เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
พาณิชย์งัด"มาตรการลดค่าครองชีพ".....หลังหนี้ครัวเรือนพุ่ง


 
ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนจากกลุ่มที่มีรายได้ต่ำ เป็นปัจจัยที่ยังฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน แต่ก็ไม่สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ต่างก็ยอมรับว่าแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะเติบโตแค่ 1.5- 2.0 % เท่านั้น 

 
และจากการสัมมนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาและทางออกหนี้ครัวเรือนไทย” ของ ธปท.สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้ง 3 สำนักงานภาค ได้แก่ สำนักงานภาคเหนือ สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสำนักงานภาคใต้ พบว่า ภาวะหนี้ครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง และเกิดขึ้นทั่วไปแต่มีความหนักเบาแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ 

โดยครัวเรือนภาคใต้มีภาระหนี้ต่ำที่สุดและยังไม่น่ากังวล ขณะที่ครัวเรือนภาคอีสานและภาคเหนือมีภาระหนี้ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มที่น่าห่วงมากขึ้น โดยกลุ่มอาชีพนอกภาคเกษตรมีหนี้สูง เนื่องจากกระแสการบริโภคนิยม ขณะที่ครัวเรือนภาคเกษตรมีหนี้สูงจากรายได้ต่ำ เพราะการผลิตพึ่งพาสภาพดิน ฟ้า อากาศที่มีความไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ครัวเรือนเกษตรของภาคใต้ในอีกระยะ 4-5 ปีข้างหน้า มีโอกาสเกิดความเสี่ยงมากขึ้น จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ยางพารา หรือปาล์มน้ำมันอาจมีแนวโน้มลดลง 

 
ขณะที่ นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยอมรับว่า ภาพรวมการบริโภคภายในประเทศขณะนี้ยังคงไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควร เนื่องจากประชาชนยังประหยัดการใช้จ่าย เป็นผลจากภาระหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และช่วงนี้ไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว (โลว์ซีซั่น) ทำให้การจำหน่ายสินค้าและการบริการต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

 
ทั้งนี้แนวทางการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน นับเป็นนโยบายหนึ่งของ คสช. เพื่อช่วยประชาชน โดยล่าสุดโฆษกกกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่กระทรวงได้จัดทำโครงการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนออกมาจำนวนมาก

ทั้งการขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้า 6 เดือน การดูแลราคาอาหารปรุงสำเร็จที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป การจัดโครงการธงฟ้าจำหน่ายสินค้าราคาประหยัดทั่วทุกภูมิภาค และการจัดมหกรรมลดราคาสินค้าและบริการทางออนไลน์ รวมถึงการขอร่วมมือกับร้านค้าส่งค้าปลีกลดราคาจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศ

 
ซึ่งผู้ประกอบการเองก็ยืนยันว่า พร้อมที่จะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์อย่างเต็มที่และเมื่อพ้นช่วงขอความร่วมมือตรึงราคาแล้ว ราคาสินค้าก็อาจไม่มีการปรับขึ้น ยกเว้นรายการที่มีต้นทุนที่สูงขึ้นจริงๆ ส่วนการติดตามสถานการณ์ราคาอาหารปรุงสำเร็จ (จานด่วน) หลังจากที่ได้ร่วมมือกับห้างค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า ในการลดราคาอาหารในเมนูพิเศษ 10 เมนูตามตามแนะนำของกระทรวงพาณิชย์ พบว่า สถานการณ์การจำหน่ายยังอยู่ในราคาแนะนำ คือ เมนูละ 35-40 บาท ขณะที่สินค้าอาหารปรุงสำเร็จอื่นๆ ก็ยังมีการตรึงราคาจำหน่ายไว้ที่ราคาเดิม
 

LastUpdate 15/07/2557 10:30:48 โดย : Admin
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 1:18 pm