การตลาด
สกู๊ป "คอนวีเนียนสโตร์" เปิดศึก "ครัวพร้อมทาน"


นับวันการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอนวีเนียนสโตร์ หรือร้านสะดวกซื้อ จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์กลายเป็นธุรกิจค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด เมื่อเทียบกับธุรกิจค้าปลีกประเทศอื่นๆ เห็นได้จากการจำนวนสาขาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกิจกรรมส่งเสริมการขายที่แต่ละค่ายพยามงัดออกมาต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงยอดขาย

กลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการแต่ละค่ายเลือกนำมาใช้ นอกจากการขยายสาขา และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย คือ การเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและบริการให้มีความครบวงจรมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มบริการครัวปรุงอาหาร โดยขณะนี้แต่ละแบรนด์อยู่ระหว่างการทดลองเปิดให้บริการดังกล่าวประมาณ 1-2 สาขา หากได้ผลการตอบรับที่ดีก็จะทำการขยายเพิ่ม

 
 
หนึ่งในผู้ประกอบการที่หันมาทดลองการให้บริการรูปแบบดังกล่าว คือ  ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น  ด้วยการออกมาทดลองเปิดโมเดลปรุงสุกทุกเมนูพร้อมเสิร์ฟ 24 ชั่วโมง ในรูปแบบอาหารตามสั่งภายใต้ชื่อ ออลมีล  ประเดิมสาขาแรกที่ประชาสงเคราะห์ ซอย 23 (ม.หอการค้าไทย) ปัจจัยที่ทำให้เลือกทดลองให้บริการในพื้นที่ดังกล่าว  เพราะเป็นย่านชุมชน  ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการในวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่าได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ 

สำหรับบริการครัว”ปรุงสุกทุกเมนูพร้อมเสิร์ฟ” ออลมีล  ของร้านเซเล่นอีเลฟเว่น  มีให้เลือกหลากหลายเมนูด้วยกันไม่ว่าจะเป็นข้าวผัด อาหารทานเล่น ขนมหวาน หรือสลัด  เช่น   โจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวไข่เจียวหมูสับ เส้นเล็กต้มยำหมู  และข้าวผัดเกรวี่บีบีคิวหมูย่าง  เป็นต้น  ซึ่งในส่วนของราคาขายได้วางเริ่มต้นไว้ที่ 35 บาท และ 45 บาท  นอกจากจะมีเมนูพร้อมปรุงสุกให้เลือกรับประทานแบบหลากหลายแล้ว  ภายในร้านได้จัดมุมสำหรับนั่งกินประมาณ 6-7 ที่นั่ง และจากการสอบถามพนักงานร้านตอบว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากโดยเฉพาะช่วงเวลา 22.00-03.00 น.

 
 
 
นายยุทธศักดิ์  ภูมิสุรกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  การเปิดให้บริการครัวปรุงสุกทุกเมนูพร้อมเสิร์ฟ  ถือเป็นการทดลองคอนเซ็ปต์ใหม่ ๆ ที่มีการพัฒนาและปรับไปตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากเพิ่งทดลองเปิดให้บริการ จึงยังเร็วเกินไปที่จะบอกแนวทางการดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นอย่างไร  และจะมีแผนขยายอีกกี่สาขา

ปัจจุบันร้านเซเว่น อีเลฟเว่นมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ 7,900 สาขา คาดว่าสิ้นปีนี้จะเปิดให้บริการครบ 8,100 สาขาทั่วประเทศ  ซึ่งจากแนวโน้มของยอดขายจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคกลับมาดีขึ้นเรื่อยๆ  ร้านเซเว่นฯ จึงมีแผนที่จะออกมาจัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง  เพื่อผลักดันให้สิ้นปีมีรายได้เติบโตตรงตามเป้าหมายที่ประมาณ  15%

 
 
 
ส่วนน้องใหม่อย่างร้านลอว์สัน 108  ก็ขอออกมาเปิดศึกร้านอาหารตามสั่ง ด้วยการออกมาเปิดตัว เดอะ คิทเช่น ลอว์สัน 108 เปิดมุมรับประทานอาหารพร้อมทาน ปรุงสดภายในร้าน ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย  โดยลูกค้าสามารถเลือกรายการเมนูที่ชื่นชอบ หรือเลือกจับคู่เมนูกับข้าวได้ตามความต้องการ มีทั้งเมนูอาหารไทย ญี่ปุ่น และอิตาเลียน เช่น แซนวิชหมูทอดทงคัตสึ ราคา 39 บาท ราเมง ราคา 39 บาท รวมทั้งเมนูชาชูและไข่ต้ม

