เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เก็บ "ภาษีมรดก" หวังลดความเหลื่อมล้ำ


ในที่สุดคณะรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ก็อนุมัติในหลักการ และเห็นชอบให้เสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ที่ให้เก็บร้อยละ 10 จากมูลค่ามรดกส่วนที่เกิน 50 ล้าน และแก้ประมวลรัษฎากร โอนทรัพย์สินให้บุตรต้องเสียภาษีร้อยละ 5 ในส่วนที่เกิน 10 ล้าน 

 
ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือ น กฎหมายดังกล่าวจึงจะมีผลบังคับใช้ โดยแบ่งเป็น 3เดือน พิจารณาใน สนช. และอีก 3 เดือนนับจากประกาศใช้แล้วก็ต้องนับไปอีก 90 วัน ถึงจะใช้ได้
 
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ นโยบายดังกล่าวของรัฐบาลว่า การจัดเก็บภาษีมรดกของไทย เมื่อเทียบกับกับภาษีมรดกของต่างประเทศแล้ว แนวทางการจัดเก็บภาษีดังกล่าวมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับการจัดเก็บภาษีมรดกของ ประเทศอื่นๆ แต่ค่อนข้างยืดหยุ่นและผ่อนคลายกว่าหลายประเทศ  โดยเฉพาะอัตราภาษีมรดก ที่อยู่ในระดับไม่สูงนักและมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับ การยกเว้นภาษีมรดก ประกอบกับการกำหนดกรอบเวลาการบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน เพื่อเป้าหมายการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินขั้นต่ำที่ได้รับการยกเว้น ถือเป็นการตั้งเป้าหมายการจัดเก็บภาษีมรดก
 
โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ระดับสูงขึ้นไป เพื่อไม่ให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าว  แต่ทั้งนี้ ภาครัฐคงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อการจัดเก็บภาษีมรดกอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับฐานข้อมูลภาครัฐ เพื่อใช้ตรวจสอบข้อมูลมรดก และการประเมินราคาทรัพย์สินจดทะเบียนที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เพื่อใช้เป็นฐานในคำนวณภาษีมรดกให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม 

ส่วน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ร่างกฎหมายภาษีมรดก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 12 – 13 พฤศจิกายน 2557 กรณีศึกษาจากประชาชนทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 30,001 บาทขึ้นไป จากผลการสำรวจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอภาษีมรดกที่จะมีการเก็บภาษีในร้อยละ 10 จากทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 50 ล้านบาท พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.58 ระบุว่า เป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม ร้อยละ 9.05 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป ร้อยละ 6.41 ระบุว่าเป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป ขณะที่ ร้อยละ 13.20 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก ร้อยละ 0.16 ระบุว่ามีควรเก็บภาษีเป็นอัตราก้าวหน้าหรือเก็บเฉพาะทรัพย์สินส่วนเกินกว่า 100 ล้านบาท ขึ้นไป และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
 
ความเห็นของประชาชนต่อการเก็บภาษีในอัตรา10 % 
เป็นอัตราภาษีที่เหมาะสม 69.58%
เป็นอัตราภาษีที่มากเกินไป 9.05%
เป็นอัตราภาษีที่น้อยเกินไป 6.41%
ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีมรดก 13.20%

และเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนว่า การเก็บภาษีมรดกจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.09 ระบุว่า จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะเป็นการลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ทำให้เกิดการเอาเปรียบกันในสังคมลดลง นำเงินที่ได้จากการเก็บภาษีนั้นมาพัฒนาประเทศ เพิ่มสวัสดิการต่างๆ เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนร้อยละ 43.31ระบุว่าไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ เพราะมีความแตกต่างกันอยู่แล้วในสังคม ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยก็มีช่องทางอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอยู่ดี และการบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด และร้อยละ 1.60 ไม่แน่ใจ/ไม่ระบุ
 

บันทึกโดย : วันที่ : 19 พ.ย. 2557 เวลา : 01:31:53
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:51 pm