การตลาด
สกู๊ป "อิชิตัน" บุกเออีซี ประเดิมตลาดชาอินโดฯ 7.3 หมื่นล้าน


 
 
สร้างความคึกคักให้กับตลาดเครื่องดื่มชาในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนพอสมควร  ภายหลัง บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ออกประกาศความร่วมมือกับ บริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค จำกัด หรือ เอพี  (PT Atri Pasifik) (AP) ประเทศอินโดนีเซีย  เพื่อก่อตั้ง บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย จำกัด  ในสัดส่วนการถือหุ้น 50:50 (50% จากอิชิตัน และ 50% จากเอพี) เพื่อดำเนินธุรกิจชาเขียวในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นของการเปิดตลาดเออีซีของ บริษัท อิชิตัน เพื่อต้อนรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 นี้

 
 
 
บริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค จำกัด หรือ เอพี  (PT Atri Pasifik) (AP) ประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านของการจัดจำหน่ายสินค้าของประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจาก เอพี เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง พีที ซิกมันทรา อัลฟินโด้ (PT Sigmantara Alfindo) ประเทศอินโดนีเซีย และ มิตซูบิชิ  คอร์เปอเรชั่น (Misubishi Corperation) ประเทศญี่ปุ่น จึงทำให้บริษัท อิชิตัน มั่นใจว่าการจับมือร่วมกันดังกล่าวจะทำให้การทำตลาดชาเขียวอิชิตันในประเทศอินโดนีเซียต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

ในด้านของแนวทางการดำเนินธุรกิจ หลังจากประกาศความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป กับ เอพี (โดย พีที ซิกมันทรา อัลฟินโด้ และมิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น) จะมีการเรียกเก็บเงินลงทุน 25% ของทุนจดทะเบียน ฝ่ายละ 148 ล้านบาท หลังจากนั้นจะทยอยเรียกเก็บส่วนที่เหลือภายหลังตามขั้นตอนการดำเนินงานของบริษัท อิชิตัน อินโดนิเซีย รวมเป็นเงินลงทุนเมื่อเสร็จสิ้นโครงการฝ่ายละ 592 ล้านบาท

 
 
 
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตันกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้เข้าไปศึกษาข้อมูลตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศอินโดนีเซียมาระยะหนึ่ง พบว่าอินโดนีเซียมีศักยภาพหลายด้านที่สนับสนุนการขยายธุรกิจชาพร้อมดื่ม ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรมากกว่า 250 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและวัยทำงานม่ีความพร้อมสำหรับการเปิดรับเครื่องดื่มใหม่ๆ และจากการที่ประเทศอินโดนีเซียตั้งในเขตศูนย์สูตรอากาศร้อนตลอดทั้งปี จึงทำให้มีวัฒนธรรมดื่มชาเป็นประจำคู่กับทุกมื้ออาหารและทุกๆ กิจกรรมระหว่างวัน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อการทำตลาดเครื่องดื่มอย่างมาก

จากวัฒนธรรมการดื่มชาเป็นประจำทุกวันของผู้บริโภคอินโดนีเซีย ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 73,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตลาดชาเขียว 13%  และตลาดชาดำ 87%  โดยในแต่ละปีตลาดชาพร้อมดื่มจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งใหญ่กว่าตลาดน้ำอัดลมถึง 2 เท่า ขณะที่ตลาดชาเขียวมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 20%  

ด้วยเหตุปัจจัยดังกล่าว จึงทำให้ บริษัท อิชิตัน มีความมั่นใจที่จะเข้าไปทำตลาดในประเทศอินโดนีเซีย เพราะการเข้าไปเปิดขยายธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียในครั้งนี้ ไม่ได้จำกัดการทำตลาดเฉพาะชาพร้อมดื่มเท่านั้น  แต่ บริษัท อิชิตัน มีแผนที่จะผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มเกือบทุกชนิดเข้าทำตลาด เพื่อตอบสนองทุกความต้องการของคนอินโดนีเซีย

นายตัน กล่าวว่า การตั้ง บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย เข้าดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ถือเป็นการรวมความแข็งแกร่งของ 3 บริษัท จาก 3 ประเทศ โดย อิชิตันกรุ๊ป มีประสบการณ์ด้านพัฒนาเครื่องดื่ม และความเชี่ยวชาญทางการตลาด จนปัจจุบันเป็นผู้นำอันดับ 1 ธุรกิจชาพร้อมดื่มในประเทศไทย อีกทั้งโรงงานอิชิตันกรีนแฟคทอรี่ใช้เทคโนโลยีการผลิตทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีการวางแผนจัดการเป็นระบบ สามารถสร้างศักยภาพการผลิตและบริหารต้นทุนอย่างดีเยี่ยม

ขณะที่ บริษัท พีที อาทรี่ แปซิฟิค (เอพี) ก็เป็นบริษัททำธุรกิจด้านการจัดจำหน่ายที่ทรงพลังแห่งหนึ่งของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งจะสามารถนำสินค้าของ อิชิตัน อินโดนีเซีย เข้าสู่ตลาดได้ทันที ทั้งโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ และร้านเครื่องดื่มรายย่อยทั่วประเทศ ส่วน บริษัท มิตซูบิชิ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ เอพี มีความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายการลงทุน และเป็นผู้นำเทคโนโลยีที่หลากหลายมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มชาของ บริษัท อิชิตัน อินโดนีเซีย มีแผนที่จะกระจายสินค้าเข้าไปทำตลาดในประเทศอินโดนีเซียภายในไตรมาสแรกของปี 2558 เบื้องต้นจะนำสินค้าเข้าทำตลาดจำนวน 2 รสชาติ ด้วยการจ้างโรงงานในประเทศอินโดนีเซีย เป็นผู้ผลิตสินค้าให้ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจ จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนโรงงานผลิตด้วยตัวเองในช่วงเริ่มต้น เมื่อการเข้าทำตลาดเต็มรูปแบบและได้รับผลตอบรับตามความคาดหมายแล้ว บริษัท อิชิตัน จึงจะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งสายการผลิตแรกของโรงงาน

