การตลาด
สกู๊ป "คอมมูนิตี้มอลล์" คึก มือใหม่ร่วมศึกชิงแชร์ลูกค้า


นับวันการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบคอมมูนี้มอลล์จะยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าบางโครงการจะไม่ประสบความสำเร็จในการโดดเข้ามาร่วมชิงแชร์ลูกค้าในเขตชุมชน แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการหลายราย ไม่ว่าจะเป็นรายเล็ก รายใหญ่  ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจค้าปลีกอยู่แล้ว หรือธุรกิจใกล้เคียง ต่างก็มองเห็นโอกาสของการเข้ามาทำธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์


ปัจจัยที่ทำให้คอมมูตี้มอลล์ยังคงได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหลายธุรกิจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหลายคนมองโอกาสของธุรกิจเติบโตในระยะยาว เพราะจำนวนรถยนต์ในกรุงเทพฯ นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น การนำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่สะดวก โดยไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางนานๆ เนื่องจากรถติด น่าจะตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี

เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ในแต่ละปีมีผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาทำธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์อย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าหากสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดได้ในตอนนี้ จะทำให้มีฐานลูกค้าเพื่อขยายสาขาต่อไปในอนาคต ซึ่งในอีก 4-5 ปีนับจากนี้มีการคาดการณ์กันว่า ธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ จะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี หลังจากตอนนี้แต่ละรายที่กระโดดเข้ามาชิมลางธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์กำลังลองผิดลองถูก เพื่อให้บริการของตัวเองตรงกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด

 
 
 
นายปิติภัทร บุรี กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ภิรัชบุรี จำกัด ผู้บริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้ใช้เวลาศึกษาและวิจัยตลาดเป็นเวลาประมาณ 2 ปี  วันนี้บริษัทพร้อมแล้วที่จะเปิดตัวโครงการคอมมูนิตีมอลล์  “วันอุดมสุข” ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ  2  ไร่ริมถนนสุขุมวิท ติดสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสอุดมสุข เนื่องจากบริษัทมองเห็นโอกาสของการเข้ามาทำธุรกิจดังกล่าว เพราะปัจจุบันห้างค้าปลีกในย่านอุดมสุขมีน้อยมาก

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ที่ดินผืนดังกล่าว บริษัท ภิรัชบุรี มีแผนที่จะพัฒนาที่ดินในลักษณะเป็นอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น  แต่เนื่องจากมองเห็นว่าการทำคอมมูนิตี้มอลล์มีโอกาสทางธุรกิจที่ดีกว่า จึงได้ใช้งบประมาณ 90 ล้านบาท ในการรีโนเวตอาคารพาณิชย์ 3 ชั้น เป็นคอมมูนิตีมอลล์โครงการแรก โดยในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 8,000 ตร.ม. พื้นที่ที่เหลือพัฒนาเป็นลานจอดรถยนต์ประมาณ 50 คัน

หลังจากเปิดให้บริการมาแล้วประมาณ 1 ปี พบว่าลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากโครงการ “วันอุดมสุข” เป็นคอมมูนิตีมอลล์ที่มีความแตกต่างจากคอมมูนิตีมอลล์อื่นๆ เนื่องจากไม่ได้พัฒนาโครงการบนพื้นที่ขนาดใหญ่และไม่เน้นร้านค้าแบรนด์ดัง แต่จะคัดเลือกร้านค้าและบริการภายในโครงการที่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย หรือ SMEs ให้มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับวิถีการดำรงชีวิตประจำวันของชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมและผสมผสานความเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนโดยรอบพื้นที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจ

ปัจจุบันโครงการ “วันอุดมสุข” มีผู้ประกอบการเข้าร่วมธุรกิจแล้วประมาณ 25 ร้านค้า คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของพื้นที่เต็ม ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ 30 ร้านค้า ตั้งแต่ขนาดพื้นที่ 70-200 ตร.ม. ร้านค้าที่เข้ามาเปิดให้บริการส่วนใหญ่เป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี สถาบันเสริมความงาม สถาบันกวดวิชา สถาบันสุขภาพ ฟิตเนส ร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น

นายปิติภัทร กล่าวต่อว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของโครงการ “วันอุดมสุข” ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนวัยทำงานและผู้พักอาศัยย่านอุดมสุขและบริเวณใกล้เคียงในรัศมีประมาณ 5 กิโลเมตร  ซึ่งเป็นที่ตั้งของคอนโดมิเนียมหลายโครงการ โดยปัจจุบันลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงก่อนและหลังเวลาทำงานของวันจันทร์-ศุกร์ เฉลี่ยวันละประมาณ 4,000-5,000 คน

หลังจาก บริษัท ภิรัชบุรี ออกมาทำกิจกรรมการตลาดมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้ามั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 25 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านบาทในปี 2558  โดยภายใน  6-7  ปีนับจากนี้ คาดว่าจะถึงจุดคุ้มทุน  พร้อมกับพัฒนาโครงการแห่งที่ 2 บนพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ บริเวณฝั่งตรงข้ามโครงการแรก เพื่อให้ธุรกิจมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

