เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ยืดหยุ่น "ค่าเงินหยวน" รองรับ AEC


 

 

การยืดหยุ่นด้านอัตราแลกเปลี่ยนของจีน เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดรัฐบาลจีน อนุญาตให้ธนาคารต่างๆกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์อย่างเสรี ในการซื้อขายกันโดยตรง ถือเป็นอีกก้าวไปสู่การปล่อยเสรีอัตราแลกเปลี่ยน จากก่อนหน้านี้ ที่ธนาคารต่างๆ ต้องกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์ที่เสนอแก่ลูกค้า ให้อยู่ในกรอบ 3% ของค่ากลางของธนาคารกลางจีนในแต่ละวัน ส่งผลให้ธนาคารในจีน สามารถกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนหยวนต่อดอลลาร์ให้สอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานของตลาดได้โดยไม่มีข้อจำกัด


ซึ่งผู้บริหารธนาคารจีนแห่งหนึ่ง ระบุวา การปล่อยเสรีในตลาดรายย่อยที่ซื้อขายกันโดยตรง สะท้อนว่า ธนาคารกลางเชื่อว่าเงินหยวนถึงจุดดุลยภาพแล้ว เพราะการมีดุลยภาพเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางค่อยๆ ปล่อยเสรีอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยไม่ต้องวิตกว่าจะผันผวนมากเกินไป 

นอกจากนี้จีนซึ่งถือเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กำลังพยายามเพิ่มการใช้เงินหยวนในการค้าและการลงทุนในโลก เพื่อลดการที่จีนต้องพึ่งพาเงินดอลลาร์ โดยการเปิดโอกาสให้ตลาดเป็นตัวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญไปสู่การปล่อยเสรี
ขณะเดียวกันก็ลดความจำเป็นที่รัฐบาลกรุงปักกิ่งต้องสะสมทุนสำรองสกุลดอลลาร์สำหรับบริหารอัตราแลกเปลี่ยน
 

 
 
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเงินหยวน ที่มีแนวโน้มว่า จะมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต และได้พยายามส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย เริ่มหันมาใช้เงินหยวนในการค้าและการลงทุนที่มากขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และลดผลกระทบจากความผันผวนของเงินสกุลหลัก โดยที่ผ่านมาเงินบาทไทย ก็สามารถกำหนดราคาซื้อขาย ระหว่างเงินบาทกับเงินหยวนโดยตรงได้ที่คุนหมิงของจีน
 
 
 
 
ขณะที่ผู้บริหารจากธนาคารพาณิชย์ นายพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจระหว่างประเทศ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมาลูกค้าของธนาคารได้ใช้เงินหยวนในการทำธุรกรรมการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังมีสัดส่วนไม่มากเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็นับว่าเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้ประกอบการเริ่มรู้จักช่องทางนี้มากขึ้น และเห็นเสถียรภาพในเงินหยวนมากขึ้น

 
 
 
ด้าน นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เชื่อว่า สัดส่วนการใช้เงินหยวนเป็นสกุลเงินในการชำระสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้น ทั้งในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างแน่นอน เนื่องจากรัฐบาลจีนจะต้องผลักดันกระบวนการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลของโลกอย่างเข้มข้นต่อไปและประเทศจีนยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับอาเซียน

ส่วนธนาคารกลางเกาหลีใต้ ก็มีรายงานว่า ยอดเงินฝากสกุลหยวนในภาคธนาคารของเกาหลีใต้มีสัดส่วนสูงกว่า 20% ของเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด โดยยอดเงินฝากในรูปสกุลหยวนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่ 1.197 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อสิ้นเดือนมิ.ย. หรือตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 20.3% ของยอดเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศรวมกันทั้งหมดที่ 5.895
หมื่นล้านดอลลาร์ โดยเงินหยวนมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของเงินฝากทั้งหมดในภาคธนาคารเกาหลีใต้ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้เริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อเดือนกันยายน 2543 

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา เงินฝากสกุลเงินหยวนในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 50 เท่าจากจำนวน 260 ล้านดอลลาร์ในเดือนมิ.ย.ปีที่แล้ว และในเดือนธ.ค. ยอดเงินฝากสกุลเงินหยวนได้ทะลุ 10% ของยอดเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศทั้งหมด

การที่จีนพยายามเปิดเสรีด้านอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากจะทำให้เงินหยวนมีการค้าขายระหว่างประเทศมากขึ้น ยังสอดคล้องกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ประเทศยักษ์ใหญ่ต่างๆ ต้องการมีบทบาทด้านการค้ากับประเทศในอาเซียนมากขึ้น 

 

LastUpdate 09/07/2557 10:11:45 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:46 pm