เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ประเมิน "ลดดอกเบี้ย" ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ


การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ที่ยังฟื้นตัวได้อย่างล่าช้า ในมุมมองของธนาคารพาณิชย์ กระแสเสียงส่วนใหญ่ต่างไม่เห็นด้วย รวมทั้งยังเห็นว่า ต้นทุนดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลัก ในการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 


 
 
 
 
โดย นางสาวกิริฏา เภาพิจิตร นักเศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก ระบุว่า ทิศทางนโยบายดอกเบี้ยนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะพิจารณาจากเงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และดอกเบี้ยต่างประเทศ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจชองคณะกรรมการ แต่หากจะเป็นมุมมองของนักลงทุนแล้ว ปัจจัยหลักของการลงทุนอันดับแรก จะเป็นเรื่องของดีมานต์ ไม่ใช่เรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

ขณะที่มุมมองนายธนาคาร นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย เห็นว่า กรณีที่ธปท.อาจใช้นโยบายดอกเบี้ยผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจว่า ไม่ได้ช่วยมากนัก เนื่องจากไทยยังมีปัญหาเรื่องภาระหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวสูงขึ้น เห็นจากสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ 90%  การลดดอกเบี้ยไม่ช่วยให้การบริโภคฟื้นตัวเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549 

 
 
 
ส่วน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือ แบบ U-Shape นั่นคือ ต้องให้เวลาอีกสักระยะในการสร้างโมเมนตัม จึงอาจไม่ทันใจภาคธุรกิจและประชาชนที่อยากเห็นเศรษฐกิจไทยกลับมาแข็งแกร่ง ทำมาค้าคล่องโดยเร็ว ซึ่งทำให้เป็นกระแสกดดันให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในช่วงที่นโยบายการคลังยังไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่
 
อย่างไรก็ตาม การศึกษาของศูนย์วิเคราะห์ฯ พบว่า นโยบายการเงินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ในการส่งผ่านผลไปยังภาคเศรษฐกิจจริง หมายความว่า หาก กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคมนี้ กว่าจะเห็นประสิทธิผลของนโยบายดังกล่าวก็ต้องรอครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง การใช้จ่ายและโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาล ก็คงออกโรงอย่างเต็มตัวไปแล้ว ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 2% จึงยังถือว่าเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยในปีนี้
 

 
 
ทั้งนี้ ผลของการลดดอกเบี้ย (ถ้าเกิด กนง. เซอร์ไพรส์ด้วยการหั่นดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมาจริง) น่าจะเป็นทางด้านจิตวิทยาและความเชื่อมั่นมากกว่า ซึ่งจะส่งผลบวกทันทีกับตลาดการเงินของไทย เช่น ตลาดหุ้นและราคาพันธบัตร เป็นต้น 

แต่อาจสร้างความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพขึ้นมาแทน เพราะหากมองไปรอบๆ ประเทศไทย จะพบว่าแทบไม่มีธนาคารกลางใดเลยที่อยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง (ยกเว้นเกาหลีใต้ที่มีปัญหาเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า) ดังนั้น การปรับลดดอกเบี้ยอาจทำให้เงินทุนต่างชาติหนีออกจากไทย ค่าเงินบาทผันผวน และเงินเฟ้อเร่งตัวเกินคาดการณ์ได้
 

LastUpdate 13/11/2557 11:03:06 โดย : Admin
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:08 pm