สุขภาพ
สารต้านอนุมูลอิสระในฟักข้าวและขมิ้นชัน ช่วยป้องกันต้อกระจก


 

 
 
ปัญหาต้อกระจกที่มักเกิดขึ้นตามวัยที่มากขึ้นอาจสามารถป้องกันได้จากพืชสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่นไทย อย่างฟักข้าวและขมิ้นชัน
 
 

 

สถิติการเป็นโรคต้อกระจกในคนไทยอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นต้อกระจก ประมาณ 50 % แต่อาจจะยังเกิดอาการตามัวจนกระทั่งอายุ 65 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุ 75 ปีขึ้นไปเกือบทุกคนจะมีอาการของโรคต้อกระจก
 
ต้อกระจก คือโรคของเลนส์แก้วตาที่มีความขุ่นเกิดขึ้นโดยความขุ่นนี้จะเป็นตัวกั้นไม่ให้แสงผ่านเข้าไปในตา ทำให้แสงแตกกระจายและการมองเห็นลดลง โดยทั่วไปต้อกระจกเกิดจากความเสื่อมตามอายุซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เมื่อเลนส์แก้วตาจะเริ่มขุ่นเมื่ออายุ 40 ปี ส่วนสาเหตุอื่นๆได้แก่ ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด เช่นการติดเชื้อหัดเยอรมันของมารดาระหว่างตั้งครรภ์ โรคภายในลูกตา เช่น ม่านตาอักเสบตาติดเชื้อ ต้อหิน และได้รับอุบัติเหตุทางตา การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ทั้งยาหยอดตายาพ่น ยารับประทานหรือยาฉีด ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคขาดสารอาหารสภาวะแวดล้อมและการดำรงชีวิต เช่น การทำงานที่อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานานการประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเชื่อมโลหะโดยไม่ได้ใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ถูกต้องผู้ที่สูบบุหรี่ เป็นต้น 
 
ผู้ป่วยโรคต้อกระจกจะมีอาการตามัวโดยมักจะเริ่มมีอาการอย่างช้าๆ เหมือนมีหมอก หรือกระจกฝ้ามาบังเมื่อออกไปกลางแดดจะมีอาการมากขึ้น แต่จะมองเห็นดีขึ้นในที่ร่มหรือในที่มีแสงสลัวอาการตามัวจะมากหรือน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความขุ่นของเลนส์แก้วตาบางรายอาจมองเห็นภาพซ้อน มองเห็นแสงไฟเป็นแสงกระจาย ปวดตา หรือในรายที่เป็นมากๆอาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย
 
 
 
 
 
 
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเปิดเผยว่า จากการศึกษาค้นคว้าข้อมูลงานวิจัยพบว่า สมุนไพรหลายชนิดสามารถป้องกันโรคต้อกระจกได้ โดยเฉพาะในสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ ขมิ้นชัน และฟักข้าวโดยในขมิ้นชัน มีสารต้านอนุมูลอิสระสำคัญ คือ เคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoid) และอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2  วิตามินบี 3 วิตามินซี วิตามินอี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็กและเกลือแร่ต่างๆ รวมไปถึงเส้นใย คาร์โบไฮเดรตและโปรตีน เป็นต้นขมิ้นชันจึงมีสรรพคุณในการช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกายและสามารถรักษาอาการและโรคต่างๆ ได้หลายชนิด 
 
ส่วนฟักข้าวนั้นมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสำคัญ คือ ไลโคปีน (lycopene) โดยในเยื่อหุ้มเมล็ดของฟักข้าวมีไลโคพีนสูงกว่ามะเขือเทศ 12 เท่าซึ่งสามารถช่วยในการบำรุงและรักษาสายตา ป้องกันโรคเกี่ยวกับดวงตา โรคต้อกระจกและประสาทตาเสื่อม และตาบอดตอนกลางคืนได้ อีกทั้ง ยังมีงานวิจัยพบว่าไลโคปีนและเคอร์คิวมินอยด์ยังช่วยป้องกันต้อกระจกที่เกิดจากโรคเบาหวานได้อีกด้วย
 
 
 
 
 
 
การรับประทานกะเพรามะระขี้นก มะขามป้อม ลูกซัด และชาเขียวเป็นประจำ ก็สามารถช่วยป้องกันต้อกระจกได้โดยอาจทานในรูปแบบของผัก หรือต้มน้ำทาน เช่น 
 
น้ำกะเพราให้นำกะเพราทั้งต้นและใบที่ล้างสะอาดแล้ว 1 กำมือ ต้มกับน้ำประมาณ 2 ลิตรด้วยไฟปานกลางประมาณ 10 - 15 นาที ดื่มวันละ 1 แก้ว หรือคั้นน้ำจากมะระขี้นกดื่มวันละ 2 - 3 ผลต่อวัน ไม่แนะนำให้ทานเยอะเกินไปเนื่องจากมะระขี้นกมีผลในการลดระดับน้ำตาลในเลือดได้
 
น้ำมะขามป้อมให้นำผลแห้งประมาณ 10 ผล ใส่น้ำพอท่วม ต้มด้วยไฟปานกลาง ประมาณ 10 - 15 นาทีดื่มวันละ 1 แก้ว มะขามป้อมจัดเป็นผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าวิตามินซีมีบทบาทในการป้องกันการเกิดต้อกระจก โดยทำหน้าที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระและกรองรังสียูวีให้เลนส์ตา นอกจากมะขามป้อมแล้ว ยังมีผลไม้อื่นๆ ที่มีวิตามินซีสูงได้แก่ ฝรั่ง มะปราง ขนุน ละมุด มะละกอ มะกอก ส้ม มะขาม ลูกหว้า พุทราซึ่งสามารถเลือกทานเป็นประจำได้เช่นเดียวกัน 
 
นอกจากนี้การรับประทานพวกธัญพืชต่างๆ  เช่น งาดำ ข้าวซ้อมมือ จมูกข้าว ข้าวโพดที่อุดมไปด้วยวิตามินอีซึ่งสามารถช่วยเพิ่มระดับสารต้านอนุมูลอิสระอย่างกลูตาไทโอนในร่างกาย ก็สามารถช่วยป้องกันโรคต้อกระจกที่เกิดจากน้ำตาล สเตียรอยด์ และรังสียูวีได้
                                                                              

LastUpdate 31/03/2557 12:36:19 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:58 am