การตลาด
ซีพีเอฟ ย้ำผลิตไส้กรอกด้วยวัตถุดิบชั้นดี มองเออีซีเป็นโอกาสขยายตลาดเล็งสร้างโรงงานไส้กรอกแห่งใหม่รองรับความต้องการ


 
ซีพีเอฟ ย้ำคัดเลือกวัตถุดิบชั้นดีเข้าสู่กระบวนการผลิตไส้กรอกด้วยเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อผู้บริโภค เล็งนำผลิตภัณฑ์ไส้กรอกสู่ตลาดอาเซียน เผยปี 2556 มียอดขายกว่า 8,000 ล้านบาท พร้อมมีแผนสร้างโรงงานผลิตไส้กรอกเพิ่มภายใน 5 ปี  

 
 
         นายณฤกษ์ มางเขียว รองกรรมการผู้จัดการบริหาร  บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวโจมตีผู้ประกอบการไส้กรอก โดยเผยแพร่คลิปการนำลูกหมูทั้งตัวใส่ในเครื่องบดแล้วออกมาเป็นไส้กรอก ว่าในความจริง เป็นการนำภาพเครื่องทำลายซากหมู มาตัดต่อจนทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในกระบวนการผลิตไส้กรอก ซึ่งการผลิตไส้กรอกแต่ละชนิดจะใช้ประเภทชิ้นส่วนของหมูที่ต่างกัน หากมีสิ่งแปลกปลอม เช่น กระดูก ฟัน หรือ เครื่องใน จะส่งผลต่อคุณภาพ ทำให้มีรสชาติผิดเพี้ยน และผิวสัมผัสที่เปลี่ยนไป

        นายณฤกษ์ กล่าวอีกว่า กระบวนการผลิตไส้กรอกปลอดภัย ตราซีพี ที่โรงงานอาหารสำเร็จรูปหนองจอก เขตมีนบุรี มีสายการผลิตระบบอัตโนมัติแบบต่อเนื่องตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงการจัดเก็บ (Completely Automation Line) ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีระดับโลกแห่งแรกในภูมิภาคเอเซีย ที่สำคัญคือ การเลือกเนื้อสัตว์คุณภาพดีจากฟาร์มของบริษัทที่ผ่านการตัดแต่งจากโรงงานแปรรูปมาตรฐาน นำมาเข้ากระบวนการผลิตอันทันสมัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต ภายใต้มาตรฐานสากล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่สดสะอาดและปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

        กระบวนการผลิตไส้กรอกของซีพีเอฟ จะเริ่มจากการคัดเลือกวัตถุดิบเนื้อสัตว์คุณภาพดี จากฟาร์มของซีพีเอฟที่มีเทคโนโลยีการผลิตสุกรปลอดสารที่ก้าวหน้าและมีมาตรฐาน จากนั้นสุกรปลอดสารดังกล่าวจะเข้าสู่โรงงานแปรรูปสุกรที่ทันสมัยภายใต้การรับรองมาตรฐานการส่งออก การตัดแต่งสุกรจะแยกชิ้นส่วนประเภทเนื้อ เช่น สันใน สันนอก สามชั้น สะโพก ฯลฯ โดยเนื้อแต่ละชิ้นส่วนจะถูกเก็บรักษาและขนส่งมายังโรงงานผลิตไส้กรอกโดยการควบคุมอุณหภูมิเย็นตลอดเวลา เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่สด สะอาด ปลอดภัย และยังเลือกใช้ส่วนผสมเฉพาะจากแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานทั่วโลก เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพดี รสชาติอร่อย มีความเป็นเอกลักษณ์ เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎหมาย ทั้งยังผ่านการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดก่อนรับเข้าสู่กระบวนการผลิต โดยสินค้าทุกซองจะต้องผ่านเครื่องตรวจจับโลหะทั้งหมด

        นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ปลอดภัย โดยคำนึงถึงความสะดวกและปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก โดยไส้กรอกจากโรงงานนี้ไม่มีสารกันบูด บริษัทจึงเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดเทอร์โมฟอร์มแบบฟิล์มหลายชั้น (Muti-layer thermoforming film) ซึ่งสามารถรักษาความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ ร่วมกับการบรรจุอัตโนมัติเพื่อช่วยลดการปนเปื้อนระหว่างการบรรจุ ทำให้อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์นานขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค เพราะสามารถอุ่นร้อนได้อย่างปลอดภัยด้วยเตาไมโครเวฟ

 
 
 
        ทั้งนี้ ปัจจุบันการผลิตผลิตภัณฑ์ไส้กรอกของซีพีเอฟทั้งที่มีนบุรีและสระบุรี มีกำลังการผลิตรวม 7,000 ตันต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และส่งออกบางส่วนไปยังต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ฮ่องกง รวมทั้งประเทศในกลุ่มเออีซี ได้แก่ สิงคโปร์ และพม่า ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่ซีพีเอฟเข้าลงทุนก็มีการผลิตไส้กรอกเพื่อจำหน่ายในประเทศ   เช่น   เวียดนาม  แต่จะมีความหลากหลายในผลิตภัณฑ์  น้อยกว่าในประเทศไทย สำหรับการเปิดเออีซี ในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดได้อีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันความต้องการในประเทศที่ยังมีอยู่ในทุกระดับผู้บริโภคถือเป็นโอกาสที่สดใสของสินค้าไส้กรอก

        “ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกได้รับความนิยมในการบริโภคมากขึ้นทั้งเพื่อเป็นอาหารมื้อหลัก และของว่างสำหรับทานเล่นระหว่างมื้ออาหาร ทำให้การขยายตัวของตลาดไส้กรอกในประเทศมีอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 10-15% โดยในปีที่ผ่านมาทั้ง 2 โรงงานของซีพีเอฟมียอดขายกว่า 8,000 ล้านบาท ซีพีเอฟจึงมีแผนจะสร้างโรงงานแปรรูปไส้กรอกแห่งใหม่เพื่อรองรับการขยายตัวดังกล่าว” นายณฤกษ์ กล่าว

        ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ไส้กรอกของบริษัทที่เป็นสินค้าพรีเมี่ยม มีส่วนแบ่งทางการการตลาดในประเทศ 25% ซึ่งถือว่าน้อยมากเพราะตลาดไส้กรอกของไทยเป็นตลาดใหญ่ มีผู้บริโภคกันมาก แต่เนื่องจากราคาที่ต่างกัน ทำให้สินค้าเกรดซีที่มีราคาถูกและส่วนใหญ่วางขายตามตลาดนัด ยังคงได้รับความนิยม ซึ่งซีพีเอฟยังมองว่าสามารถขยายตลาดได้อีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันที่คุณภาพของสินค้า จากกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ผลิตจากวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ถือเป็นจุดแข็งในสินค้าที่ซีพีเอฟให้ความสำคัญ
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 พ.ค. 2557 เวลา : 19:20:44
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:18 am