นายตัน กล่าวต่อว่า การลงทุนของ บริษัท  อิชิตัน กรุ๊ป ครั้งนี้ จะช่วยขยายฐานลูกค้าไปยังประเทศอินโดนีเซียได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 250 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของการเริ่มต้นขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน และสร้างผลประกอบการที่ดี รวมไปถึงการสร้างผลตอบแทนสูงให้กับผู้ถือหุ้น

ส่วนตลาดต่อไปที่จะเข้าไปทำตลาดขณะนี้ ยังไม่ได้มีการวางแผน เนื่องจากต้องการรอดูผลการดำเนินงานในประเทศอินโดนีเซียก่อนว่าเป็นอย่างไร เพราะขณะนี้เป็นเพียงช่วงเริ่มต้นของการทำตลาด ซึ่ง บริษัท อิชิตัน จะเริ่มต้นธุรกิจจากชาเขียวก่อน แล้วตามด้วยเครื่องดื่มอื่น รวมทั้งไบเล่ เพื่อให้ธุรกิจเครื่องดื่มมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยในส่วนของราคาขายชาทั้ง 2 รสชาติ คือ ชามะนาว และ ชาดำ บริษัท อิชิตัน ได้วางราคาไว้ที่ประมาณ 13-15 บาท

 
 
 
นายตัน กล่าวอีกว่า ในประเทศอินโดนีเซียยังไม่มีผู้ประกอบการต่างชาติเข้าไปทำตลาดอย่างจริงจัง บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสดังกล่าว แม้ว่าการแข่งขันจะรุนแรงเหมือนประเทศไทย เนื่องจากมีผู้เล่นในตลาดมากกว่า 10 แบรนด์ ซึ่งรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย คือ ขวดเพ็ท เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการในตลาดเริ่มปรับกลยุทธ์การผลิตจากขวดแก้วเป็นขวดเพ็ท เพื่อสะดวกในการทำตลาดและจัดส่งสินค้า          

ในด้านของกลยุทธ์การทำตลาด บริษัท อิชิตัน จะใช้ความแข็งแกร่งของพันธมิตรทั้ง 2 ราย ในการขยายตลาดชาพร้อมดื่ม โดยในส่วนของ บริษัท เอพี จะทำหน้าที่ในด้านของการจัดจำหน่ายสินค้าสู่ห้างโมเดิร์นเทรด ร้านสะดวกซื้อ และร้านค้ารายย่อยทั่วไป โดยปัจจุบัน เอพี มีธุรกิจค้าปลีกของตัวเอง ซึ่งเป็นร้านคอนวีเนียนสโตร์มากกว่า 10,000 สาขาแล้ว และอีก 6 ปี จะเพิ่มเป็น 20,000 แห่ง จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการขยายธุรกิจ ขณะที่ บริษัท มิตซูบิชิ มีความแข็งแกร่งทางด้านการลงทุน และเป็นเจ้าของร้านลอว์สัน ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มขยายสาขาในประเทศอินโดนีเซียแล้ว

จากแผนการดำเนินธุรกิจดังกล่าว บริษัท อิชิตัน วางเป้าหมายไว้ว่า ปีแรกของการทำตลาดชาพร้อมดื่มในประเทศอินโดนีเซีย น่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 2,500 ล้านบาทในปีที่ 2  โดยในส่วนของปีแรกที่ทำตลาด บริษัท อิชิตัน ได้วางงบการทำตลาดไว้ที่ประมาณ 100 ล้านบาท  และจากการที่ประเทศอินโดนีเซียไม่มีข้อห้ามหรือกฎหมายบังคับมากเหมือนประเทศไทย จึงทำให้ทำตลาดได้เต็มที่ ซึ่งจากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว ภายใน 5 ปี คาดว่าจะมียอดขายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยช่วงระหว่าง 5  ปี ที่ทำธุรกิจในประเทศอินโดนีเซียคาดว่าจะใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท      

สำหรับรายได้ในประเทศไทยสิ้นปีนี้ บริษัท อิชิตัน วางเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท เติบโต 10-20%  เมื่อเทียบกับปี 2556 ที่มีรายได้ 6,400  ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้ที่มาจากต่างประเทศ 1% และจากการที่ปีนี้เริ่มขยายตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง คาดว่าปีหน้าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็น 5% ส่วนเป้าหมายในประเทศไทยอีก 5 ปี คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มเป็น 15,000 ล้านบาท และหากนำมารวมกับรายได้ต่างประเทศจะทำให้บริษัท อิชิตัน มีรายได้รวมเป็น 25,000 ล้านบาท ถือเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดชาเขียว ซึ่งปัจจุบันอิชิตันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 45% ตามด้วยโออิชิ 37%  เพียวริคุ 8%  และ ลิปตัน 4%

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 30 ส.ค. 2557 เวลา : 11:44:27
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 3:13 pm