เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผู้ว่าธปท. มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นแรงส่งสำคัญ ให้เศรษฐกิจไทยปี 58 เติบโตได้ 4.8%


 

 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมานั้น มองว่าจะเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการใช้จ่ายภาครัฐที่ห่างหายไป ให้มีเม็ดเงินกลับเข้ามาระบบได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาอาจยังไม่เห็นผลในปีนี้ แต่จะเป็นแรงส่งสำคัญให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2558  ให้อัตราการเติบโตของจีดีพี สามารถเป็นไปตามที่ ธปท.ประเมินไว้ที่ 4.8 % ได้  

ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวงเงินช่วยชาวนา 4 หมื่นล้านบาท ที่ถูกมองว่าจะเป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่นั้น มองว่ามาตรการดังกล่าวไม่ได้ใช้เป็นการทั่วไปกับทุกกลุ่ม แต่เป็นการใช้วงเงินเฉพาะกลุ่ม กับชาวนารายย่อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ในระดับต่ำ และมีการกำหนดวงเงินไว้ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวในหัวข้อ  “นโยบายการเงิน การคลัง เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนาประจำปี  “EIC Conference: Thailand in Transformation” ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเปรียบเหมือนคนไข้ที่ร่างกายอ่อนแอ และมีหลายโรครุมเร้า สะท้อนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกที่โตได้เพียง 0.1 % เรียกได้ว่า เติบโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง  โดยมาจากปัจจัยในประเทศที่ยืดเยื้อจนกระทบต่อภาคการบริโภคและภาคเอกชน ขณะที่ปัจจัยนอกประเทศยังเป็นเรื่องเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่การฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มเห็นการบริโภคที่ฟื้นตัวขึ้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าไม่คงทน และความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่กลับมา ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ทำให้โดยรวมในครึ่งปีหลังของปี 2557 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ 3 % โดยประเมินว่าจีดีพีของไทยในปี 2557 จะเติบโตได้ 1.5%  

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจระยะต่อไป ธปท.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวระยะเริ่มต้น และอาจจะฟื้นตัวเข้าสู่ปกติภายในปีหน้า  โดย ธปท.พยายามดูแลให้ภาวะการเงินผ่อนปรนอย่างเพียงพอ เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ลดดอกเบี้ยยนโยบายไปแล้ว 3 ครั้ง และยังได้หารือกับสถาบันการเงิน ในการช่วยเหลือและผ่อนปรนให้ลูกค้า รวมทั้งพยายามดูแลให้ภาวะการเงินอยู่ในความผ่อนคลาย เพื่อช่วยภาคธุรกิจและพยุงเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังได้พัฒนาตลาดการเงินเพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบด้วย

อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ควบคู่ไปกับการปฏิรูปนั้น หากจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน อาจต้องพิจารณาหลายมิติที่สำคัญ ทั้งการผลักดันด้านแรงงาน สาธารณูปโภค การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และการสนับสนุนการวิจัย  ซึ่งหากไทยไม่เร่งพัฒนาเรื่องเหล่านี้ จะทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาไปมากแล้ว และอาจจะทำให้ประเทศไทยต้องติดกับดักเป็นประเทศกำลังพัฒนาต่อไปอีก

ส่วนการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยมีเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็ง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ เงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ดี ที่สามารถรองรับเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ส่วนสถานะของหนี้สาธารณะ ที่แม้จะปรับขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ซึ่งพื้นฐานที่ดีทำให้มั่นใจว่าประเทศยังสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่ยังคงต้องตระหนักเรื่องเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ต้องอาศัยการมีวินัย และต้องปฏิรูปให้มีการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ทั้งการปรับลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น พัฒนาคน หรือต้องปรับปรุงโครงสร้างเชิงสถาบันเศรษฐกิจ เพราะเมื่อระบบสถาบันเศรษฐกิจแข็งแกร่งแล้ว จะสามารถสร้างการพัฒนาและเอื้อให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงได้       แต่หากโครงสร้างของประเทศอ่อนแอ จะทำให้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาว
 
ดร.ประสารกล่าวทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันถือว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญว่าทุกคนจะสามารถมองข้ามเรื่องส่วนตัว และเอาประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้งได้หรือไม่

บันทึกโดย : วันที่ : 02 ต.ค. 2557 เวลา : 16:36:03
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:25 am