัญหาดังกล่าว เช่น โรงแรมในเขตกรุงเทพฯ บางแห่งแก้ไขปัญหาด้วยการเริ่มปิดบริการภัตตาคารหรือร้านอาหารภายในโรงแรมเพราะลูกค้าน้อย เนื่องจากได้รับผลจากปัญหาทางการเมือง แนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นนั้น ผู้ประกอบการ หรือ SME จะต้องมีการลดต้นทุนการผลิต  ต้องลดธุรกรรมหรือเรื่องที่ไม่จำเป็นลงให้มากที่สุด หากจำเป็นแล้ว ก็ต้องลดเวลาการทำงานหรือแม้แต่ชั่วโมงการทำงานเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบเพราะกำลังซื้อลูกค้าลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่สูง การชะลอนี้จะส่งผลเสียต่อไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความเกี่ยวพัน เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และการออกแบบตกแต่งภายในที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ธุรกิจผู้รับเหมารายเล็กได้รับผลกระทบจากโครงการภาครัฐ เพราะเป็นผู้รับเหมาช่วงหรือ Sub contractor เมื่อรัฐบาลไม่มีโครงการลงทุนใหม่ตามแผนงานย่อมทำให้ไม่มีงานใหม่เข้ามา


2. ในมุมของเครดิตบูโรเมื่อเทียบไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 กับ 2556 ก็เห็นตัวเลขจำนวนบัญชีที่มีลักษณะเริ่มค้างชำระ แต่ยังไม่เป็นหนี้เสียคือยังค้างชำระไม่เกิน 90วัน หรือ ยังไม่ค้างชำระเกิน 3 เดือน จำนวนบัญชีลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอย่างเห็นได้ชัดและเป็นสาระสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด


3. ประเด็นปัญหาสภาพคล่อง ในบางเรื่องบางมุมในแง่ของสถาบันการเงินเวลาลูกค้ามีปัญหา ธนาคารจะส่งทีมงานเข้าไปดูรายละเอียดและค้นหาสาเหตุที่แท้จริงด้วยว่า ปัญหาเกิดจากอะไร ต้องไม่ลืมว่าการที่ผู้ประกอบการไม่มีวินัยทางการเงินนั้นก็จะส่งผลด้วย เช่น เอาเงินไปใช้ผิดที่ผิดทาง ไม่ใช้ตามแผนที่ควรจะเป็น เอาไปเก็งกำไรกับสินทรัพย์ทางการเงินที่ตนเองไม่ถนัด ในเรื่องของการเบิกเงินเกินบัญชีหรือการใช้O/Dของ SME หรือลูกค้ารายย่อยของธนาคารนั้น ธนาคารจะระมัดระวังด้วยเกรงว่าจะมีการนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์การขอกู้เงิน ข่าวดีที่เหลืออยู่คือ สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูงและเพียงพอรองรับการปล่อยสินเชื่อ โดยในส่วนของธนาคารยังเชื่อว่าสินเชื่อเติบโตประมาณ 2 เท่าของการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP ถ้าเราคิดว่า GDP จะโต 3% สินเชื่อก็น่าจะโตได้ 6-7% ตามการขยายตัวเศรษฐกิจ นายธนคารท่านหนึ่งระบุว่าในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่ประเมินว่ามีความเสี่ยง ต่างมีการเบิกใช้วงเงินเบิกเกินบัญชีเพิ่มขึ้นแต่ในทางตรงข้าม ลูกค้าในกลุ่มที่มีสภาพคล่องดีกลับดำเนินการในทางตรงข้าม คือ มีการคืนเงินที่เบิกมาใช้เพราะต้องการเก็บวงเงินไว้เป็นกระสุนสำรองในช่วงที่เกิดปัญหาธุรกิจ ท่านที่ค้าขายอย่าประมาทนะครับ นี่เพิ่งเดือนที่หนึ่งของปี 2557 ยังต้องรบกันอีก 11เดือนที่เหลือ




 

สุรพล โอภาสเสถียร

ผู้จัดการใหญ่

บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 

 


LastUpdate 24/02/2557 20:50:40 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 1:15 pm