นอกจากนี้ยังมีเมนูข้าวเบนโตะ และข้าวปั้นโอนิกิริ ใช้ข้าวญี่ปุ่นที่ปลูกในไทย แบบเดียวกับที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น หรือ เมนูข้าวปั้นแซลม่อนย่าง ราคา 40 บาท นอกจากนี้ยังมีสมูทตี้ น้ำผลไม้ปั่น 3 รสชาติ จำหน่ายในราคา 35 บาท และยังมีมุมรับประทานอาหารในร้าน บางสาขา มีบริการไว-ไฟ ฟรี  ซึ่งหลังจากทดลองเปิดให้บริการ เดอะ คิทเช่น ลอว์สัน 108 มาระยะหนึ่ง  ปัจจุบันมีร้านลอว์สันที่เปิดให้บริการ เดอะ คิทเช่น ลอว์สัน 108  แล้ว  10  สาขา โดยมีสาขาแรกอยู่ที่อาคารเสริมมิตร ถนนอโศกมนตรี ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนพ.ย. ที่ผ่านมา มีสินค้าที่ขายดี 3 อันดับแรก คือ แซนวิชหมูทอด ข้าวหมูทอด และฮอทดอก

นายโคเรอากิ ทามุระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สห ลอว์สัน จำกัด ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ลอว์สัน 108  กล่าวว่า  บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงโอกาสร้านสะดวกซื้อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก ส่วนในไทยพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงโดยคาดหวังในคุณภาพสินค้าที่ดีขึ้นจากการใช้บริการในร้านสะดวกซื้อ จึงเป็นโอกาสของ “ลอว์สัน 108” ที่พร้อมจะนำนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นจุดแข็งของ “ลอว์สัน” พร้อมนำสินค้าใหม่ๆ เข้ามาให้บริการรองรับไลฟ์สไตล์และความต้องการของคนไทย

สำหรับประเทศไทยธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังมีโอกาสเติบโตขึ้นได้อีก 1-1.5 เท่าจากปัจจุบันที่มีร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 12,000-13,000  สาขาจาก 3 แบรนด์หลักคือ “เซเว่นอีเลฟเว่น” 8,000  สาขา  “แฟมิลี่มาร์ท” 1,000  สาขา และ “ลอว์สัน 108” อีก 231 สาขา  ขณะที่มูลค่าค้าปลีกไทยสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มร้านสะดวกซื้อประมาณ 15-16%  ซึ่งในส่วนของร้านลอว์สัน 108  สิ้นปีนี้คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่  2,000  ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่  20%

จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าว   “ลอว์สัน” ในประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้ไทยเป็นฮับทางด้าน R&D ผลิตเมนูอาหารและป้อนวัตถุดิบด้านอาหารให้ “ลอว์สัน” ในประเทศต่างๆ จากการที่ไทยมีศักยภาพความเป็นครัวโลกและการเป็นศูนย์กลางอาเซียนในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่ “ลอว์สัน” เตรียมที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มอีกหลายๆ ประเทศ ทั้งกัมพูชา พม่า และลาว ซึ่งกำลังศึกษาอยู่   หลังจากก่อนหน้านี้ได้เข้ามาขยายสาขาแล้วที่  ฟิลิปปินส์  อินโดนีเซีย และไทย  ซึ่งในส่วนของประเทศไทยคาดว่าอีก 5  ปีข้างหน้าจะขยายสาขาได้ครบ  1,000 สาขา

 
 
 
ด้าน ร้านแฟมิลี่มาร์ท ก็เริ่มเข้ามาทดลองเปิดมุมร้านอาหารตามสั่งภายในร้านแล้วเช่นกัน โดยขณะนี้ได้เริ่มทดลองเปิดให้บริการอาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน 1 สาขาในย่านสุขุมวิท ซึ่งหลังจากทดลองมา 1 เดือนพบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ   แต่คงต้องดูผลการตอบรับไปอีกระยะ  ก่อนที่จะพัฒนาโมเดลดังกล่าว  เพื่อเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ  ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะพัฒนาร้านในโมเดลใหม่นี้ได้ประมาณ 10 สาขา  ภายใต้งบลงทุนเพิ่มจากปกติสาขาละ  3-5 แสนบาท   โดยในส่วนของเมนูอาหารมีให้เลือกกว่า 50-60 รายการ ราคาเริ่มต้นที่ 39-49 บาท

ปัจจุบันร้านแฟมิลี่มาร์ทมียอดขายจากกลุ่มสินค้าอาหารคิดเป็น 13% ของยอดขายรวมทั้งหมด ขณะที่ยอดการใช้จ่ายต่อคนต่อครั้งเพิ่มขึ้น 5% จาก 55 บาท เพิ่มเป็น 58-60 บาท ส่วนทราฟฟิกอยู่ที่ 650 คนต่อวัน ซึ่งสาขาที่ได้รับความนิยมจะอยู่ในย่านแหล่งท่องเที่ยวเป็นหลัก ดังนั้นปีหน้าสาขาใหม่จะเน้นในต่างจังหวัดและแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น

 
 
