การตลาด
สกู๊ป "สินค้าความงาม" สาวไทยไม่หยุดสวย มายด์แชร์แนะ 7 กลยุทธ์โกยเงิน


 
ไม่ว่าเศรษฐกิจ การเมือง จะเป็นอย่างไร ถ้าพูดถึงเรื่องของความสวยงาม สาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งดังกล่าวเหมือนเดิม และนับวันยิ่งจะเพิ่มความสำคัญมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจด้านสุขภาพและความงามในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตสูงถึง 43%  หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท

 
 
 
นอกจากนี้  ยังพบว่า  7 ใน 10 ของผู้หญิงในเมือง ใช้บริการสถานความงาม เพื่อทำศัลยกรรมความงาม (quick fix) หรือเพื่อคงไว้ซึ่งความงามและความอ่อนเยาว์  ซึ่งในส่วนของค่าเฉลี่ยการใช้จ่าย  เพื่อความงามต่อครั้งต่อผู้บริโภคหนึ่งคนจะมีมูลค่าการใช้จ่ายเงินกว่า 1,000 บาท  และใช้เวลารับบริการน้อยกว่า 10 นาที  เนื่องจากต้องการความสะดวกรวดเร็ว  ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้เทรนด์การบริโภคความงามแบบเร่งด่วน เป็นตัวเสริมสร้างให้ธุรกิจความงามมีสัดส่วนการเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า  10%

จากแนวโน้มของธุรกิจความงามที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ส่งผลให้มายด์แชร์  ออกมาเปิดเผยงานวิจัยเชิงคุณภาพ  โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกในกลุ่มผู้หญิงไทยที่มีอายุระหว่าง 25 – 39 ปี  และอาศัยในกรุงเทพฯ จำนวน 15  คน  ร่วมพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและมีอิทธิพลทางด้านความงามของเมืองไทยจำนวน  5  ท่าน  พบว่า สาวไทยยังคงให้ความสำคัญกับความงาม  แต่ด้วยการทำงานที่เร่งรีบแข่งกับเวลา  จึงต้องเลือกวีธีการทำสวยที่รวดเร็ว

 
 
 
น.ส.ณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร  ผู้จัดการการวางแผนและพัฒนาธุรกิจ มายด์แชร์ กล่าวว่า  ความงามเป็นเรื่องที่ผู้หญิงให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ไม่ว่ายุคสมัยใด สำหรับผู้หญิงคนเมืองที่ต้องใช้ชีวิตเร่งรีบและแข่งกับเวลา เขามองหาผลิตภัณฑ์และบริโภคสื่อด้านความงามที่ต่างออกไป ผลิตภัณฑ์และสื่อที่จะดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้นั้น จะต้องสะดวก รวดเร็ว และตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบให้กับเขาได้เป็นอย่างดี   ซี่งสิ่งดังกล่าวถือเป็นความท้าทายนักการตลาดในการเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มนี้ เพื่อหาผลิตภัณฑ์ความงามเข้ามาตอบโจทย์ความงามในไลฟ์สไตล์แบบคนเมือง และต้องก้าวให้ทันหญิงสาวยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ดี จากผลการวิจัยยังทำให้พบพฤติกรรมการเลือกบริโภคสินค้าเพื่อความงามของสาวไทย ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น  5  ลักษณะ ประกอบด้วย  1. สวยแบบด่วน คือการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำได้หลายหน้าที่ในตัวเดียว หรือพกพาสะดวก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้กับสาวๆผู้บริโภคในเมืองได้เป็นอย่างดีเนื่องจากไม่ต้องเสียเวลานานในการใช้ผลิตภัณฑ์  2.รอบรู้เรื่องความงาม ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะศึกษาหาข้อมูลก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากอินเตอร์เน็ตเสมอ และจะเลือกซื้อสินค้าด้วยเหตุและผลมากขึ้น

