เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กสิกรไทยคาดประชุม กนง.17ธ.ค.นี้ มีลุ้นลดดอกเบี้ย 0.25%


 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์"การประชุม กนง. รอบสุดท้ายปี ’57: ลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หลังเศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ท่ามกลางความเสี่ยงที่รออยู่"

ประเด็นสำคัญ

?    ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 17 ธันวาคม 2557 นี้  เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

?    ทั้งนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ยังคงเป็นไปอย่างค่อนข้างล่าช้า ปัจจัยเสี่ยงที่ต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้ายังมีอยู่มาก และแรงกดดันเงินเฟ้อมีแนวโน้มผ่อนคลายลง แม้ทางการไทยจะเดินหน้าแผนปรับโครงสร้างราคาพลังงานก็ตาม

?    สำหรับประเทศไทย อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสที่จะทรงตัวในระดับต่ำในจังหวะเวลาที่ยาวนานขึ้น ผนวกกับระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับสูง คาดว่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศทรงตัวต่ำต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนข้างหน้า


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากระดับ 2.00% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2557 ในวันที่  17 ธันวาคม 2557 นี้ เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในจังหวะที่แข็งแกร่งขึ้น ท่ามกลางเหตุผลสนับสนุน ดังต่อไปนี้

?    การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมายังคงเป็นไปอย่างล่าช้า โดยการฟื้นตัวของการบริโภคส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสินค้าไม่คงทนเป็นหลัก ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนยังให้ภาพการฟื้นตัวที่ไม่สดใสนัก ท่ามกลางภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำ ในขณะที่การลงทุนยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงภาคการส่งออก อันเป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น แม้ว่าจะเริ่มมีพัฒนาการที่ดีขึ้น  แต่ก็ต้องยอมรับว่าได้รับแรงหนุนจากปัจจัยด้านฤดูกาลและการเร่งส่งออกสินค้าไปยังยุโรปที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ในปีหน้า มากกว่าที่จะส่งสัญญาณถึงอุปสงค์จากประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวขึ้น

?    มองไปข้างหน้าในปี 2558 ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูง อันอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำได้ในระดับที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ โดยปัจจัยหนี้ครัวเรือน คงกดดันแนวโน้มการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ภายนอกประเทศที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ อาทิ จีน และยูโรโซน ยังคงอ่อนแอ รวมทั้งการสิ้นสุดของการให้สิทธิ GSP ของยุโรปคงกดดันให้การฟื้นตัวของภาคการส่งออกให้มีโอกาสออกมาต่ำกว่าที่คาดไว้  สำหรับแรงหนุนจากการใช้จ่ายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ถูกฝากความหวังว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญนั้น คงแปรผันตามประสิทธิภาพในการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและสร้างความก้าวหน้าในโครงการลงทุน ซึ่งต้องยอมรับว่าเผชิญความท้าทายยิ่ง ท่ามกลางกระบวนการด้านงบประมาณที่ใช้เวลา  ดังนั้น ในระหว่างนี้ จึงทำให้นโยบายการเงินเป็นเครื่องมือที่มีน้ำหนักมากกว่าในการประคองการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ ประเด็นความเสี่ยงเชิงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ อาทิ ความเสี่ยงด้านหนี้ครัวเรือน ก็ยังคงเป็นประเด็นติดตามใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมา การเติบโตของระดับหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลง สะท้อนว่าปัญหาได้ถูกตีกรอบไว้ในระดับหนึ่ง แต่หากปรากฏสัญญาณการเพิ่มขึ้นที่น่ากังวลอีกครั้ง ธปท.ก็อาจพิจารณามาตรการอื่นๆ เพื่อดูแลการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนเฉพาะบางภาคส่วนได้

?    แรงกดดันเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มผ่อนคลายลงตามระดับราคาพลังงานในตลาดโลก เอื้อต่อการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับลดลง (นับตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวลดลงกว่า 35% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2557 อันส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงตาม) ผนวกกับการดูแลการปรับราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ให้เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 6-7 เดือนข้างหน้า เคลื่อนไหวในระดับต่ำใกล้เคียง 1% อย่างต่อเนื่อง (หลังอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน 2557 ชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.26% YoY) แม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าตามแผนในการปรับโครงสร้างพลังงานอย่างต่อเนื่องก็ตาม


?    ท่าทีนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของไทย สอดคล้องกับหลายประเทศในโลกที่เริ่มกลับมาใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ ทั้งนี้ แม้ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งสัญญาณถึงการทยอยปรับการดำเนินนโยบายการเงินไปสู่ระดับปกติมากขึ้น แต่จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ก็ยังแปรผันตามภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อว่าจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าคาดหรือไม่ ขณะที่ ธนาคารกลางหลายๆ แห่งในโลกยังมีแนวโน้มที่จะ ‘คง’ หรือ ‘เพิ่มระดับการผ่อนคลายทางการเงิน’ เพื่อดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง ภายใต้สถานการณ์ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังค่อนข้างอ่อนแอ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ยังคงอยู่ในช่วงการพิจารณาออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจในยูโรโซนเผชิญกับภาวะเงินฝืด โดยมีการคาดการณ์ว่าทาง ECB อาจจะมีการขยายขนาดมาตรการการซื้อสินทรัพย์ในไม่ช้า  ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีการขยายขนาดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QQE) หลังจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลง จากผลของการปรับขึ้นภาษีการบริโภคในช่วงที่ผ่านมา  ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้านเงินกู้/เงินฝากลง เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี หลังการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงต่อเนื่อง และภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงเปราะบางมาก ขณะที่ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ ก็เพิ่งปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกันในเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง   

?    ตลาดการเงินมีการปรับคาดการณ์ถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปบางส่วนแล้ว ทั้งนี้ ตลาดการเงินได้มีคาดการณ์ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุม กนง. วันที่ 17 ธันวาคม 2557 ไปแล้วบางส่วนโดยจะเห็นได้จากเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางที่ปรับลดลงประมาณ 12-30 จุด (Basis Points) เมื่อเทียบกับช่วงการประชุม กนง. ในครั้งก่อน ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2557  สำหรับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทย คงจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ซึ่งหากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้จริง ผนวกกับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่ยังคงอยู่ในระดับค่อนข้างสูงและน่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับกิจกรรมการระดมทุนและการปล่อยสินเชื่อในระยะแรกของปี 2558 ที่คงมีโมเมนตัมที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินไทยจะทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องในจังหวะที่ยาวนานขึ้นตามไปด้วย


บันทึกโดย : วันที่ : 03 ธ.ค. 2557 เวลา : 18:22:22
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:14 am