 
นายณัฐ วงศ์พานิช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด  ผู้ดำเนินธุรกิจร้านแฟมิลี่มาร์ท  กล่าวว่า   ภาพรวมการแข่งขันของธุรกิจร้านสะดวกซื้อหรือคอนวีเนียนสโตร์ในปีปี 2558 คาดว่ายังคงมีการแข่งขันที่รุนแรง  เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาทำตลาดมากขึ้น  ส่งผลให้เป็นค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุด  ซึ่งกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้  เพื่อแข่งขันในปีหน้ายังคงเน้นไปในเรื่องของการบริการ  และเพิ่มรายการกลุ่มอาหารพร้อมทาน 

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของร้านแฟมิลี่มาร์ท  ในปีหน้านั้น  ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้  เนื่องจากอยู่ระหว่างการทำแผน  คาดว่าเร็วๆนี้น่าจะได้ข้อสรุป  ส่วนแผนการดำเนินงานในปีนี้ยอมรับว่าไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการขยายสาขาใหม่ที่ทำได้เพียง 200 สาขา  ลดลงจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ว่าจะขยายสาขาใหม่อยู่ที่ประมาณ 300 สาขา  เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในช่วงครึ่งปีแรก

ปัจจุบันร้านแฟมิลี่มาร์ท มีสาขาเปิดให้บริการอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,000 สาขา  คาดว่าสิ้นปีจะเปิดครบ 1,200 สาขา  ในจำนวนดังกล่าว แบ่งเป็นร้านในรูปแบบโมบาย 3 สาขา  รูปแบบคิออส 3-4 สาขา ส่วนที่เหลือเป็นร้านในรูปแบบสแตนอโลน   อย่างไรก็ดี  จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ร้านแฟมิลี่มาร์ท  มีการปิดสาขาเก่าไปประมาณ 20-30 สาขา  เนื่องจากหมดสัญญาเช่า  และบางสาขาไม่ทำรายได้  ซึ่งจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ส่งผลให้บริษัทต้องปรับเป้าหมายรายได้สิ้นปีนี้ใหม่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาจาก 16,000  ล้านบาท ลดเหลือ 15,000  ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม  หลังจากบริษัทออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง  โดยล่าสุดได้จับมือกับบัตรเดอะ วัน การ์ด ในการร่วมกันทำรอยัลตี้โปรแกรม  ผ่านบัตรเดอะ วัน การ์ด  ภายใต้แนวคิด “เพียงสะสมคะแนน เดอะ วัน การ์ด ก็ได้ กิน ดื่ม ช้อป ฟรี ที่แฟมิลี่มาร์ท” ทุกสาขาตลอด 24 ชั่วโมง  ซึ่งถือเป็นการทำการตลาดตามนโยบายซินเนอร์ยี่  ของธุรกิจในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป  ซึ่งรูปแบบของแคมเปญการตลาดที่ร่วมกับบัตร เดอะ วัน การ์ด ในครั้งนี้  ลูกค้าสามารถใช้บัตรเดอะ วัน การ์ดมาซื้อสินค้าที่ร้านแฟมิลี่มาร์ท  เพื่อสะสมคะแนนได้  โดยทุกการซื้อ 25 บาทลูกค้าจะได้รับ 1 คะแนน  พร้อมกันนี้ยังเปิดให้บริการชำระบิลใหม่ ภายใต้ชื่อ เซ็นเพย์  แบบฟรีค่าธรรมเนียมเป็นครั้งแรกที่ร้านแฟมิลี่มาร์ทกว่า 1,000 สาขา

นายณัฐ กล่าวอีกว่า  หลังจากบริษัทออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายมากขึ้นเป็นระยะเวลา 4 เดือนติดต่อกันคาดว่าจะมียอดขายจากแคมเปญดังกล่าว  600 ล้านบาท  และมีลูกค้าใช้บัตรเดอะ วันการ์ด เพื่อสะสมคะแนนไม่ต่ำกว่า 3  แสนราย จากยอดสมาชิกรวม 5 ล้านราย  ขณะที่สิ้นปีนี้บริษัทมั่นใจว่าจะมีรายได้เติบโตตรงตามเป้าหมายใหม่ที่วางไว้ 15,000  ล้านบาทอย่างแน่นอน

จากแนวโน้มของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว  ประกอบกับผู้บริโภคเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยน่าจะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจคอนวีเนียนสโตร์ในปี 2558  น่าจะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากกว่านี้  โดยเฉพาะการขยายสาขาและการบริการ  ซึ่งตอนนี้แต่ละแบรนด์พยายามปักหมุดทำเลศักยภาพ  เพื่อเปิดสาขาใหม่  ขณะเดียวกันก็พยายามคิดค้นบริการใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้านำมาเปิดตัวให้บริการเพิ่มเติม  เพราะถ้าใครสามารถทำการตลาดได้โดนใจของผู้บริโภคมากที่สุด  ชัยชนะและยอดขายที่จะได้มาใส่กระเป๋าก็เห็นอยู่รำไร  และจะชัดเจนมากขึ้นหากทำสำเร็จ         
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ธ.ค. 2557 เวลา : 01:33:09
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:23 pm