3. เชื่อมั่นในเรื่องความงามจากภายใน จากสภาวะความเครียดและการมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ ผู้บริโภคสมัยใหม่จึงหันมาใส่ใจเรื่องการรักษาสุขภาพและการเลือกบริโภคสินค้าที่จะทำให้เกิดความงามจากภายใน  4.ชอบสินค้าเฉพาะบุคคล ผู้บริโภครู้สึกว่าผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้สินค้าเฉพาะบุคคลจะดีกว่าสินค้าที่มีวางขายทั่วๆไป ดังนั้นแบรนด์ต้องทำให้ผู้บริโภคยุคใหม่มีความรู้สึกว่าสินค้าที่เขาเลือกคือสินค้าที่มีเฉพาะตน   และ 5. Premium Mass ผู้บริโภคจะเลือกซิ้อสินค้าที่แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดี หาซื้อสะดวกและมีราคาสมเหตุสมผล

 
 
 
จากผลวิจัยที่ค้นพบดังกล่าวถือเป็นการบ้านที่นักการตลาดควรนำมาขบคิด  เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย  รวมไปถึงการทำการตลาด  และการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านกลยุทธ์ 7 ข้อ  ประกอบด้วย   1. คำนึงถึง Fabulous C’s   ซึ่งประกอบด้วย 6 C  คือ C ที่  1.  ความสะดวก ง่าย (Convenience)  ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ  ผู้บริโภคจึงมองหาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกและประหยัดเวลาให้กับเค้าได้มากที่สุด  

C ที่ 2 คือ  เนื้อหาของแบรนด์ (Content) หรือ  การสร้างเนื้อหาของแบรนด์ในการสื่อสารนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคนี้ที่อินเตอร์เน็ตมีบทบาทอย่างยิ่งต่อผู้บริโภค และที่สำคัญคือการมาถึงของทีวีดิจิตอล ผู้บริโภคในเมืองเลือกที่จะเข้าหาเนื้อหาต่างๆที่มีให้เลือกมากมายด้วยตัวเอง หากแบรนด์และรายการต่างๆมีเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของเค้า ไม่ว่าช่องทางไหน ผู้บริโภคจะตามหาคอนเทนต์ที่ต้องการจนเจอ การสร้างเนื้อหาที่โดนใจไม่เพียงแต่จะเป็นแม่เหล็กดึงผู้บริโภคให้เข้าหา แต่จะทำให้เกิดการบอกต่อ (share) ได้อีกด้วย

ส่วน C  ที่ 3  คือ   การสื่อสารระหว่างผู้บริโภคกับแบรนด์ (Conversation) เนื่องจากความงามเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับผู้หญิง แบรนด์ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนได้พูดคุยตอบโต้กับแบรนด์ หรือที่เรียกว่าการสื่อสารแบบสองช่องทาง (two-way communication) เพราะจะทำให้แบรนด์ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น ลดโอกาสที่จะถูกพูดถึงในแง่ลบ และยังรวมถึงการเพิ่มโอกาสที่จะสามารถสร้างความมั่นใจจากผู้บริโภคได้อีกด้วย

สำหรับ C  ที่ 4  คือ  การร่วมมือกันระหว่างแบรนด์ (Collaboration) นอกจากประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์แล้ว ผู้บริโภคคนเมืองยังมองหาความรู้สึกพิเศษ (exclusivity) ที่เขาจะได้รับจากแบรนด์อีกด้วย หนึ่งในนั้นคือการร่วมมือกันออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างแบรนด์ (collaboration) ซึ่งจะเป็นการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากชื่อเสียงของแบรนด์ต่างๆที่มาร่วมกันออกแบบ วิธีการนี้เองจะสามารถดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคในเมืองได้เป็นอย่างดี เพราะจะทำให้เค้ารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์นี้มีความพิเศษยิ่งขึ้น และอยากจะมีไว้ในครอบครอง

ขณะที่  C  ที่  5  คือ   การร่วมคิด ร่วมสร้าง (Co-creation) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการทำตลาด เพราะถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จะทำให้เขาสามารถสะท้อนสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาได้เป็นอย่างดี และยังทำให้เขารู้สึกใกล้ชิดกับแบรนด์มากขึ้นอีกด้วย และเมื่อสามารถทำให้เค้าเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ได้นั้น จะช่วยสร้างความภักดีต่อตราสินค้าได้ดียิ่งขึ้น (brand loyalty) จากการที่ผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของเขา (relevant) และยังทำให้เกิดความผูกพันกับแบรนด์ (brand engagement) มากขึ้นอีกด้วย

 
 