อีกหนึ่งรายที่โดดเข้ามาทำธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์อย่างจริงจังในปีนี้ คือ บริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ จำกัด เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงหันมาแตกไลน์ธุรกิจค้าปลีกในรูปแบบต่างๆ ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจโรงแรม  และรูปแบบของธุรกิจค้าปลีกที่ให้ความสนใจ คือ  คอมมูนิตี้มอลล์

 
 
 
นายสุวรรณ เลิศปัญญาโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากบริษัทตัดสินใจประมูลเช่าที่ดินประมาณ  4 ไร่ บริเวณสามย่าน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ก็ตัดสินใจใช้งบลงทุนกว่า 700 ล้านบาท พัฒนาพื้นที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้แบรนด์ แอมพาร์ค จุฬา "I’m Park Chula"  ซึ่งจะมีพื้นที่ค้าปลีกประมาณ 20,000 ตร.ม. เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าในสามย่านและใกล้เคียง รวมไปถึงกลุ่มนิสิตนักศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายในโครงการ นอกจากมีพื้นที่ค้าปลีกในรูปแบบของคอมมูนิตี้มอลล์แล้ว ยังมีพื้นที่ค้าปลีกในส่วนของช้อปปิ้งพลาซ่า ซึ่งรูปแบบของการตกแต่งจะเน้นไปที่ธรรมชาติ ความโปร่ง โล่งสบาย ด้วยสีเขียวครึ้มเป็นสวนใจกลางเมืองซึ่งหลังจากเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งเดือนเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ลูกค้าให้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ

ปัจจุบัน คอมมูนิตี้มอลล์ แอมพาร์ค จุฬา มีร้านค้าเช่ามาพื้นที่ขายสินค้าแล้วประมาณ 95% โดยคิดอัตราค่าเช่าราคา 1,200 บาทต่อเดือนต่อตร.ม.ทั้งในรูปแบบของการเช่าระยะสั้นและการเซ้ง ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในต้นปี  2558 บริษัท แกรนด์ ยูนิแลนด์ มั่นใจว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการอยู่ที่ 3,000 คนต่อวัน  และถึงจุดคุ้มทุนภายใน  5 ปี 
 

 
 
ด้าน นางแก้วใจ เผอิญโชค แม็คโดนัลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สินธรณี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์ จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า บริษัทได้ใช้งบกว่า 800 ล้านบาท พัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ "วิคตอเรียการ์เด้นส์" (Victoria Gardens) บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ริมถนนเพชรเกษม 69 เพื่อรองรับลูกค้าโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก เพราะเชื่อว่ายังมีโอกาสในการทำตลาดไม่โอเวอร์ซัพพลายเหมือนที่หลายคนพูดกัน

ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มบริษัท ไทยรุ่งยูเนี่ยนคาร์  เล็งเห็นโอกาสในการเข้ามาทำธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ บนถนนเพชรเกษม เพราะปัจจุบันบริเวณใกล้เคียงยังไม่มีค้าปลีกในรูปแบบดังกล่าว มีเพียงห้างค้าปลีกเพียง 2 แห่งเปิดให้บริการ นั่นก็คือ ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค และศูนย์การค้าซีคอน บางแค ทั้งที่ย่านนี้มีกำลังซื้อสูงมาก

อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเข้ามาทำธุรกิจค้าปลีก คือ ย่านถนนเพชรเกษม มีจำนวนประชากรพักอาศัยอยู่หนาแน่นในรัศมี 5 กิโลเมตรมีมากกว่า 340,000 คน มีจำนวนรถวิ่งผ่านหน้าโครงการมากกว่า 100,000 คันต่อวัน โดยกำลังซื้อจากกลุ่มเจ้าของธุรกิจเอสเอ็มอีและเจ้าของโรงงานมีมากกว่า 500 ธุรกิจ กำลังซื้อจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษามีมากถึง 70,000 คน ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ คาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเดือนละ 100,000 คน  ถึงจุดคุ้มทุนภายใน 5-7 ปี

การออกมาทำธุรกิจคอมมูนิตี้มอลล์ของแต่ละผู้ประกอบการ นอกจากจะทำให้ธุรกิจค้าปลีกมีความคึกคักแล้ว ยังทำให้ชุมชนมีความคึกคักตามไปด้วย แต่คอมมูนิตี้มอลล์แบรนด์ไหนจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คงต้องขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ที่จะนำมาเสนอกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย หากสินค้าดี บริการตรงใจ ลูกค้าก็พร้อมที่จะมอบใจควักเงินออกจากกระเป๋ามาจับจ่ายซื้อสินค้าที่ตัวเองต้องการอย่างแน่นอน

บันทึกโดย : วันที่ : 22 ธ.ค. 2557 เวลา : 15:22:28
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 6:25 pm