เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"โฆสิต" ชี้ กนง.ลดดอกเบี้ยแค่สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเท่านั้น ช่วยกระตุ้นศก.ได้ไม่มาก เหตุคนยังมีหนี้สินสูง จับจ่ายใช้สอยได้ไม่มาก


บิ๊กแบงก์กรุงเทพชี้ กนง.ลดดอกเบี้ย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มาก แค่สร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้น เพราะคนยังมีหนี้สินสูง จับจ่ายใช้สอยได้ไม่มาก ฟันธงลดดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบสุดท้าย 

 

 

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า  มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.0% เหลือ1.75  เข้าใจว่าอยากจะช่วยเพิ่มบรรยากาศทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ภาคธุรกิจและประชาชน มีการลงทุนและใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น แต่ดอกเบี้ยที่ลดลงก็อาจเป็นสัญญาณที่ทำให้สินภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และอาจจะทำให้เกิดการเก็งกำไรในสินทรัพย์ในภาวะดอกเบี้ยต่ำได้


"ส่วนตัวมองว่าการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ว่าจะทางใด จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น และไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง เพราะการไหลเข้าออกของเงินทุน อัตราดอกเบี้ย เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแลให้เงินบาทช่วยให้ไทยแข่งขันได้ ส่วนธนาคารกรุงเทพจะปรับลดตามตอนไหนคงต้องรอหารือกันก่อน "นายโฆสิตกล่าว
       
 
 
 
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง.ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายสำหรับเศรษฐกิจ แต่การลดดอกเบี้ยลงเพียงช่วยสร้างบรรยากาศทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นเท่านั้น แต่จะไม่ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนให้ดีขึ้น เพราะภาคครัวเรือน ยังมีปัญหาหนี้สินสูงคิด 85 %ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขณะที่รายได้ประชาชนในต่างจังหวัดยังไม่ดีขึ้นจากปัญหาราคาสินค้าเกษตรยังตกต่ำ ส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนยังไม่ดีขึ้น
       
ส่วนทิศทางการปล่อยสินเชื่อเมื่อมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลง  ยังเพียงแค่ช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้ลูกหนี้เท่านั้น แต่ธนาคารพาณิชย์ยังคงเข้มงวดในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อเช่นเดิม

"อัตราดอกเบี้ยไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ธปท.อาจจะต้องหาทางดูแลเศรษฐกิจด้านอื่นประกอบด้วย และภาคเอกชนยังรอความชัดเจนโครงการลงทุนภาครัฐเท่านั้น หากภาครัฐสามารถเดินหน้าโครงการลงทุนภาครัฐได้ ก็จะเกิดกระแสการลงทุนของภาคเอกชนตามมาในช่วงครึ่งปีหลัง"นายกอบศักดิ์กล่าว
       
นายกอบศักดิ์กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ช่วยให้เงินบาทอ่อนค่าลง เนื่องจากเงินบาทแข็งค่าจากความไม่สมดุลเกิดขึ้นจากราคาน้ำมันถูกลง ไทยใช้เงินบาทซื้อน้อยลง ทำให้เงินบาทแข็งค่า ทั้งนี้ แต่ละปีไทยใช้เงินบาทมากถึงประมาณ 700,000 ล้านบาท ซื้อน้ำมัน แต่ผลจากการที่ราคาน้ำมันลดลงประเทศไทยใช้เงินบาทน้อยลง แต่ไทยต้องหาทางใช้โอกาสจากเงินที่มีมากขึ้นหลังราคาน้ำมันลงมาใช้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด

LastUpdate 12/03/2558 08:08:11 โดย : Admin
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 4:19 pm