 
ส่วน C  ที่  6  คือ สินค้าเฉพาะบุคคล (Customization) ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับความต้องการของตัวเองเป็นอย่างมาก และจะมองหาผลิตภัณฑ์หรือประสบการณ์ที่สร้างความพิเศษและแตกต่าง (unique) ให้กับเขา ผลิตภัณฑ์หรือเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นมา  เพื่อให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ (customization) เป็นเสมือนกับลายนิ้วมือ ซึ่งจะไม่ซ้ำกับคนอื่น

น.ส.ณัฐา  กล่าวว่า  กลยุทธ์ที่  2. ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามไลฟสไตล์ผู้บริโภค (Adapt to Consumer Faster Lifestyle) ผู้บริโภคในเมืองต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบทุกวัน และที่สำคัญพวกเขามีความต้องการใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ชอบผูกตัวเองอยู่กับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งเป็นเวลานาน  
กลยุทธ์ที่  3. ใช้พลังของการบอกต่อ (Power of Influencer and WOM) แน่นอนว่าเหล่าคนดังและบิวตี้บล็อกเกอร์ยังคงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคในเรื่องของความสวยความงาม สิ่งที่แบรนด์ต้องให้ความสำคัญสำหรับสาวๆ คนเมือง คือ การสร้างคอนเทนต์ที่ไม่ดูเป็นการค้า (commercialize) จนเกินไป แบรนด์ควรจะทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกว่าอำนาจการตัดสินใจเป็นของตัวผู้บริโภคเอง

กลยุทธ์ที่  4. การทำแคมเปญต้องเชื่อมออฟไลน์และออนไลน์ (Offline and Online Integration)ผู้บริโภคมีการค้นหาข้อมูลจากทุกที่ไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ และแม้สื่อออนไลน์จะเข้ามามีอิทธิพลกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการจะเชื่อมต่อเข้าหาข้อมูลตลอดเวลาก็ตาม (connectivity) ออฟไลน์ก็จะกลายมาเป็นส่วนนึงของการสร้างแคมเปญ คอนเทนต์ที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น  ต้องทำให้มีช่องทางเข้าถึงที่ครอบคลุม  จึงจะทำให้แคมเปญได้ผลดี  
 
กลยุทธ์ที่  5. ต้องไปอยู่ถูกที่ ถูกเวลา (Right Devices, Right Time) ไม่เพียงแต่คอนเทนต์และการนำเสนอให้ครอบคลุมทุกช่องทางการเข้าหาสื่อของกลุ่มเป้าหมายเท่านั้นที่สำคัญ แบรนด์ควรมองลงไปถึงการนำตนเองไปอยู่ให้ถูกจุดและถูกเวลา  เพื่อทำให้เกิดศักยภาพในการสื่อสาร

 
 
 
สำหรับกลยุทธ์ที่  6. ซื้อของออนไลน์ (E(MS) Commerce)  ถือว่ามีอิทธิพลกับผู้บริโภคคนเมืองมาก  เพราะสามารถทำได้อย่างสะดวก และรวดเร็ว แบรนด์จะต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาเหล่านี้มีช่องทางการซื้อผ่านออนไลน์ในลักษณะใด เนื่องจากการขายสินค้าผ่านออนไลน์นั้นทำได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำผ่านเว็บไซต์ หรือผ่านโซเชียลเน็ตเวิรค์  รวมไปถึงช่องทางเข้าหาผู้บริโภคที่มีชีวิตเร่งรีบและใช้เวลาส่วนใหญ่กับอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา ซึ่งควรจะทำให้คลอบคลุมไปถึงการสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์มือถือนั่นเอง

ปิดท้ายที่กลยุทธ์ที่  7. Always Be Adaptive ผู้บริโภคในเมืองไม่เพียงแต่ต้องใช้ชีวิตที่เร่งรีบตลอดเวลา ความต้องการและพฤติกรรมการบริโภคของเค้าก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นเดียวกัน มายด์แชร์เชื่อว่านักการตลาดยุคใหม่ควรจะต้องพร้อมตอบสนองด้วยความรวดเร็ว และมีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง และโอกาสใหม่ๆที่จะเข้ามา  เพื่อตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างทันใจ  นักการตลาดคนไหนวางกลยุทธ์ได้ตามนี้น่าจะโกยยอดขายเข้ากระเป๋าไปได้แบบเต็มๆ.

 

LastUpdate 22/06/2557 15:17:06 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:37 am