การตลาด
สกู๊ป "ข้าวไก่แจ้" ย้ ำปักธงบุกตลาดไทย


 

แม้ว่าแนวโน้มภาพรวมตลาดส่งออกข้าวของไทยจะยังไม่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากประเทศคู่แข่งมีการส่งออกข้าวเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม หรืออินเดีย ส่งผลให้ประเทศไทยยังคงตกอันดับแชมป์ส่งออกข้าวมาอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากอินเดีย ซึ่งในส่วนของอินเดียคาดว่าปี 2557 นี้ จะมีการส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านตัน ขณะที่ประเทศไทยคาดว่าจะมีการส่งออกข้าวอยู่ที่ประมาณ 9 ล้านตัน

 

 

 

จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ออกมาประเมินการส่งออกข้าวไทยในอีก 10 ข้างหน้า นับตั้งแต่ปี 2557-2558  ว่า ประเทศไทยจะมีมูลการส่งออกข้าวสูญหายไปประมาณ 87,500 ล้านบาท หลังจากถูกประเทศคู่แข่งตีตลาดการส่งออก

ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกข้าวกำลังประสบปัญหาด้านการส่งออก แต่ในส่วนของผู้ประกอบการที่ทำตลาดข้าวในประเทศยังคงยิ้มได้ แม้ว่าอัตราการบริโภคข้าวในประเทศจะมีอัตราการเติบโตไม่สูง แต่เนื่องจากประเทศไทยมีการจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มีอัตราการบริโภคข้าวในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นมา ซึ่งจากโอกาสที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้ข้าวตรา "ไก่แจ้" เล็งเห็นโอกาสในการขายข้าวถุงในประเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการวางแผนขยายโรงงานผลิตข้าวเพิ่มขึ้น

 
 
 
 
นายธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ จำกัด ผู้ผลิตข้าวสารบรรจุถุง “ไก่แจ้” กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานบรรจุข้าวถุงบนพื้นที่  40 ไร่ ใกล้กับโรงงานแห่งเดิม ซึ่งมีพื้นที่ 40 ไร่ ใน อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี  ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่อยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาท โดยหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาสแรกของปี 2558  คาดว่าจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตข้าวถุงเพิ่มอีกประมาณ 4  เท่า จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 80,000 ตันต่อเดือน

ปัจจุบัน "ข้าวไก่แจ้"  มีผลิตภัณฑ์ข้าวบรรจุถุงทุกชนิด ทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ ข้าวออร์แกนิก ข้าวเพื่อสุขภาพ และอื่นๆ อ่ีกประมาณ 20 ประเภท เป็นจำนวนกว่า 200 เอสเคยู ข้าวถุงที่จำหน่ายมีทั้งหมด 3 ขนาด ประกอบด้วย  ขนาด 5 กิโลกรัม  ขนาด 15  กิโลกรัม และขนาด 45 กิโลกรัม มีช่องทางจำหน่ายที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น,ห้างบิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ และ เทสโก้ โลตัส ทุกสาขาทั่วประเทศ

จากความหลากหลายของสินค้า และช่องทางการจำหน่ายที่คลอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ส่งผลให้ยอดขายข้าวถุงไก่แจ้ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละประมาณ 30-40% แต่สำหรับปีนี้คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเพียง 20% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจและการเมืองตั้งแต่ต้นปีทีผ่านมา จึงทำให้ปีนี้มีรายได้จากการขายข้าวถุงอยู่ที่ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวของข้าวไก่แจ้จะต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ แต่หากนำมาเปรียบกับภาพรวมตลาดข้าวถุงในประเทศ ถือว่ามีอัตราการเติบโตสูงกว่าภาพรวมตลาดค่อนข้างมาก เนื่องจากตลาดข้าวถุงในประเทศมีอัตราการเติบโตเพียง 2-3% เท่านั้น หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท

นายธีรินทร์ กล่าวว่า จากแนวโน้มตลาดข้าวถุงในประเทศที่ยังมีโอกาสขยายตัว จากการที่ประเทศไทยรับแรงงานต้างด้าวเข้ามาทำงานมากขึ้น ทำให้แนวทางการทำตลาดข้าวถุงของบริษัทนับจากนี้ ยังคงเน้นไปที่การทำตลาดในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นอัตราส่วนอยู่ที่ประมาณ 95%

แม้ว่าจะเน้นการทำตลาดในประเทศเป็นหลัก  แต่บริษัทก็ยังคงเดินหน้าส่งออกสินค้าไปในตลาดต่างประเทศควบคู่กันไป ด้วยการขยายฐานในประเทศเดิมที่ทำการส่งออกไปแล้ว เช่น ดูไบ และประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในส่วนของประเทศเพื่อนบ้าน ข้าวไก่แจ้จะเน้นการส่งออกในลักษณะการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ข้าวไก่แจ้คาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะมีรายได้จากธุรกิจข้าวถุงไม่ต่ำกว่า 5,000-6,000 ล้านบาท
 

 
 
 
นายธีรินทร์ กล่าวต่อว่า ตลาดข้าวสารบรรจุถุงในประเทศไทยนับจากนี้ ยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากมีผู้ประกอบการในตลาดจำนวนมาก ส่งผลให้ปัจจุบันตลาดข้าวถุงของไทยมีทั้งรายเล็กและรายใหญ่ผลิตข้าวสารบรรจุถุงหลากหลายแบรนด์เข้าทำตลาดมากกว่า 1,000 แบรนด์  

จากการแข่งขันที่รุนแรงดังกล่าว ทำให้ข้าวไก่แจ้ต้องออกมาสร้างแบรนด์สินค้าอย่างหนัก เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ข้าวไก่แจ้มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการยอมรับคุณภาพสินค้าของข้าวไก่แจ้ ด้วยการใช้งบประมาณ 70-80 ล้านบาท ทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากออกมาทำการตลาดอย่างหนัก ส่งผลให้ปัจจุบันข้าวไก่แจ้ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคคิดถึง ติด 1 ใน 5 ของข้าวถุงของไทย

ปัจจัยที่ทำให้ข้าวไก่แจ้ยังคงรักษาการเติบโตให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจและสูงกว่าภาพรวมตลาดได้ ส่วนหนึ่งมาจากการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานทำให้กลุ่มลูกค้าเชื่อมั่น และมีการทำตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น การให้ผู้บริโภคทดลองชิม รวมไปถึงการทำงานเป็นทีมทั้งฝ่ายขายและฝ่ายการตลาด

 
 
 
ความสำเร็จที่ได้รับดังกล่าว ส่งผลให้ บริษัท สุนทรธัญทรัพย์ เริ่มมองโอกาสในธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการตั้ง "บริษัท ทีอาร์ ไทย ฟูดส์ จำกัด"  พร้อมใช้งบลงทุน 20 ล้านบาท  สร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร เพื่อผลิตและจำหน่ายขนมไทย ภายใต้แบรนด์ “แม่นภา” โดยขณะนี้ได้ทำการผลิตสินค้าในกลุ่มขนมเข้าทำตลาดแล้ว 3 รายการ ประกอบด้วย กล้วยเบรกแตก ทองม้วนหมูหยอง และข้าวต้มมัด

นายธารินทร์ กล่าวอีกว่า เหตุผลที่บริษัทขยายธุรกิจเข้าสู่ขนมไทย เพราะปัจจุบันยังไม่มีผู้ประกอบการไทยผลิตขนมในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาทำตลาดอย่างจริงจัง จึงถือเป็นโอกาสดีที่บริษัทจะผลิตขนมไทยเข้ามาทำตลาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มติดต่อบริษัททัวร์ เพื่อนำขนมไปให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองชิมและจำหน่ายบ้างแล้ว

ในส่วนของแผนการทำตลาดกลุ่มสินค้าขนมไทย เบื้องต้นได้ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมการขายและโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามสื่อสาธารณะ  พร้อมจัดทำแคมเปญแจกตัวอย่างสินค้า รวมถึงโรดโชว์ตามสถานที่ต่างๆ ตลอดจนภาพยนตร์โฆษณาและสื่อต่างๆ เพื่อกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทุกช่องทาง โดยเน้นช่องทางโมเดิร์นเทรดเป็นหลัก จากปัจจุบันที่มีการจำหน่ายภายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขา

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของกลุ่มสินค้าขนมไทย จะเน้นจับกลุ่มเป้าหมายไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่ช่องทางการขายนอกจากจะวางจำหน่ายในร้านเซเว่นอีเลฟเว่นแล้ว ยังเตรียมขยายช่องทางจำหน่ายไปยังตลาดส่งออก ซึ่งเบื้องต้นจะใช้ฐานลูกค้าเดียวกับการส่งออกข้าวถุงไก่แจ้ ภายหลังเข้าร่วมงานไทยเฟคในช่วงกลางปีที่ผ่านมาได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี  แม้ว่าข้าวไก่แจ้จะออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกลุ่มสินค้าขนมไทย ภายใต้แบรนด์แม่นภามากขึ้น แต่สัดส่วนรายได้หลักยังคงมาจากการขายข้าวสารบรรจุถุง โดยในสิ้นปี 2558 คาดว่าจะมีรายได้จากการขายขนมไทย แม่นภา อยู่ที่ประมาณ 60 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 200-300 ล้านบาท ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวข้าวไก่แจ้ก็มีแผนที่จะเปิดตัวรายการขนมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ชนิด เพื่อให้ขนมภายใต้แบรนด์ แม่นภามีความหลากหลายมากขึ้น

 
 
 
 
การออกมาหาโอกาสและช่องว่างทางการตลาดดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ข้าวไก่แจ้ทำไมขึ้นมาติดอันดับ 1 ใน 5 แบรนด์ ที่ผู้บริโภคคิดถึงเมื่อต้องการซื้อข้าวสารบรรจุถุง ได้สำเร็จ และจากการออกมาสร้างแบรนด์ขนมแม่นภาอย่างหนักในครั้งนี้ เชื่อว่าคงทำให้ขนมไทยแบรนด์แม่นภา ติดตลาดและเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคได้ในอีกไม่นานนี้ เพราะกลยุทธ์ที่จะนำมาใช้ในการทำตลาดแบรนด์ขนมไทยดังกล่าว จะใช้สูตรเดียวกับการทำตลาดข้าวไก่แจ้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหมัดเด็ดสิ่งนั้น คือ การทำให้ผู้บริโภคได้ทดลองชิมสินค้า เมื่อผู้บริโภคชื่นชอบก็จะเกิดการซื้อต่อนั่นเอง

LastUpdate 27/09/2557 01:42:34 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 2:47 pm